Blog มาแรง

ที่สหรัฐฯ บริษัทมอเตอร์ไซค์ Vespa จ้างพนักงาน 2 คน สร้าง เขียน และดูแล blog ให้กับคนรัก Vespa นับแสนเข้ามาอ่านและพูดคุยสร้างชุมชนกันและมีหน้าใหม่ๆ มาสมทบให้ใหญ่ขึ้นทุกวัน

บริษัทรถเช่า Budget จัดเกม “Treasure Hunt” วางป้ายบริการไปใน 16 เมือง แล้วประกาศให้ใครก็ได้ถ่ายวิดีโอตัวเองเดินทางตามหาป้ายไว้ แล้วนำมาทำคลิปขึ้นบล็อกแบบ VDO Blog ถ้าใครเจอรับไปเลย 1 หมื่นดอลลาร์ สัปดาห์ละ 1 ป้าย รวม 16 สัปดาห์ ทำให้มีคลิปเดินทางหลากเมืองขึ้นเว็บมากมาย สร้างความฮือฮาเป็น Talk of the town ทั้งอเมริกาได้โดยไม่ต้องออกโทรทัศน์

CEO ของบริษัทนับร้อยรายที่ติดอันดับ Fortune 500 ต่างก็มีบล็อกส่วนตัวไว้บอกเล่าเรื่องของบริษัทและสินค้า กับรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย

ในไทย แบรนด์ผ้าอนามัยดังอย่างลอริเอะก็เปิด Lauriermybrand.comมาเป็นเว็บให้บริการระบบบล็อกให้สาวๆ เข้าไปคุยกันเรื่องความงาม สุขอนามัย และไลฟ์สไตล์เพื่อสร้างแบรนด์ลอริเอะให้เป็นเสมือนเพื่อนในชีวิตประจำวันของสาวไทย

นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของ Marketing Blog ในหลากทางเลือกที่เป็นไปได้ ซึ่งเหล่ากูรูทางการตลาดรุ่นใหม่แทบทุกคนจับตาว่าปี 2550 นี้จะมาดังในไทยอย่างแน่นอน…

จากไดอารี่ออนไลน์สู่งานธุรกิจ…

ยุคนี้บล็อกไม่ได้เป็นแค่ไดอารี่ส่วนตัวอีกต่อไป แต่กลายเป็นวิธีทำงานของตั้งแต่นักเขียน สื่อสารมวลชน นักการตลาด ไปจนถึงบริษัทธุรกิจหลากหลาย ด้วยรูปแบบของการทำได้ง่ายๆ จัดเลย์เอาต์ ใส่รูป ทำโลโก้ ส่วนการจัดเก็บเนื้อหา จัดแบ่งหมวดหมู่ ประจำวัน ทั้งหมดนี้ทำได้โดยไม่ต้องมีความรู้การทำเว็บแม้แต่น้อย

“เก่ง” กติกา สายเสนีย์ เป็น IT Director หนุ่มวัย 32 ของบริษัท Mode2 บริษัทรับทำเว็บครบวงจรจากประเทศญี่ปุ่นที่มาเทกโอเวอร์บริษัท Hostify ของเก่งไปหมาดๆ เก่งเป็นเจ้าของ keng.com บล็อกที่สอนทำบล็อก และสอนบริหารจัดการบล็อกให้มีศักยภาพดึงดูดทั้งผู้อ่านและรายได้จากการโฆษณาวิธีต่างๆ รวมถึงรายงานข่าวเทรนด์ใหม่ๆ ในวงการบล็อกเสมอ

เก่ง ได้ยินคำว่าบล็อกครั้งแรกคือเมื่อปี 2001 จากความดังของเว็บ blogger ที่ต่อมาก็ถูก google ซื้อไป

เก่ง เริ่มเขียนบล็อกในปีนั้น เมื่อเริ่มงานทำเว็บที่แกรมมี่ใหม่ๆ และการได้พบประสานงานกับเหล่าดารานักร้อง ทำให้มีแฟนๆ ประจำอยู่กลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อเก่งย้ายงานและศึกษาเรื่อง blog มากขึ้นๆ เว็บเขาก็ค่อยๆ กลายเป็นศูนย์รวมความรู้บล็อกในไทยไปอย่างเต็มตัว

ในระยะแรกๆ บริษัทด้านไอทีใช้บล็อกเป็นแหล่งให้ความรู้ แต่ต่อมาก็แพร่ไปถึงบริษัททุกวงการ ซึ่งเก่งบอกว่าในไทยยังไม่มีใครใช้บล็อกเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างจริงจัง แต่ปี 2550 น่าจะได้เห็นแน่นอน ใช้ในแง่ของสื่อประชาสัมพันธ์ (PR) พร้อมรับความคิดเห็น Feedback จากลูกค้าและสังคมไปพร้อมๆ กัน

ง่าย เร็ว เป็นกันเอง

เก่งย้ำว่า Positioning ที่เป็นเอกลักษณ์ของบล็อกมาแต่แรก และจะเป็นตลอดไปนั้น มี 3 อย่าง คือความง่าย, ความ “สด เร็ว”, และความ “เป็นกันเอง”

