ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ใส่เกียร์ ติดเบรก

หนุ่มนักบริหารผู้นี้ เขาเปรียบตัวเองว่า ครั้งหนึ่งเขาเหมือนรถแข่ง ติดเครื่องเหยียบคันเร่ง มีแต่ความเร็ว แรง แต่มีเบรกที่ห่วยมาก วันนี้หนุ่มยี่ห้อรถยุโรปคนนี้ กำลังค้นพบ “รถยนต์ในฝัน” เป็นรถยนต์แห่งชีวิตที่มีคันเร่งชั้นดี และเบรกชั้นยอด รถยนต์คันใหม่ของเขาเป็นเช่นไร…ลองติดตาม

1.
วันนี้ของดร.วิทย์ สิทธิเวคิน หรือที่ใครๆ หลายเรียกเขาว่า “วิทย์ บีเอ็ม” ดูเปลี่ยนแปลงไป เหมือนหนัง Season Change สังเกตได้จากจิตใจเขาดูนิ่งสงบ มีภาษาธรรมะหลุดจากปากเขาออกเป็นระยะ ระหว่างที่ POSITIONING สัมภาษณ์

ที่ผ่านมาคนที่รู้จัก “ดร.วิทย์” จะเห็นภาพว่าเขาเป็นคนร่างเริง ช่างคิด ช่างพูด ยิ่งเขาบอกว่า จิตใจเขาเหมือน “ไฟ” ลุกโชน ร้อนรนตลอด เป็นคนคิดมาก ว้าวุ่น เหมือน “รถที่มีคันเร่งดี แต่เบรกห่วยมาก” แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อสองสามเดือนมานี้ ภรรยาไปทำข่าวที่สวนโมก เขาหยิบหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสมาให้

“เป็นหนังสือธรรมะเล่มแรกที่ผมอ่านและตกผลึกไปในความคิดว่า ที่ผ่านมาผมโง่มาก แท้จริงนั้นหากมนุษย์มีแต่ความฉลาด ความสามารถ แต่ไร้สติในการควบคุมจิตใจตัวเอง ย่อมเป็นผลร้ายมากกว่าดี ผมควบคุมคนอื่นได้แต่ตัวเองควบคุมไม่ได้ เหมือนเรามีรถที่ดี ต้องมีเบรกที่ดีด้วย”

คำพูดที่ดร.วิทย์ พยายามอธิบายอย่างจริงจัง เหมือนแสงสว่างที่ดร.วิทย์ค้นพบ และพยายามสื่อสารให้เห็นความสว่างครั้งนี้ด้วยกัน
“ผมกำลังจะบวช” ในเร็วนี้ๆ บวชประมาณ 1 เดือน เป็นความสุขที่ดร.วิทย์ บอกว่า เขาดีใจที่สุดในชีวิตที่ค้นพบแก่นแท้ของการดำรงชีวิต บวชแล้วกลับมาทำงานใหม่ เหมือนยกเครื่องชีวิตใหม่

ธรรมะกับชีวิต เป็นเรื่องราวใหม่ที่ดร.วิทย์กำลังแสวงหา ไม่ใช่เพราะมีเคราะห์ หรือทุกข์ใจอะไรมากมาย แต่เขาได้ซึมซับและเรียนรู้ว่า นี่คือยาชูกำลัง และวิธีปฏิบัติที่ทำให้จิตใจได้เติบโตขึ้นอย่างยอดเยี่ยมที่สุด

เขา บอกว่า ตั้งแต่เขาฝึกสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ ความฟุ้งซ่าน อารมณ์ที่เหนือสติ ค่อยๆ จางหายไป เหมือนเป็นรถคันใหม่ที่มีเบรกชั้นเยี่ยม และการควบคุมรถเป็นไปได้อย่างมีสติ

2.
หากย้อนกลับไป ในฤดูกาลที่ผ่านมา ดร.วิทย์ บอกว่า จุดเปลี่ยนชีวิตของเขา เกิดขึ้นตอนบินไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เขาเคยคิดเสมอว่า เขาเก่งและแน่เสมอ ในความเป็นนักศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เมื่อเขาสอบตก ทำให้เขาเรียนรู้ว่า เราไม่ได้เก่ง แต่ความพยายามและขยันต่างหากที่ทำให้เราต้องผูกยึดกับสิ่งนี้ให้ได้

