3 ปัจจัยเสี่ยงฉุด Momentum

แม้จะเสียศูนย์กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จากการให้ยาแรงในมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้แข็งค่าจนกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ภาคธุรกิจก็ต้องฟังความคิดเห็นทิศทางเศรษฐกิจของไทย จาก “ธาริษา วัฒนเกส” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายด้านการเงินของประเทศ

ในมุมมองของผู้ว่าการแบงก์ชาติ มองเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2007 จะปรับตัวดีขึ้น ด้วยจีดีพีที่ 4.5-5.5% เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มลดลง การขาดดุลการคลังภาครัฐในปีงบประมาณ 2007 ที่ 1 แสนล้านบาท การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้รัฐบาลสามารถผ่านร่างงบประมาณได้เร็วขึ้น ทำให้ความล่าช้าด้านงบประมาณที่เดิมคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 9 เดือน ลดเหลือเพียง 3 เดือน โดยรัฐบาลจะสามารถใช้จ่ายตามร่างงบประมาณใหม่ได้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2007 และความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง ขณะเดียวกันยังมาจากนโยบายทางการเงินในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มนิ่ง รวมทั้งเงินเฟ้อเริ่มนิ่ง ที่คาดว่าปี 2007-2008 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.5-2.5%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงมี 3 ประเด็น คือ ราคาน้ำมันโลก แม้ช่วงปลายปี 2006 จะอยู่ที่ประมาณ 56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจริง ทั้งจากประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย รวมทั้งจากการที่เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกหลายประเทศได้กลับมาขยายตัวรอบใหม่ นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันส่วนที่เหลืออยู่ในปัจจุบันของกลุ่มโอเปกนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกคงจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และยังมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก

ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการใช้จ่ายในประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ที่ถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีตัวขับเคลื่อนจากการลงทุนในภาครัฐและเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากภาคการส่งออกอาจไม่ใช่ส่วนหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะสามารถขยายตัวได้ดี หลังจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว

“ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไปจึงอยู่ที่การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับความชัดเจนของโครงการลงทุนพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐ และการสร้างเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน”

สำหรับนโยบายของแบงก์ชาติ ด้านนโยบายการเงินมุ่งความสำคัญไปที่การรักษาเสถียรภาพของระดับราคา เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพ โดยคาดว่าปี 2007-2008 เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.5-2.5% ส่วนอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ 5% ตั้งแต่ปลายปี 2006 ยังคงเหมาะสมทั้งในแง่การดูแลเงินเฟ้อ และเอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับปัจจัยที่แบงก์ชาติให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด คือการแข็งค่าของเงินบาท ที่ผ่านมาค่าเงินบาทซึ่งก็ได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจาการอ่อนตัวลงของเงินสกุลดอลลาร์เทียบกับเงินสกุลต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และจากการที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทยหลังจากเกิดความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น

“โดยหลักของเราคือการระวังไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากจนเกินไปในแต่ละวัน ขณะเดียวกัน ก็ให้ค่าเงินในแต่ละช่วงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกลไกของตลาด ตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามถึงผลกระทบของการแข็งขึ้นของค่าเงินบาทต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนผลกระทบต่อภาคส่งออกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้แนะนำให้ผู้ส่งออกและนำเข้าทำ Hedging ไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทั้งต่อผู้ประกอบการและต่อประเทศโดยรวม”

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเจอกับประเด็นท้าทายอื่นๆ เช่น ความท้าทายของเศรษฐกิจเอเชียยุคใหม่ จากทั้งประเทศจีนและอินเดีย การเจรจาเอฟทีเอ และการเปิดเสรีภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