ความเร็ว ความสด ก็มาจากความง่ายนั่นเอง เก่งยกตัวอย่างฟุตบอลต่างประเทศ หรือมหกรรมกีฬาต่างๆ ที่มีบล็อกเกิดขึ้นรองรับมากมาย ไปนั่งดูที่สนามแล้วพิมพ์ๆ ส่งรูป ขึ้นเว็บได้ทันที ลักษณะนี้เก่งบอกว่าเป็น “Event Blog” ที่นิยมกันมาก

ความ “เป็นกันเอง” ระหว่างผู้เขียนผู้อ่าน ที่เมืองนอกเว็บจึงเริ่มถูกใช้ทางการตลาดจากการที่ CEO บริษัทหรือผู้บริหารการตลาดจะเขียนบล็อกด้วยสำนวนสบายๆ ชวนผู้อ่านคุยเรื่องสินค้า บริการ หน้าร้าน และอื่นๆ จนได้รับฟังและเข้าใจลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายโดยตรงแบบไม่ต้องรอรายงานหรือผลวิจัยเท่านั้น

Blog แหล่งแชร์ความรู้…

สำนักตรวจสอบบัญชี เป็นอีกธุรกิจที่เปิดบล็อกพูดคุยความรู้และแทคนิคการทำการตรวจสอบบัญชี จนมีเหล่านักบัญชีมาพูดคุยกันไม่น้อย สร้างแบรนด์ความเป็นผู้รู้ได้เหมาะกับประเภทธุรกิจอีกเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญกราฟิกดีไซน์บางคน ก็โชว์งานและบอกเล่าเทคนิคไว้เป็น blog จนสามารถทำยอดผู้เข้าชมได้ถึงวันละหมื่นราย ทำรายได้จากระบบโฆษณาที่สมัครกับ Google Adsense ได้คิดเป็นเงินไทยถึงเดือนละราว 7 หมื่นบาท

นอกจากการใช้งานทางธุรกิจหลากไอเดีย ผู้ที่สนใจบล็อกว่าให้ไปหาเว็บบล็อกหรือไดอารี่ออนไลน์สักแห่ง จะไทยหรือนอกก็ได้ แล้วเริ่มเขียนทันที ไม่ต้องสนใจว่าจะมีสาระไหม ขอให้เขียนเรื่องของตัวเองหรือเรื่องที่น่าสนใจออกมา แล้วนานๆ ไปก็จะเริ่มหาแนวทางพบ และมีเพื่อนๆ มีกลุ่มผู้อ่านของตัวเองได้ในที่สุด หลังจากนั้นจะไปหารายได้จากโฆษณา หรือจะไปต่อยอดทำอะไรก็แล้วแต่

Flog (Fake Blog) เทรนด์แรงการตลาด

“สตาร์บัคส์ เพิ่งเปิด starbucksgossip.typepad.com มาเป็นบล็อกที่พูดคุยสบายๆ สไตล์กอสสิปถึงเรื่องราวประสบการณ์จากร้านสตาร์บัคส์ โดยทำเหมือนว่าสร้างและเขียนโดยคนทั่วๆ ไปไม่ใช่บริษัท หรืออย่างเกม Playstation ของ Sony ตัวโซนี่เองก็เปิดบล็อก playstation-blog.net และอีกหลายแห่ง โดยทำตัวเป็นคอเกมทั่วไป ไม่ใช่ในนามบริษัท”

ทั้งคู่เป็นตัวอย่างของสื่อการตลาดแบบใหม่ ที่เรียกว่าบล็อกเทียม หรือ Fake Blog ที่ อรรถวุฒิ ทองยืน Assistant Director หนุ่มวัย 29 ปีของบริษัท Artware Media ในเครือ SC Matchbox ที่ดูแลสื่ออินเทอร์เน็ต บอก

เหตุที่ต้องทำเป็น “บล็อกเทียม” แทนที่จะเป็นในนามบริษัทนั้น ก็เพราะมีการศึกษาวิจัยแล้วว่า คำชมคำติสินค้าบริการอะไรก็ตาม หากมาจากคนทั่วๆ ไปไม่ใช่เจ้าของสินค้าแล้ว จะได้รับความเชื่อถือกว่ากันมากมาย เรียกกันในวงการว่าเป็นอาวุธการตลาดแบบ WOM (Word Of Mouths)

WOM นั้นนอกจากในบล็อกแล้วยังรวมไปถึงตามเว็บบอร์ดด้วย เพราะถือว่าเป็น Social Networking บนเน็ตเช่นเดียวกัน เช่นเว็บบอร์ดรถ เว็บบอร์ดเลือกซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม เป็นต้น ที่เจ้าของสินค้าและบริษัทโฆษณาสมัยใหม่จะจัดทีมเข้าไปเขียนโปรโมตและแก้ข่าวลบของตัวเองอยู่ (อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง “Viral Marketing”)

แต่ในเรื่องนี้ David Aakers ปรมาจารย์ด้านการสร้างแบรนด์ ได้เตือนไว้ในการสัมมนาที่จุฬาฯเมื่อหลายเดือนก่อนว่า การทำ WOM นั้น ให้ฉีกตำราการเขียนคำโฆษณาแบบเดิมๆ ทิ้งให้หมด ข้อความสำนวนและเนื้อหาทั้งหมดต้องดูไม่เป็นโฆษณาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ให้ดูเหมือนคนทั่วไปคุยกัน จึงจะได้รับความเชื่อถือสูงสุด