“เพียงพอ พอตัว พอดี” คาถา ”หม่อมอุ๋ย”

กระทรวงการคลังที่ถือเป็นหัวใจหลักในการควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมี ”ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

จากคำแถลงเรื่องยุทธศาสตร์การจัดสรรและวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ของม.ร.ว.ปรีดิยาธร ย้ำชัดว่า

“แนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2550 จะยึดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของคน การใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงาน และการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ควบคู่กับการบริหารจัดการการใช้จ่ายภาครัฐบนหลักของความโปร่งใส เป็นธรรม และประหยัด และประสิทธิภาพ โดยเน้นความสมดุลทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ผลของยุทธศาสตร์นี้ จึงทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ขาดดุล 1 แสนล้านบาท

จากคำแถลงของรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ระบุถึงการยึดหลัก ”เศรษฐกิจพอเพีย” อย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่การพอเพียงแบบสุดโต่อย่างที่หลายคนกลัว เพราะอย่างน้อยในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วที่ 1.552 ล้านล้านบาท นั้นจัดทำแบบขาดดุล เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ ต่างจากที่หลายคนเข้าใจว่า ”พอเพียง” คือใช้จ่ายเฉพาะเท่าที่มีเงินอยู่เท่านั้น

คำให้สัมภาษณ์ของม.ร.ว.ปรีดิยาธรในวาระต่างๆ ระหว่างที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารงาน โดยเฉพาะการหวั่นเกรงว่าอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับปี 2540 ที่มีการลงทุนเกินตัว โดยไม่ให้ความสำคัญกับความพอเพียง จนเงินออมที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ต้องอาศัยเงินทุนจากต่างชาติจำนวนมหาศาล เมื่อมีการดึงเม็ดเงินเหล่านั้นกลับก็ทำให้

ขึ้นดอกเบี้ย “หนี้บัตรเครดิต”

นโยบายของกระทรวงการคลังที่เห็นได้ชัดเจน กับการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความ ”พอเพียง” ก็คือ มาตรการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยค้างชำระหนี้บัตรเครดิต เพดานสูงสุดที่ 18 เป็น 20% เพื่อให้คนที่ถือบัตรเครดิตเกิดการยับยั้งชั่งใจในการใช้บัตร ซึ่งประการหนึ่งของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ควรก่อหนี้โดยไม่มีประโยชน์ หรือต่อยอดรายได้ของตัวเอง

ปรับลดหวยบนดิน

การปรับลดรางวัลแจ็กพอต ของหวยบนดินเหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงการได้มาของทรัพย์สินเงินทอง ควรมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่าการใช้ ”ความเพียร”

คำยืนยันของม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็คือว่า “กระทรวงการคลังจะดำเนินนโยบายการเงินการคลังในช่วง 1 ปีที่เข้ามาบริหารงาน โดยยึดกรอบนโยบายเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพราะถือเป็นปรัชญาที่ครอบคลุมมากกว่าทฤษฎี ซึ่งมีทั้งความเพียงพอ พอตัว และพอดี จึงต้องการสนับสนุนให้ประชาชนรายย่อย เมื่อสร้างหนี้ก็ต้องคำนึงถึงรายได้ของตัวเอง

หนี้สาธารณะไม่เกิน 50%

นโยบายมหภาคต้องคำนึงถึงสัดส่วนเงินออมในประเทศมากกว่าการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมากเกินไป ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ไม่เกิน 50% ของจีดีพี และการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ก็ไม่เกิน 15% ของวงเงินงบประมาณ นับว่าสอดคล้องกับรายได้รัฐบาล และขณะนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ประมาณ 41-42% ของจีดีพี

Profile

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เกิดเมื่อ 15 กรกฎาคม 2490 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมดีมาก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท MBA (International Business), Wharton School, มหาวิทยาลัยเพลซิลเวเนีย เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก หรือ EXIM BANK และล่าสุดเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง