ไขรหัส ปั้นขุมทรัพย์ AF

เกือบ 2 ปี “ยูบีซีแฟนเทเชีย” สร้างแบรนด์ เด็กล่าฝัน AF” ให้กลายเป็นศิลปินขวัญใจมหาชน เริ่มจากโชว์การใช้ชีวิตจริงผ่านจอทีวีตลอด 24 ชั่วโมง นาน 3 เดือน และที่มากกว่านั้น พวกเขายังบริหารจัดการ ให้ศิลปินเหล่านี้ กลายเป็นสินค้ามีชีวิต สร้างรายได้ผ่าน Window ต่างๆ ทั้งทีวี วิทยุ ภาพยนตร์ เวทีคอนเสิร์ต หรือแม้ธุรกิจทัวร์

ความสำเร็จของ AF ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่กระบวนการบริหารจัดการ หรือที่เรียกว่า Artist Management เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน

กระบวนการการบริหารศิลปินเอเอฟ ที่สร้างรายได้ต่อเนื่องบนเส้นทางธุรกิจบันเทิงเป็นเช่นไร อะไรคือกลไกลของความสำเร็จ “กิติกร เพ็ญโรจน์” กรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้น บริษัทยูบีซี แฟนเทเชีย มีคำตอบ

POSITIONING : ความจำเป็นของยูบีซี (ขณะนี้เปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชั่น) ในการตั้งบริษัทเพื่อบริหารศิลปิน (Artist Management) และมีแนวทางในการบริหารอย่างไร
กิติกร : ตอน AF1 เรายังไม่มีบริษัทรับบริหารศิลปิน เรามอบหมายให้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ บริหารให้ แต่เขาเป็นบริษัทค่ายเพลงขนาดใหญ่ มีศิลปินเยอะ การ Focus ไม่ชัดเจน ยูบีซีก็คิดว่าควรมีบริษัทมาบริหาร

บทบาทของ Artist Management คือการทำมาร์เก็ตติ้ง โดยใช้ศิลปินเป็นโปรดักส์ ให้เด็กมี Value มีชื่อเสียงตลอดเวลา และต้องมีเด็กใหม่ๆ มาเสริมตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างโอกาสให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ ร้องเพลง แสดงคอนเสิร์ต Musical Show ธุรกิจท่องเที่ยว และยังมีภาพยนตร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เราแตกขยายออกไป

POSITIONING : องค์ประกอบสำคัญของธุรกิจ Artist Management ในรูปแบบของยูบีซี แฟนเทเชียคืออะไร
กิติกร : ปัจจัยแรกคือ Marketing สองคือ Business Development และสุดท้ายที่สำคัญคือ Connection

โจทย์คือ ทำอย่างไรให้เด็กได้เข้าวงการบันเทิง เด็กคนไหนที่ร้องเพลงได้ ก็เทปก่อนก็ทำ ใครเรียนแสดงมาด้วยก็เล่นละคร หรือเล่นหนัง ซึ่งกรณีอย่างนี้เด็กต้องมีของ (ความสามารถร้องเพลง เต้นรำ หรือละคร) มาบ้าง และมาเพิ่มทีหลัง แต่หลังจากที่เด็กออกจากบ้าน AF แล้ว เราก็มี Training ต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่เราวาง อย่างเรามี Project Musical Show ก็ต้องให้เด็กไป Train เรื่องการร้องเพลงมากยิ่งขึ้น

POSITIONING : โมเดลการบริหารศิลปิน การทำตลาดของยูบีซีแฟนเทเชีย แตกต่างจากรูปแบบธุรกิจบันเทิงค่ายอื่นๆ ที่ทำมาก่อนหน้านี้ อย่างไรบ้าง
กิติกร : จริงๆ แล้วแนวคิดเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนที่วิธีการ ค่ายเพลงเดิมออกอัลบั้ม 1 ชุด ใช้เวลาโปรโมต 3 เดือน แต่ละเดือนออกอัลบั้มอย่างมากได้แค่ 10 ชุด สมัยก่อนแกรมมี่ใช้เวลาโปรโมต 3 เดือน ยิงผ่านสื่อตลอดเวลา สร้างความรู้สึกให้คนผูกพันกับศิลปิน

แต่ปัจจุบันสภาพการณ์ต่างกัน 1 เดือนมีอัลบั้มออก 100 กว่าชุด จะโปรโมตผ่านสื่อแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว คนจำไม่ได้ มีเดียมีไม่พอกับจำนวนศิลปินที่มีจำนวนมากขึ้น จนคนไม่รู้สึกผูกพัน เมื่อไม่ผูกพันก็ไม่รู้สึกอยากซื้อ

หลักการเดียวกันในเรื่องความผูกพัน เพียงแต่เราเปลี่ยนมาใช้วีการสร้างความผูกพันตั้งแต่อยู่ในบ้าน นาน 3 เดือน 3 เดือน ให้คนได้เห็นเขาตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน เป็นขั้นตอนของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับ Consumer ดังนั้นเมื่อผูกพัน ก็สร้าง Value ให้ศิลปินต่อจากนั้น ธุรกิจต่อได้ทันที เช่น มีคอนเสิร์ต เป็นหลักการเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการ

POSITIONING : วิธีการไหนสร้างความผูกพันกับ Consumer ได้มากกว่ากัน
กิติกร : คนที่มีมีเดียในมือก็สร้างความผูกพันได้มาก ขึ้นอยู่กับต้นทุนทำได้แค่ไหน มีเดียมีน้อยกว่าศิลปิน ถ้าใช้วิธีการแบบเดิม ความผูกพันก็ไม่มี

POSITIONING : การบริหารของอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย แตกต่างจากการบริหารศิลปินของค่ายเพลงใหญ่อย่างอาร์เอส และแกรมมี่กับยูบีซีแฟนเทเชียเป็นอย่างไร
กิติกร : โดยภาพรวมอาร์เอส กับแกรมมี่ เป็นบริษัทจัดการศิลปินอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้บริษัทย่อย การมีบริษัทย่อย เป็นเหมือนโมเดลลิ่ง เช่น ส่งเด็กไปเป็น Presenter ออกรายการทีวี แล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้กับเด็ก บริษัทได้ 20-30 % เด็กได้ 70-80 % ส่วนของเราจะไปร่วมลงทุนในบริษัท โดยหารายได้จากผลกำไรทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ความแตกต่างยังอยู่ที่วิธีการคิด สมัยก่อนเริ่มจากธุรกิจ คือ เปิดค่ายเทป ระดมนักแต่งเพลง หาสตูดิโอ ทำมาร์เก็ตติ้ง และหาศิลปิน อัดเสียง โปรโมต เป็นการเริ่มจากตัวธุรกิจก่อน แล้วค่อยหาคน หาศิลปิน

ส่วนยูบีซีแฟนเทเชีย เราเริ่มจากคนที่มีอยู่ ถ้านับตอนนี้ ตั้งแต่ AF1 ถึง 3 ชุดละ 12 คน ก็ 36 คน AF1แม้อยู่ในสังกัดแกรมมี่ แต่เราก็สามารถประสานงานมาใช้ได้

วิธีการคือการสร้างคุณค่าให้ศิลปินจนเห็นความสามารถพิเศษของเขา และทำอย่างไรให้ศิลปินมีงานต่อเนื่อง มี Value เพราะValue ของศิลปินสามารถดึงแฟนคลับได้ พอมีแฟนคลับ ก็สามารถแตกธุรกิจ เช่น การแตกเป็นธุรกิจทัวร์ ตั้งเป็นบริษัท Fantasia Travel Fanclub จัดทัวร์แล้วทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ทริปละ 20-30 คน เพราะเรามองว่าส่วนประกอบสำคัญในธุรกิจบันเทิงคือตัว Artist เมื่อเรามองที่ตัวศิลปินเป็นหลัก จากนั้นจึงสร้าง Value เข้าไปร่วมในธุรกิจต่างๆ วิธีนี้ถือว่าไม่มีต้นทุนมากนัก และเชื่อว่าบริษัทธุรกิจบันเทิงจะมาใช้แนวทางนี้มากขึ้น

POSITIONING : ต่อยอดธุรกิจได้อย่างไร
กิติกร : ใช้ความต่อเนื่อง ไม่ให้คนลืม อย่างในกรณีของ AF2 เราก็วางแผนเลยว่า พอศิลปินออกจากบ้าน ภายใน 2 สัปดาห์เราก็วางแผงซีดีเลย ไม่ให้มีช่องว่าง เพราะต่อให้ดังยังไง ถ้าหายไป 2 เดือน ศิลปินคนนั้นก็จะหายไปเลย