ความคิดของเด็กหนุ่ม เริ่มเปลี่ยน เขาเรียนรู้และขยับขยายการศึกษาจนคว้าปริญญาโทมาได้ 2 ใบ และคว้าปริญญาเอก ด้านรัฐศาสตร์ มาได้ในช่วงอายุ 29 ปีเท่านั้น

อาจด้วยโชคชะตา ชีวิตครั้งหนึ่งที่เคยหวังไว้อยากเป็นนายอำเภอ ก็แปรเปลี่ยนไปตามโอกาส ดร.วิทย์เข้ามาทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวทางช่องเนชั่น แชนแนล ทำรายการที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจ ต้องสัมภาษณ์ผู้บริหารต่างชาติ ที่นี่ที่ทำให้เขารู้จักกับผู้บริหารบีเอ็มดับเบิลยู และได้เข้ามาทำงานที่นี่

ดร.วิทย์ ยอมรับว่าก้าวแรกของบีเอ็ม เขาแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่เขาได้รับวางใจจากผู้บริหารว่า สิ่งนั้นไม่สำคัญเท่ากับการกระตือรือร้น อยากรู้เรียนรู้ การได้รับวางใจในการให้โอกาส เป็นจุดที่เขาค้นพบความจริง และเป็นบันไดในความพยายาม ทำหน้าที่ในการทำงานอย่างจริงจัง ทั้งการสังเกต การลองผิดลองถูก

3.
การทำงานกับบริษัทต่างชาติ “เหมือนปล่อยเราลงน้ำและเราต้องว่ายเองให้ได้ ” ดร.วิทย์ ค้นพบว่า การทำงานในเมืองไทย Know how สำคัญแล้ว Know who สำคัญกว่า

Know who ในความหมายของดร.วิทย์คือ การปฏิบัติกับคนที่อยู่ตรงหน้าเราอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ให้เกียรติเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่กระทั่งแม่บ้าน คนทำความสะอาด ต้องทำให้เขารู้สึกดีกับเรา ให้เป็นคนพิเศษเสมอ

ใช่, ใครที่เคยเจอดร.วิทย์ มักจะกล่าวชมเขาว่า เป็นคนมีจิตวิทยาสูง ให้เกียรติทุกคน เป็นนักประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงจิตใจคน และเก่งฉกาจคนหนึ่ง

ดร.วิทย์ บอกว่า หน้าที่ฝ่ายการสื่อสารกิจการองค์กรของเขา คือ การพบปะผู้คน ทำให้เขาต้องปะทะอารมณ์หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการแก้ไขสถานการณ์ ต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก หากเจอปัญหาเฉพาะหน้า

สิ่งสำคัญในการทำงาน คือ ต้องยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นด้วย อย่าง สื่อมวลชนนำรถบีเอ็มไปเทสต์แล้วบอกว่าจุดนั้นไม่ดี ต้องรับฟัง ไม่ใช่จะมาตำหนิติเตียนไม่ได้ ดร.วิทย์ ใช้คำว่า ทุกคนเป็น “กัลยาณมิตร” ถึงเวลาทำงานจะปะทะกันบ้างไม่เป็นไร แต่นอกเวลางานเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

“ทุกคนมีข้อดี ข้อเสีย เราเองก็มี ดังนั้นเราต้องเข้าใจในข้อเสียของเขา และหวังว่าเขาจะมองข้ามในข้อเสียของเราด้วย”

วันนี้ ดร.วิทย์ มีภาระมากขึ้น ในภาระหน้าที่ในการสื่อสารและการพัฒนาองค์กรของบีเอ็มดับเบิลยู ทำทั้งมาร์เก็ตติ้ง วางแผนผลิตภัณฑ์
“ตอนนี้ผมมีทีมงานประมาณ 8 คน ผมเน้นมอบหมายงานตามจุดเด่นที่ทุกคนถนัด เน้นความสัมพันธ์ในทีมงานเป็นหัวใจหลัก”

