ช้อปเพชรดีกว่าฝากแบงก์

“ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะศูนย์การค้า จะใช้แต่เพียงอีเวนต์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะงานๆ หนึ่งใช้เม็ดเงินไม่น้อย และหลายงานเริ่มแสดงให้เห็นว่าหมดมุก ไม่มีธีมแปลกใหม่ ทำให้ลูกค้ารู้สึกเบื่อ จำเจ และหมดอารมณ์”

ในฐานะเป็นหนึ่งในคีย์สำคัญที่ทำให้วงการค้าปลีกมีสีสันจากกลยุทธ์การตลาด เกรียงศักดิ์ ตันติภิภพ ผู้บริหารอาวุโสสายการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด แสดงความคิดเห็น และคาดการณ์ถึงทิศทางการแข่งขันของศูนย์การค้าเมืองไทย ว่า

“ปี 2550 จะเป็นปีที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาน้ำมันปรับตัวคงที่ ไม่แปรผัน รวมไปถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่ายิ่งขึ้นในรอบ 9 ปี และน่าจะแข็งขึ้นอีกในปี 2550 ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ใช้สินค้าในราคาที่ถูกลง นับเป็นผลดีต่อจิตวิทยาผู้บริโภค นอกจากนี้ ความเข้าที่เข้าทางของการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิด้วยมาตรฐานและขนาด ทำให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลให้ความเชื่อมั่นในเรื่องการลงทุนเมกะโปรเจกต์ ทำให้ภาคธุรกิจได้อานิสงส์”

“ไม่ซื้อเพชรตอนนี้ ก็ไม่รู้จะซื้อตอนไหนแล้ว ตอนนี้เหมาะสุดซื้อในอัตรา 1 ดอลลาร์ ต่อ 36 บาท เป็นผลดีกับผู้บริโภคอย่างมาก”

ในส่วนของสยามพารากอน จากการ Positioning เป็น World Class Shopping Destination เชื่อมั่นว่า การชูจุดขายเรื่องความใหญ่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถ้าใหญ่แต่ไม่มีอะไรเลยก็ไม่สำคัญ (กระทบคู่แข่งอีกรายแบบตรงๆ แม้ไม่เอ่ยชื่อก็เป็นที่รู้กัน) แต่การเป็น Prime Location ที่เป็นศูนย์กลางและรายรอบไปด้วยภาคธุรกิจและพื้นที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกัน เขาบอกว่า ผู้บริโภคนิยมเลือกเดินศูนย์การค้าที่มี Variety of Brand หากชื่นชอบสินค้าเพชร นาฬิกา ก็จะนิยมเลือกดูจากแต่ละช็อปภายในศูนย์การค้าเดียวกัน ตามทำนอง One-Stop-Shopping อีกทั้งการมีร้านค้า Flagship หรือ The One&Only จะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึง Traffic เข้ามา เพราะไปหาซื้อที่อื่นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อมั่นว่าศูนย์การค้าต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานในเรื่องของแบรนด์เป็นสำคัญ หากแบรนด์มีความแข็งแกร่งแล้ว ย่อมทำให้องค์รวมคือตัวศูนย์การค้ายืนหยัดได้อย่างมั่นคง เขายกความแข็งแกร่งของสยามพารากอน และดิเอ็มโพเรียม เป็นตัวอย่าง

เขาคาดการณ์ถึงสถาการณ์การแข่งขันของศูนย์การค้าในปีหมูทองที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา

“การแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกปี ซึ่งจะมาแข่งกันด้วยการจัดงานอย่างเดียวไม่ได้ เป็นเรื่องยาก เพราะการจัดงานแต่ละครั้งใช้งบประมาณสูง และรูปแบบเริ่มตัน คนที่จัดงานหวังยอดขาย ภาพลักษณ์ แต่บางครั้งมันไม่ไปด้วยกัน แต่อีเวนต์ก็ยังเป็นอาวุธสำคัญของศูนย์การค้า เพียงแต่จะจัดการอย่างไรให้ตอบโจทย์และแตกต่าง”

…“แค่คิดถึงงานที่รออยู่ทั้งปี 2550 แล้ว อยากจะพักร้อนแต่ต้นปีเลย (หัวเราะ) เพราะยังมีอีเวนต์เข้ามาติดต่อเยอะมาก แต่เราก็ต้องสกรีนให้ดี และน่าจะมีอีเวนต์ไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา”….

พันธมิตรต้องแข็งแกร่ง

“ลำพังเจ้าของศูนย์ฯ เพียงรายเดียวไม่สามารถทำศูนย์ฯให้สำเร็จได้ การแสวงหาพันธมิตรจะยังคงเป็นแนวทางที่ดำเนินต่อไปเช่นเคยเหมือนทุกปี แต่จะต้องเน้นการเป็น Strategic Partner ที่แข็งแกร่ง ต้องปรับตัวเพิ่มเติมโดยไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะช่องทางเข้าออกศูนย์ฯ เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าออก”

มีนาคม ปีหน้าสยามพารากอนจะเปิดทางเข้าออกด้านถนนเพชรบุรี นอกจากนี้ ปัจจัยเสริมของคอนโดมิเนียมรอบเส้นรถไฟฟ้าที่จะแล้วเสร็จกว่า 20,000 ยูนิต จะทำให้คนเข้ามาอยู่ใน Downtown มากขึ้น นั่นหมายถึงตัวเลขจากการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากการเดินทางที่สะดวกสบายจะเพิ่มมากขึ้น

“เพื่อความแปลกใหม่ศูนย์การค้าจะต้องมี Innovative Marketing มากขึ้น ต้องมี Value Added มี Value Creation และการ Synergy ระหว่างศูนย์การค้าในเครือจะมีมากขึ้น และที่สำคัญจะต้องมี Segmentation Oriented และก้าวไปสู่การทำ CRM แบบ One-to-One Marketing เพราะคนเราทุกวันนี้อยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้น เราจะมี Personal Stylist ที่ช่วยกลั่นกรอง เลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมกับลูกค้า เพื่อให้ชีวิตสะดวกขึ้น”

ระวังอารมณ์สะดุด

ส่วนปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วง เกรียงศักดิ์บอกว่า คืออารมณ์ของผู้บริโภค เพราะเงินเดือน รายได้ไม่ลดลง “จะมีแต่อารมณ์เท่านั้นที่ขึ้นๆ ลงๆ ต้องสร้างอารมณ์ให้เขามีอารมณ์ดี ช้อปปิ้งแล้วมีความสุข”

นอกจากนี้ เขายังวิเคราะห์เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคอีกว่า จะนิยมสินค้าประเภท Lifestyle มากขึ้น และคนรุ่นใหม่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้น เป็นการให้รางวัลกับชีวิต

“คนนิยมซื้อเพชร ซื้อนาฬิกา เพื่อเป็นเครื่องประดับและสะสม ดีกว่าฝากแบงก์”