พอออกซีดีเพลง ตามมาด้วยคอนเสิร์ตใหญ่อีก 2 รอบที่อิมแพคฯ คอนเสิร์ตต่างจังหวัด จากนั้นก็ให้ไปเล่นละคร ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ ให้เด็กมี Exposure อย่างต่อเนื่อง ไม่หายจากจอ ชุมชนแฟนคลับเขาก็ยังอยู่ ตอนนี้ถือว่า AF2 รายได้ยังมากกว่า AF3 เสียอีก เป็นการพยายามทำให้ชีวิตความเป็นศิลปินยาวที่สุด

เพราะฉะนั้นการบริหารศิลปิน จะต้องมีการคิดเป็น Project และแต่ละ Project จะมีWindows หลากหลาย เช่นโครงการ Musical Show เงิน เงิน เงิน ถือเป็น Project หนึ่ง ต่อไปก็อาจมีท่องเที่ยวพาไปชมละครบรอดเวย์ (ดูกราฟฟิก ประกอบ)

POSITIONING : โดยเฉลี่ยศิลปินในสังกัดจะคงความนิยมได้นานแค่ไหน
กิติกร : ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก และความโดดเด่นมีแค่ไหน อย่าง AF2 ที่เราวางแผนไว้ 3 ปีมีงานอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้านับการเซ็นสัญญาอยู่ในสังกัดก็ชุดละ 5 ปี

POSITIONING : การแบ่งงานให้ AF แต่ละคนใช้หลักอย่างไร
กิติกร : จะเห็นว่าเด็กมีงานไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ที่ความสามารถของแต่ละคน

POSITIONING : ได้เข้าไปร่วมคัดเลือกเด็กที่จะเข้ามาเป็นAFกับยูบีซีตั้งแต่แรกก่อนเข้าบ้านหรือไม่
กิติกร : ก็ร่วมในระดับหนึ่งแต่ผมคิดว่ารายการทีวี กับธุรกิจทีวีควรแยกกันเด็ดขาด ถ้าเกิดว่าในแง่ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน เข้าไปยุ่งในเรื่องการคัดตัวมากเกินไป เชื่อว่ารายการจะไม่สนุก เพราะ Artist Management ก็อยากได้คนที่ทำงานได้ ร้องดีไว้ก่อน และมีคาแร็กเตอร์ ถ้าเราไปเอาแบบนั้นหมดเลย รายการก็จะไม่มีความแตกต่าง เรียลลิตี้ ก็มีคนประเภทเดียวกันหมด ก็ไม่สนุก ต้องแยกออกให้ชัดเจน พอจบจากบ้าน คนไหนพร้อมก็ทำก่อน ไม่พร้อมก็ Train ไป

POSITIONING : เรื่อง Connection เป็นอย่างไร
กิติกร : Connection ไม่มีไม่ได้ เราไปทุกค่าย ซึ่งต้องขอบคุณพันธมิตร เช่น คุณชาลอต (โทณวณิก) ที่ให้เด็ก 12 คน AF2 ไปเล่นเพื่อนรักนักล่าฝัน ที่ช่อง 7 โพลีพลัส ให้ว่านกับบอยไปเล่นละคร รวมทั้งกันตนา

POSITIONING : AF ที่ต่างประเทศมีโมเดลธุรกิจอย่างที่ยูบีซีแฟนเทเชียทำต่อยอด AF อย่างที่เห็นหรือไม่
กิติกร : ไม่มี เราคิดว่าเราเป็นประเทศแรก แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ต่างประเทศก็เริ่มเปิดบริษัทขึ้นมาบริหารแบบนี้เหมือนกัน

