สุดยอดการตลาดโดนใจ

ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง

การตลาดแบบโดนใจที่น่าจับตาในปีนี้ ต้องยกให้ “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง” เพราะเป็นการตลาดที่จับจุดความรู้สึก ที่มีทั้งความเชื่อมั่น การยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จนเกิดการต่อยอดผลิตสินค้า บริการออกมาตอบสนองความต้องการ และประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย

กรณีศึกษาที่โดดเด่นมากที่สุด ต้องยกให้ “ปรากฏการณ์สีเหลือง” เพราะคนไทยศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพร้อมใจกันซื้อสินค้าสีเหลือง ทั้งเสื้อยืด สายรัดข้อมือ หรือของที่ระลึกอื่นๆ ที่เจ้าของสินค้าอิงกระแสแข่งกันผลิตออกมาสู่ตลาดจำหน่ายให้แก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ที่ปรึกษาด้านสื่อสารการตลาด อดีตบอสใหญ่เอ็มดีเค ให้ทัศนะว่า ปีที่ผ่านมา กรณีศึกษาของในหลวงกับปรากฏการณ์เสื้อเหลืองเป็นกรณีที่เด่นชัดที่สุดของศรัทธามาร์เก็ตติ้ง เพราะพระองค์ท่านคือแบรนด์ของประเทศที่สุดยอดของโลก แตกต่างจากผู้นำประเทศ และทำให้คนไทยกว่า 30 ล้านคนพร้อมใจกันสวมเสื้อหลวง เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน

เขาเชื่อว่าในปีนี้ ศรัทธามาร์เก็ตติ้งแบบสีเหลืองฟีเวอร์ยังคงครองความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปีที่ในหลวงครบรอบ 80 ชันษา ภาครัฐ เอกชน ก็กำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่องไม่แพ้ปีที่ผ่านมา

หากวิเคราะห์จุดเด่นศรัทธามาร์เก็ตติ้ง นอกจากเป็นการตลาดที่สร้างอารมณ์ร่วมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็วระหว่างสินค้ากับกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่านบุคคลที่ได้รับยอมรับอย่างมากเป็นตัวกลางแล้ว ดนัยบอกว่า ผู้บริโภคประเภทนี้จะมีความเชื่อมั่น ตามใจ และพร้อมเลียนแบบทุกอย่างแก่บุคคล ดังนั้น หากมีสินค้าหรือบริการใดออกมาก็สามารถตัดสินใจซื้อได้ง่าย ไม่ต้องมีเหตุผลมากมาย เพราะใจยอมรับอยู่ก่อนแล้ว

ในแง่จุดอ่อนที่พึงระวังสำหรับกลยุทธ์นี้ หากเป็นบุคคลเป็นผู้บริหารองค์กรไม่อยู่ (ลาออก) สินค้า บริการอาจพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะคนซื้อสินค้ายึดติดกับคนมากกว่าตัวสินค้า

ขอเป็นคนดีด้วยคน
การตลาดคนดี หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ยังคงเป็นกลยุทธ์ต่อเนื่องปีนี้ ไม่ต้องแปลกใจอะไรเพราะต้นแบบแห่งความสำเร็จชั้นเซียนอย่างสตาร์บัคส์ และแมคโดนัลด์ ทำให้หลายองค์กรต้องออกกระบวนยุทธ์นี้บ้าง

Happiness Trend
“กลยุทธ์การสร้างให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่าเป็น “ผู้ให้” จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ “ได้กลับคืน” จากการทำตลาดในปี 2007 เพราะกระแส Happiness มาแรง นี้คือเทรนด์ที่มาแรง ตามที่ “ภูสิต เพ็ญศิริ” Executive Vice President บริษัทนาโน เซิร์ซ ในฐานะบริษัทวิจัย และที่ปรึกษาทางการตลาด บอกเล่า โดยพิจารณาจากเทรนด์ไลฟ์สไตล์ในปี 2007 ที่แบ่งได้เป็น 4 เทรนด์ ตามวัยและรูปแบบความสนใจของผู้บริโภค

Social Trend
เทรนด์การตลาดที่มาแรงอีกตัว ต้องยกให้กับ Social Trend เทรนด์นี้ได้พัฒนาจากกลุ่มที่เคยมีอายุมากกว่า 50 ปี มาอยู่ในช่วง 30 ปี เป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องความสุข (Happiness) ที่เกิดจากการ “ให้” กลยุทธ์การตลาดที่นำมาใช้ได้ผล คือการใช้สูตรที่เรียกว่า Value is the King คือการเติมคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการนั้นๆ เช่น การบอกว่าทำเพื่อสังคม ซื้อของชิ้นนี้แล้ว เงินส่วนหนึ่งนำไปช่วยการกุศล เป็นต้น เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าไม่เพียงแต่ใช้สินค้าเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยคนอื่นอีกด้วย ซึ่งการช่วยคือการสร้างความสุข

เทรนด์นี้ต้องยอมรับว่ามกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน เจ้าชายจิกมี มีส่วนทำให้เกิดกระแสในเมืองไทยอย่างมาก ในเรื่องการใช้ “ความสุข” เป็นดัชนีชี้วัดความเจริญของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าชายจิกมีขึ้นครองราชย์แล้ว จะมีข่าวปรากฏในเมืองไทยต่อเนื่อง

ปี 2007 จะได้เห็นนโยบายการทำตลาดของหลายๆ บริษัทจะเน้น Happiness Policy มีการทำ CSR เพื่อค้นหา “ความสุข” ที่ลูกค้าพึงพอใจ มีการใช้เครื่องมือทางการตลาดที่เข้าถึงความรู้สึกของลูกค้ามากขึ้น (Emotional Approach)

Sex Approach Trend
ส่วนอีก 3 เทรนด์ที่ยังคงใช้ได้ผลคือ Sex Approach Trend อยู่ในกลุ่มนักศึกษาเรียนใกล้จบ เริ่มทำงาน เป็นกลุ่มที่ความหวือหวาสามารถดึงดูดความสนใจได้ มีเรื่องความเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายเกี่ยวข้อง เช่น การนำเสนอผ่านโฆษณาสินค้าที่ผู้หญิงใช้แล้ว มีชายหนุ่มให้ความสนใจผู้หญิงคนนั้นๆ

Self Trend
เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่สนใจเรื่องราวตื่นเต้น และมีความหลากหลาย ซึ่งการทำตลาดในกลุ่มนี้หากทำวิจัยหาข้อมูลไลฟ์สไตล์ได้ถูก และทำได้โดนใจ ก็จะประสบความสำเร็จอย่างมาก

Secret Trend
เทรนด์นี้อยู่ในความสนใจของทุกกลุ่ม เพราะเกี่ยวข้องกับการได้รู้ความลับ หรือความลึกในข้อมูลต่างๆ ที่เห็นนำมาใช้มาก เช่น พ็อกเกตบุ๊กแฉเรื่องความรัก หรือการเปิดเผยความลับเรื่องความงาม รวมไปถึงในธุรกิจบันเทิง