ชาติพ้นวิกฤตด้วย “พระบารมี”

14 ตุลาคม 2516

“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค ที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วัน ที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและการเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวด และยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกัน และได้มีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย

ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืน สภาพปกติเร็วที่สุด

อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจรได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวานนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดิน โดยมี ประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุข ความรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศ และประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ณ หอสมุด สวนจิตรลดา และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ยังทรงเสด็จออกเยี่ยมนักศึกษา และประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้

ข้อมูล และภาพบางส่วนจากเว็บไซต์มูลนิธิ 14 ตุลา ที่บริหารงานอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 (www.14tula.com) และจากเว็บไซต์คณะกรรมการจัดงานครบรอบ 30 ปี 14 ตุลาคม (www.14tula.in.th)

“พฤษภาทมิฬ“

การเมืองไทยเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง เมื่อคณะนายทหาร ที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นแกนนำในการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

เมื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ซึ่งลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นนั่งเป็นนายกรัฐมนตรี จากที่เคยปฏิเสธการสืบทอดอำนาจ แต่ด้วยเหตุผล ”เสียสัตย์เพื่อชาติ” ก่อให้เกิดความไม่พอใจกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย นำโดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ถูกข้อหา ”พาคนไปตาย” จากเหตุการณ์ตึงเครียดจนนำไปสู่การนองเลือด

วันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เวลา 23.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง เข้าเผ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยในกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติและสั่งสอนบุคคลทั้งสอง ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่างๆ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมา

นับเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความชัดเจนอีกครั้งถึง ”พระบารมี” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการยุติปัญหาของประเทศชาติ โดยมิต้องอาศัยกำลัง และอาวุธใดๆ

ปฏิวัติ 2549

การรัฐประหารล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นำโดยกลุ่มคณะปฏิรูปการปกครองเพื่อประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ ตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาล ”ทักษิณ”

ชาวไทยยังเชื่อมั่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าจะทรงเป็นที่ยึดใหม่ให้คณะปฏิรูปคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนตามที่ได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งหมดเป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย โดยอาศัยพระบารมีของพระองค์