ผู้ว่าแบงก์ชาติปิดท้ายว่าปี 2007 เศรษฐกิจไทยน่าจะมี Momentum ในเกณฑ์ดี และน่าจะสามารถขยายตัวในช่วงต่อไปได้อย่างดี โดยไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ แต่ที่ต้องการย้ำคือการทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตในช่วงสั้นๆ และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้นไม่เพียงพอ จะต้องคิดถึงกรอบการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยเชื่อว่าการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากแก้ว คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ความพอเพียง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ตามกรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะช่วยดูแลปัญหาต่างๆ และจะช่วยวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างมั่งคง ยั่งยืน อย่างแท้จริง

จีดีพีโตเกือบ 5%

คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ (หน่วย : เปอร์เซ็นต์)
——————————————————————————————- —
ประเทศ ปี 2549 ปี 2550 ค่าเฉลี่ย (Consensus)
ปี 2549 ปี 2550
———————————————————————————————-
โลก 5.1 4.9 5.1 4.9
อเมริกา 3.3-3.5 1.8-3.2 3.4 2.6
ญี่ปุ่น 2.6-3.2 1.6-3.0 2.8 2.2
จีน 9.8-11.0 8.2-9.8 10.4 9.1
ยุโรป 2.4-2.8 1.4-2.5 2.6 1.9
ออสเตรเลีย 2.4-3.2 2.5-4.6 2.8 3.3
ไทย 4.5-5.0 4.5-5.5 – –
———————————————————————————————-
ที่มา : IMF, Consensus Forecast, Asia Pacific Consensus Forecast, ธนาคารแห่งประเทศไทย

การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ที่สำคัญของโลกที่วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย หรือจีดีพี ในปี 2550 ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่มีแนวโน้มชะลอตัวจากปี 2549 และมีช่วงการคาดการณ์ที่กว้างมาก สะท้อนถึงความไม่แน่นอนในหลายๆ ปัจจัย สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าสำคัญ ด้วยมูลค่า 14.4% ของการส่งออกไทย ไปยังสหรัฐอเมริกา หากภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาไม่ดีขึ้น จากปัจจุบันมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว จากภาคอสังหาริมทรัพย์ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง จะกระทบต่อจีดีพีของไทย

เงินบาทแข็งขึ้น

คาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
——————————————————————————————————–
หน่วยงานที่คาดการณ์ ไตรมาส 4/2006 ไตรมาส 2/2007 ไตรมาส 4/2007
——————————————————————————————————-
HSBC 36.50 36.00 35.50
BNP Paribas 37.00 36.30 35.70
Merrill Lynch 38.70 38.90 36.30
ABN AMRO 36.60 37.00 36.50
Citigroup 37.50 36.50 36.80
Bank of America 38.50 38.50 37.80
Standard Chartered 36.00 37.50 38.30
Deutsche Chartered 38.00 38.80 39.50
ธนาคารไทยพาณิชย์ 36.00 37.00 37.50
—————————————————————————————————-
ที่มา : จากการรวบรวมของธนาคารไทยพาณิชย์

ในระยะสั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่อยู่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปี 2006 เนื่องจากปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาว และการปรับตัวของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนแบบค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงครึ่งปีหลังเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เพราะแนวโน้มการส่งออกชะลอตัว, การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย, ปริมาณเงินทุนไหลเข้าไทยมีมูลค่าต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ดอกเบี้ยลง
——————————————————————————————————-
รายการ อัตรา ณ เดือนพฤศจิกายน 2006 คาดการณ์ ณ สิ้นปี 2550
——————————————————————————————————
Fed Fund Rate 5.25% 4.50%
R/P14 วัน 5.00% 4.50%
อัตราเงินฝากประจำ3 เดือน (ต่ำสุด) 3.50% 3.00%-4.00%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR 7.75% 7.25%-8.25%
—————————————————————————————————
ที่มา : ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (R/P14 วัน) อย่างน้อย .50% และจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่า และการลงทุนของภาครัฐ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น ส่วนระยะยาว ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากที่รัฐบาลออกพันธบัตรมาชดเชยการขาดดุล และโครงการลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่อาจมีการระดมทุนผ่านตราสารระยะยาวมากขึ้น ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อาจทรงตัว แต่ก็อาจปรับเพิ่มขึ้น หากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง