“แก๊งน้ำหมาก” ทุ่มไม่อั้น

แฟนคลับเหล่านักล่าฝัน AF แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ1.กลุ่มที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และ2.กลุ่มเด็กวัยรุ่น และวัยทำงาน

อายุมาก ก็ทุ่มมาก

กลุ่มแฟนคลับที่มีอายุมาก เฉลี่ยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีอาชีพการงานที่มั่นคง ตั้งแต่ หมอ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ และข้าราชการเกษียณอายุ มีอยู่ประมาณ 30% ส่วนใหญ่มีเวลาว่าง และที่บ้านเป็นสมาชิกเคเบิลทีวียูบีซี มีฐานะเพียงพอที่จะร่วมกิจกรรมต่างๆ กลุ่มนี้จะทุ่มเทเต็มที่ในการโหวตผ่านโทรศัพท์มือถือให้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ มีการจ่ายเงินซื้อบัตรเติมเงินเพื่อโหวตเอง และแจกแฟนคลับเดียวกันช่วยโหวตตั้งแต่เดือนละหลักพันจนถึงหลักหมื่นบาท ไปเชียร์ติดขอบเวที และสนับสนุนอุปกรณ์การเชียร์ศิลปิน เมื่อออกจากบ้านแล้วกลุ่มนี้ถือเป็นกำลังหลักให้ศิลปินมีชื่อเสียงต่อเนื่อง เพราะส่วนใหญ่จะยอมซื้อตั๋วเพื่อดูคอนเสิร์ต ซื้อแพ็กเกจทัวร์ต่างประเทศเพื่อร่วมเดินทางกับศิลปินที่ชื่นชอบ กลุ่มนี้ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. แก๊งน้ำหมาก – ศิลปินบางคนมีแฟนคลับกลุ่มนี้จำนวนมาก โดยเฉพะตุ้ย AF3 อ๊อฟ AF2 และบอย AF 2 บางคนอายุถึง 65-70 ปี เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง“แก๊งน้ำหมาก” ถูกเรียกจากแฟนคลับที่มีอายุน้อยกว่า ส่วนตัวศิลปินก็เรียกแฟนคลับกลุ่มนี้ว่า “แม่” ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง “แม่ยก”

แก๊งนี้จะมีลักษณะการทุ่มเทสูง และไม่อั้นเพื่อสนับสนุนศิลปิน เช่น การมอบสร้อยทอง การเสนอดาวน์รถยนต์ให้ การร่วมประมูลของรักของศิลปิน AF อย่างแฟนคลับบอย AF3 คุณเร ที่ชนะประมูลสร้อยของบอยในมูลค่าเกือบ 8,000 บาท จากราคาเริ่มต้นที่ 100 กว่าบาท เพราะแฟนคลับของแต่ละคนจะพยายามเสนอราคาประมูลให้สูงมาก เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ

2. กลุ่มแม่ ๆ – เป็นแฟนคลับที่มีอายุมากเช่นกัน แต่ไม่ได้มีลักษณะการทุ่มเงิน หรือสิ่งของมากเท่าแก๊งน้ำหมาก แต่มีลักษณะให้ความช่วยเหลือกิจกรรมของแฟนคลับที่ดำเนินการโดยแฟนคลับที่อายุน้อยกว่า จึงถูกเรียกว่า “แม่ ๆ” และตัวศิลปินเองก็จะเรียกกลุ่มนี้ว่า “แม่” เช่นกัน เพราะส่วนใหญ่จะติดตามลูกหลานมาดูคอนเสิร์ต และมีอายุมากพอๆ กับแม่ของตัวศิลปินเอง

วัยใส ทุ่มด้วยใจ

สำหรับแฟนคลับอีกกลุ่มหนึ่ง มีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คือ “กลุ่มสาววัยใส” เป็นแฟนคลับวัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท เป็นแฟนคลับที่รวมตัวกันคอยติดตามไปเชียร์และให้กำลังใจศิลปินของตัวเอง เช่น บอย AF2 อาจไม่ค่อยทุ่มเงินมากนัก เพราะอยู่ในวัยเรียน สิ่งของที่ซื้อส่วนมากเป็นขนม ผลไม้ น้ำ หรืออาหารที่ศิลปินชื่นชอบ จุดเด่นคือ วัยเดียวกัน หรือไล่เลี่ยกัน ในกลุ่มจะรู้จักกัน แม้จะมาจากคนละสถาบันการศึกษา มีตั้งแต่ จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ ธุรกิจบัณฑิตย์ ฯลฯ และมักรู้ข่าวสาร ติดตามความเคลื่อนไหวค่อนข้างใกล้ชิด มักเป็นกลุ่มที่ลงแรงมากกว่าลงเงิน

