บันเทิง+ การเงิน+ พันธมิตร = สูตรธุรกิจ

แนวโน้มของปี 2550 สำหรับ ชาลอต โทณวณิก บิ๊กบอสแห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยา และซีอีโอบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด ได้กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มใหม่ในภาคธุรกิจธนาคาร และบันเทิง ไว้อย่างน่าสนใจ

“ปี 49 เราเผชิญกับภาวะน้ำมันที่เป็นปัจจัยลบ ทำให้ผู้ประกอบการตั้งรับไม่ทัน แต่สำหรับปี 50 เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายรายมีการตั้งรับปัจจัยในด้านนี้อย่างดีแล้ว ในส่วนของการเงินการธนาคาร เรื่องดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะทรงตัวหรือลดลง ค่าเงินบาทก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่ไม่กระทบต่อธุรกิจการเงินแน่นอนโดยรวมแล้วน่าจะมีทิศทางที่ดีเพราะการเมืองก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น”

มันมี่ ผสม ฟันนี่

“มีแนวโน้มว่าหลายแบรนด์เริ่มขยับเอาไลฟ์สไตล์ความบันเทิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำตลาดการเงิน ในอนาคตจะเทรนด์นี้ขยับขยายมากขึ้นกว่าเดิม” ชาลอตชี้ถึงแนวโน้ม

อย่างกรณีของแบงก์กรุงศรีฯ ยังยึดสไตล์เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์แบงกิ้งเหมือนเดิม เพราะเป็นไลฟ์สไตล์ที่สามารถต่อยอดไปได้อีกไกล และอยู่ในงบประมาณที่น้อยกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วย ตลอดจน Connection ของแบงก์กรุงศรีฯ นับว่าแข็งแรงมาก เป็นภาพลักษณ์ที่แบงก์กรุงศรีวางโพสิชันนิ่งเด่นชัดว่าจะใช้ธุรกิจบันเทิงเป็นจุดทำตลาด

ดังนั้น สูตรผสมระหว่างตลาดแบงก์กับบันเทิง น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่แบงก์ไทยจำนวนมากอาจหันมาใช้กลยุทธ์นี้มากขึ้น

ยุค “หาเพื่อนสนิท” ทางธุรกิจ

สำหรับธุรกิจผลิตสื่อนั้น ชาลอตมองว่าคุณภาพหรือรูปแบบรายการจะถูกกำหนดโดยโฆษณา ซึ่งยังเป็นปัจจัยหลักของคนทำสื่อ

“การเติบโตของโฆษณาไม่รู้ว่าจะโตถึง4-5%หรือไม่ คิดว่าเม็ดเงินในโฆษณาคงจะถูกจำกัดอยู่พอสมควร แต่คนชอบพูดกันว่าเม็ดเงินจะมากองอยู่ในสถานีช่องหลักๆ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้จะมีช่องที่แข็งแกร่งจริงๆ เพียงไม่กี่ช่อง”

ดังนั้นการแข่งขันในปีหน้าฟ้าใหม่จะยิ่งเข้มข้น เพราะเม็ดเงินมีจำนวนจำกัดแต่มีผู้ผลิตหลายราย

“ทางออกของธุรกิจบันเทิงคือต้องหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งมาช่วยเสริม เพราะในส่วนของมีเดีย ออฟ มีเดียส์เองที่ได้เบอร์หนึ่งอย่างช่อง 7 ก็ทำให้การขายโฆษณาไม่เหนื่อยมากนักในและในด้านของรายการหลักๆ ที่ได้พาร์ตเนอร์อย่างเวิร์คพอยท์เป็นการช่วยเสริมกันไปอีก”

อีกทั้งยังคาดการณ์ธุรกิจสื่อปีนี้ว่ายังไปได้สวย เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีอย่างไรผู้บริโภคยังต้องการความบันเทิงอยู่ ในขณะที่ตัวเอเยนซี่เองก็ยังคงทุ่มงบประมาณกับสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่น