"แครอทหารัก" : พระเอกใหม่ไซเบอร์ของ Malee

จะทำการตลาดผ่านเว็บทุกวันนี้ แค่จดชื่อเว็บไซต์ ใส่ๆ ข้อมูล แล้วแปะแบนเนอร์โฆษณาที่เว็บอื่นเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว ! เอเยนซี่โฆษณาสมัยนี้ต่างก็จับตามองพฤติกรรมคนเล่นเน็ตโดยเฉพาะวัยรุ่น เช่นการชอบส่งต่อเกมสนุก คำคมๆ ดูภาพสวยๆ น่ารักๆ หรือภาพหลุดคนดัง กันทางอีเมล การแชตหาเพื่อนใหม่ แลกกันดูกล้อง ทำบล็อกอ่านบล็อก ฯลฯ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับงานโฆษณาและการตลาดเพื่อให้ใกล้ตัวกลุ่มเป้าหมายที่สุด

ล่าสุดแบรนด์น้ำผลไม้ Malee ก็ Rebranding โดยเปลี่ยนทั้งในส่วนของภาพลักษณ์และกลุ่มเป้าหมาย ขยายฐานมาจับ Target ที่เด็กลง ที่นอกจากจะใช้สื่อหลักเดิมๆ แล้ว ยังกล้าทดลองสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต โดยส่วนนี้มอบหมายให้บริษัท Artware Media ซึ่งเป็นเอเยนซี่ด้านโฆษณาบนเน็ตโดยตรง เป็นผู้สร้างสรรค์และดูแลโปรเจกต์

การคิดงานนั้น ทางทีมงาน Artware Media โดย อรรถวุฒิ ทองยืน Digital Media Director ของบริษัทเล่าว่า เริ่มจากแบรนด์คอนเซ็ปต์ใหม่ในสโลแกน “แค่ชื่อก็เชื่อว่าดี” โดยไม่ได้ทำเป็นเว็บไซต์ธรรมดา แต่ทำเป็นแอนิเมชั่นน่ารักๆ ให้คนดูแล้วซาบซึ้งประทับใจหวังให้ส่งต่อๆ กัน เป็นลักษณะของการโปรโมตแบบ “Viral Mail” ที่กำลังมาแรงบนอินเทอร์เน็ตวันนี้

จากนั้นจึงวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายหลัก (Target Audience) คือกลุ่มเด็กวัยรุ่นเล่นอินเทอร์เน็ตกันมากและชอบอะไรน่ารักๆ และนิยมการแชตหาเพื่อนใหม่ จึงคิดเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมเหล่านี้ซึ่งใกล้ตัวเด็กวัยรุ่นไทยกลุ่มเป้าหมายของมาลี

ในที่สุดจึงออกมาเป็นแอนิเมชั่นลักษณะ Story Telling เรื่อง “แครอทตามหารักแท้” เรื่องของแครอท ตัวหนึ่งที่นัดบอดกับผลไม้ชนิดต่างๆ แต่ก็ยังไม่เจอใครที่ถูกใจ จนสุดท้ายมาเจอ “มาลี” ในห้องแชตบนเว็บ แค่เห็นชื่อ “มาลี” เท่านั้น เจ้าแครอทก็ปิ๊ง ตกหลุมรัก และสุดท้ายก็แต่งงานกัน

และด้วยความน่ารักมีคาแร็กเตอร์ของตัวการ์ตูน ตอนจบจึงมีให้ผู้เล่นดาวน์โหลดตัว Emoticon ไปใช้บอกอารมณ์ระหว่างพูดคุยบน MSN Messenger ได้ด้วย ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่นิยมกันอยู่ เช่นปัจจุบันมีรูปตัว Onion (หัวหอม), เพนกวิน และลิง จากเดิมที่มีแค่หน้ากลมสีเหลือง โดยตัวแครอทหารักนี้ Artware วางเป้าให้คนดาวน์โหลด Emoticon ไปเล่นบน MSN Messenger นั้นวางเป้าไว้ที่ 5 หมื่นคน

“แครอทตามหารักแท้” ถูกยิงโปรโมตตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม โดยเริ่มจากทีมงาน Artware ได้ซื้อรายชื่ออีเมลกลุ่มเป้าหมาย หรือ Potential Database มา 2 แสนชื่อในราคาชื่อละ 50 สตางค์จากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งทุกชื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของเมลแล้วว่ายินดีที่จะรับข่าวสารต่างๆ มิฉะนั้นก็จะเข้าข่ายเป็น Spam Mail ไปรบกวน จะกระเทือนเสียถึงภาพลักษณ์แบรนด์ได้

ทีมงานวางเป้าหมายให้ผู้ได้รับ Viral Mail ราว 1 ใน 10 หรือ 2 หมื่นคน ส่ง Forward ต่อไปให้เพื่อน ซึ่งหากเกิดขึ้นหลายๆ ทอดต่อไปแล้ว ในที่สุดจะมีมีคนได้รับ Viral Mail ตัวนี้ราว 1 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติมาตรฐานในวงการ (ดู Did you know? ประกอบ)

งาน “แครอทตามหารักแท้” ชิ้นนี้เข้ารอบสุดท้ายงาน B.A.D Awards ครั้งล่าสุดคู่กับงานคลิป “มดดำตบกับแอร์” ของอารียา โดยต่างก็เบียดเอาชนะงานอื่นๆ มานับสิบ เข้ารอบเพียงสองงานเท่านั้น ในหมวดโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต แต่คณะกรรมการไม่ให้รางวัลชนะเลิศกับใครแต่อย่างใด ซึ่งอรรถวุฒิคอมเมนต์สั้นๆ กับ POSITIONING ว่า “กรรมการปีนี้หินมาก”

Did You Know ?

จากสถิติการส่ง Viral Mail ทั่วไปที่เป็นการแนะนำสิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่การโฆษณาอย่างชัดเจน พบว่าผู้ได้รับ 1 ใน 10 จะส่ง Forward ต่อไปให้เพื่อน ซึ่งหากเกิดขึ้นหลายๆ ทอดต่อไปแล้ว ในที่สุดจะมีคนได้รับ Viral Mail ตัวนี้ราว 5 เท่าของรายชื่อที่ส่งไปทั้งหมดตอนแรก