ตามติด AF สุดเลิฟ

“ที่บ้านป้าติดยูบีซี ก็ดูตลอด เพลินดี แก้เหงาไม่มีอะไรทำหลังเกษียณอายุราชการและมาดูคอนเสิร์ตก็ติด เพลินดี เพราะไม่มีอะไรทำ ก็มาดูบ่อยคะ โหวตบ้าง แต่ไม่มากเท่าไหร่ แต่ล่าสุดป้าก็ไปทัวร์ที่เกาหลีกับต้ามาด้วยนะ ชอบเขาคะ เขาเป็นเด็กน่ารัก ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ของเขาที่มีเด็กน่ารักอย่างต้าให้พวกเราได้ชื่นชม” คุณป้า เกษียณอายุราชการวัย 67 ปี

“ตุ้ยเป็นคนน่ารัก ไม่หยิ่ง เป็นกันเอง ก็ตามให้กำลังใจเขาตลอดครับ ไปต่างจังหวัดก็ไป ไปออกรายการก็ไป ต้องไปครับ ไม่งั้นคนน้อยดูไม่ดีครับ” หนุ่มแนต วัย 28 ปี พนักงานบริษัทเอกชน

“บอกได้เลยว่ามี AF4 ก็ไม่ตามใครแล้ว จะตามตุ้ยคนเดียว เพราะเราเอ็นดูเขา เป็นคนคนพูดตรง ไม่อายเรื่องพ่อแม่ ออกจากบ้านแล้วก็ ไปให้กำลังใจตลอดถ้ามีโอกาส ทั้งดูคอนเสิร์ต มินิคอนเสิร์ตไปออกรายการทีวี ไปปลูกบ้าน งานการกุศลที่ต่างจังหวัด ซื้อซีดีเพลงทุกชุด ตอนอยู่ในบ้านก็ดูยูบีซีตลอด โหวตให้เต็มที่ แต่ก็จ่ายแค่ในหลักพันเท่านั้นนะคะ” คุณแม่วลี วัย 54 ปี รับราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ก็ซื้อทุกชุดนะคะซีดี ตามก้อตลอด ตอนนี้ก็ 4 ชุดแล้ว อย่างไปประมูลของเกี่ยวกับ AF ก็ตามประมูล แต่ไม่ได้ เพราะไม่เสนอเงินมาก ค่าใช้จ่ายรวมๆ แล้วตอนนี้ก็รวมประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทคะ ส่วนใหญ่เป็นค่าโหวตช่วงที่ยังอยู่ในบ้านก็หมื่นกว่าบาทแล้วคะ” คุณหนึ่ง วัย 40 ปี พนักงานบริษัทเอกชน

“ออกจากบ้านก็ตาม ตลอดเลยค่ะ บางวันก็ตามตลอดทั้งวัน 3-4 งานไปหมด บางทีก็ลางานไป ถ้าถามถึงจ่ายไปแล้วเท่าไหร่ ไม่สามารถคำนวณได้คะ เพราะเยอะเหมือนกัน อย่างค่าโหวตก็เป็นหลักหลายหมื่น แต่โปรโมชั่นของทรูมูฟได้เงินค่าโทรคืนนะคะ อย่างซีดีก็ซื้อตลอด คอนเสิร์ต ก็ตั๋วหลักพันนะคะ ไปทัวร์เกาหลี ก็ 2 หมื่นกว่าคะ”นาเดีย พนักงานบริษัทวัย 24 ปี

รักแล้วต้องจ่าย

1. ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี (ทรูวิชั่น)
(340-2,000 บาทต่อเดือน)

2. ค่าโหวตผ่านโทรศัพท์มือถือ
(ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจทรูมูฟ เฉลี่ยครั้งละ 1-2 บาท
มากน้อยขึ้นอยู่กับแรงเชียร์ เฉลี่ยคนละ100-10,000 บาท)

3. ซื้อเสื้อ อุปกรณ์เชียร์ AF (คอนเสิร์ตก่อนเข้าบ้าน)
(เฉลี่ยตัวละ 200 บาท-อุปกรณ์เชียร์1,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภท)

4. สมัครสมาชิกอินเทอร์เน็ตเพื่อรับข่าวสารในเว็บไซต์ต่างๆ
(ค่าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 500 บาท/เดือน)

5. ซื้อแผ่นซีดี ดีวีดี ของกลุ่มศิลปิน AF
(รวมการแสดงเฉลี่ยแผ่นละ 150 บาท ดีวีดีรวมการแข่งขันชุดละ 2,000 บาท
ดีวีดีการแสดงชุดต่างๆ รวมทั้ง MV และอัลบั้มรูป ชุดละ 200 บาท)

6. ซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ต
(ราคาตั๋ว 500-2,500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดเล็ก-ใหญ่/ต่อปีมีประมาณ)

7. สมัครทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศ
(แพ็กเกจอยู่ในหลักหมื่นบาท (ในแถบเอเชีย))