โจทย์ของดร.วิทย์ คือ ทำอย่างไรให้ทีมงานไม่รู้สึกอึดอัด คนไหนมีไอเดียอยากทำอะไร ต้องฟังและช่วยให้เขาทำตามความเหมาะสมให้ได้ ถ้าล้มเหลว เขาบอกว่า ในฐานะหัวหน้าต้องเป็นคนแรกที่ต้องแสดงความเห็นใจว่า “ไม่เป็นไร” เริ่มต้นใหม่

ทั้งหลาย ทั้งปวง เขาเรียกว่า การทำงาน หรือการใช้ชีวิต ควรมี “ศิลปะแห่งความสุข” ในการปฏิบัติ หมายถึง เห็นอกเห็นใจ ให้เกียรติคนทุกระดับ ดั่ง “มุทิตาจิต”

4.
ทุกวันนี้ ในความเป็น “ดร.วิทย์” เขายังทำงานหนัก ระหว่างการนั่งสนทนากับใครจะเห็นโทรศัพท์มือถือของเขาดังขึ้นตลอด เขาบอกว่าวันนี้หน้าที่ของเรามากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น เพื่อสร้างแบรนด์บีเอ็มให้ก้าวต่อไปเรื่อยๆ

ดร.วิทย์ ยังรักองค์กรแห่งนี้มาก เพราะเขาบอกว่า ได้สอนเขาทุกอย่างทั้ง และสร้างให้เขาเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมมากขึ้นด้วย

คติของผม คือ เป็นคนที่ไม่มีคำตอบสุดท้าย ไม่หยุดนิ่งในการเปิดมุมมองใหม่ๆ แต่ละช่วงจะมีความคิดและความสนใจต่างกัน ดังนั้นถ้าจะถามผมว่าชอบอะไร สนใจอะไร ผมบอกว่าแต่ช่วงแต่ละฤดูกาล ย่อมแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ผมสนใจอยู่ในขณะนี้และพบว่า คือ แก่นแท้ของชีวิตนั่นคือหลัก “ธรรมะ”

ฤดูกาลในอดีตถึงวันนี้ของดร.วิทย์ จึงเป็นไดอารี่ที่น่าศึกษาและหยิบอ่านมากที่สุดคนหนึ่ง…

คติในการทำงาน ไม่มีคำว่า “คำตอบสุดท้าย”

Profile

Name : ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
Age : 36 ปี
Education :
พ.ศ. 2538 – 2542 ระดับปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัย Southampton
พ.ศ. 2536 – 2537 ระดับปริญญาโท สาขา Industrial Relations and Personal Management จาก London School of Economics
พ.ศ. 2535 – 2537 ระดับปริญญาโท สาขา Political Theory จาก London School of Economics
2534 – 2541 ระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights :
พ.ศ. 2543 – ปัจจุบัน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย)จำกัด
พ.ศ. 2542 – 2543 ผู้ประกาศข่าวช่องเนชั่น แชนแนล เครือเนชั่น
ความสามารถทางภาษา
พูดได้ถึง 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน อิตาเลียน และจีน
Lifestyle :
– ภาพยนตร์ – ชอบดูหนังจีนทุกแนว มีเรื่องในดวงใจคือ “เจ้าพ่อตลาดหุ้น” และ “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด”
– เพลง – ชอบเพลงจีนมากเป็นพิเศษ โหลดเพลงจีนไว้ในโทรศัพท์มือถือไว้ถึง 30 เพลง
– หนังสือ – ได้ทุกแนว ช่วงนี้ชอบอ่านหนังสือธรรมะ และแนวประวัติศาสตร์ ส่วนเล่มที่อ่านแบบเอาเป็นเอาตายสมัยก่อนหน้านี้คือ หนังสือสามก๊ก
– รถยนต์ – ขับรถบีเอ็ม ซีรี่ส์ 5
– วันว่าง – ชอบอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน แวะร้านหนังสือเป็นประจำ ไม่ค่อยชอบไปไหน เพราะงานประจำเดินทางบ่อย
– แบรนด์ในใจ – Samsung เขาใช้ทั้ง MP3 โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ทีวี ด้วยเหตุผลที่ว่า แบรนด์นี้มีเรื่องราวการต่อสู้ที่เอาชนะแบรนด์ญี่ปุ่นได้