ถอดรหัส ”เศรษฐกิจพอเพียง”

“เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ?”
“ผลิตเพื่อส่งออกจะขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ?”
“ทำไม ? ภาคการเกษตรได้รับความสนใจในเรื่องการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้มากกว่าสาขาการผลิตอื่นๆ”
“เศรษฐกิจพอเพียง ขัดต่อหลักการทางธุรกิจที่เน้นการหากำไรหรือไม่”
“ใช้ชีวิตอย่างไรให้พอเพียง ?”
“ต้องประหยัด ห้ามใช้เงิน หรือเปล่า ?”…

ส่วนหนึ่งในคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ และจะมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ เพราะ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยทั้ง 60 ล้านคน

จากหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะให้เป็นแนวทางในการพัฒนา และบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก

การเดินทางของปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถูกนำไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ส่วนใหญ่จะใช้ในภาคเกษตรกรรม ผ่านโครงการราชดำริกว่า 3,000 โครงการ โดยมีทฤษฎีใหม่ เป็นแนวคิดในการดำเนินงาน และให้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี

จนเมื่อนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พัฒนาประเทศที่เน้นการเติบโตเศรษฐกิจ ทุนนิยมสุดขั้ว กระตุ้นการบริโภค โดยวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี กระตุ้นการลงทุน กระตุ้นการบริโภค จนคนไทยเคยชินกับการเอื้ออาทร
นโยบายเหล่านี้ นอกจากไม่เห็นผลแล้ว ยังทำให้คนไทยต้องตกที่นั่งลำบากกับปัญหาหนี้สิน การคอรัปชั่น ประเทศจมดิ่งสู่วิกฤต ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนกระแสไม่เอาทักษิณมากขึ้นเรื่อยๆ

…แล้วเมืองไทยก็มาถึงจุดเปลี่ยน

รัฐบาลภายหลังการปฏิรูปการปกครอง ที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ามาปกครองประเทศ และประกาศ นำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศ และยังบรรจุอยู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 10

เป็นนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณอย่างสุดขั้ว

นโยบายนี้ ยึดหลักการเดินสายกลาง ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงการใช้ชีวิตของคนไทย ที่ต้องยึดหลักความพอเพียง

รูปธรรมแรก คือ การประกาศนโยบายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ขาดดุล 1 แสนล้านบาท การขึ้นดอกเบี้ย “หนี้บัตรเครดิต” และหนี้สาธารณะไม่เกิน 50%

นั่นหมายความว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่ใช่อุดมคติที่ไปไม่ถึง หรือเป็นไปไม่ได้ในโลกาภิวัตน์

ความสุขของคนไทย และประเทศไทย กำลังถูกพิสูจน์ว่า ชีวิต และธุรกิจที่ไม่ต้องเน้นตัวเลขผลกำไรเติบโตทางเศรษฐกิจแบบสุดกู่ เน้นความ “พอเพียง” ก็มีความสุขได้

การซื้อรถเบนซ์ ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือซื้อบ้านราคา 30 ล้านบาท จะเป็นการปฏิเสธทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่

เรามีคำตอบ…