POSITIONING : ในส่วนของแฟนคลับ ทางยูบีซี เข้าไปมีส่วนผลักดันแค่ไหน
กิติกร : เราก็ปล่อยเขาค่อนข้างมากในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ต่อไปเรามีแผนเกี่ยวกับแฟนคลับ เพราะแฟนคลับคือลูกค้า ตอนนี้ก็กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำ CRM ซึ่งไม่ยาก เพราะเขาเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ซึ่งแฟนคลับยิ่งมี Activity มาก ก็ยิ่งผูกพัน ตอนนี้เอง AF หลายคนก็มีแฟนคลับจัดคอนเสิร์ตให้ในผับ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้ของศิลปินเอง เพราะแฟนคลับอยากดู เขาก็เลือกสถานที่จัดกันเอง เป็น Community ของเขา แฟนคลับบางกลุ่มแข็งแรง ทำ Marketing Plan มาให้เลยก็มี

หลักการทำ CRM ก็คงทำมากไปไม่ได้ เพราะถ้าเขามีใจแล้ว ไปทำมากไปก็ไม่ดี จุดประสงค์คือทำให้อย่างไรให้แฟนคลับภูมิใจว่าเขามีส่วนกับทีมงาน เรื่องหลักๆ คือเขาต้องการ Participate กับศิลปิน เพราะส่วนใหญ่อยากช่วยศิลปิน และเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของศิลปิน

POSITIONING : ตัวอย่างปรากฏการณ์ของแฟนคลับ
กิติกร : เวลาศิลปินเอเอฟออกอัลบั้ม แฟนคลับจะนัดหมายกันเพื่อไปโปรโมต เช่น ช่วงเช้า 10 แฟนคลับนัดกันไปซื้อซีดีที่ B2S เซ็นทรัลเวิลด์พร้อมกัน เพื่อให้ติดชาร์จอันดับ 1 พอตอนบ่ายไปเจอกันที่สาขาอื่น เพื่อให้ติดชาร์จเหมือนกัน หรือนัดกันตอนเย็นให้โทรหารายการวิทยุพร้อมกัน

POSITIONING : ในส่วนของการบริหารองค์กรมีวิธีการอย่างไรบ้าง
กิติกร : พยายามไม่ให้มีต้นทุนมาก มีพนักงานประมาณ 20 คน เน้นส่วนของครีเอทีฟและ การตลาด อย่างเช่น หากมองไปที่ธุรกิจเพลง เราไม่ได้มองว่าเพลงเป็นแหล่งรายได้ ดังนั้นไม่ต้องลงทุนทีมเพลง Cost ไม่สูง จ้าง Freelance เช่น แต่งเพลงหรือเป็นโปรดิวเซอร์ หรือการทำ Event Concert ส่วนใหญ่จะใช้วิธี Outsource

หลังจากฝ่ายการตลาด คิด Project ออกมาแล้ว ก็ต้องหาทางขยาย Windows ต่างๆ เพื่อหารายได้ และต้องดูเรื่องต้นทุนที่ใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยว่าคุ้มต่อการลงทุนหรือเปล่า แต่ละ Project ก็ใช้เวลา 3-6 เดือน ต้องคิดโปรเจกต์ใหม่ตลอดเวลา

POSITIONING : ที่มาของรายได้ของยูบีซี แฟนเทเชีย
กิติกร : ส่วนหนึ่งมาจากค่าบริหารศิลปินเช่น เมื่อเด็กเป็นพรีเซ็นเตอร์ ศิลปินได้ 70% บริษัท 30% หรือหากมีอีเวนต์ หรือคอนเสิร์ต ก็มีส่วนของรายได้จากสปอนเซอร์ ซึ่งจากรายได้รวม 50% มาจากสปอนเซอร์

POSITIONING : วิธีการหารายได้จากสปอนเซอร์
กิติกร : มีสองส่วน สปอนเซอร์ในบ้าน กับหลังออกจากบ้าน
การหาสปอนเซอร์หลังจากออกนอกบ้านมี 2 รูปแบบ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นโชว์ที่เราจัดเอง จะมีรายได้จากการขายตั๋วส่วนหนึ่ง และสปอนเซอร์อีกส่วนหนึ่ง

หรืออีกรูปแบบคือ เราหารายได้จากสปอนเซอร์อย่างเดียว ซึ่งก็ต้อง Customize ไปตามสปอนเซอร์ เช่นที่ทำกับแชมพูสระผมแพนทีน หรือกรณีคอนเสิร์ต แม็กซี่มูฟ ของเป๊ปซี่ อันนี้ชัดเจน คือ เป๊ปซี่นำศิลปินเอเอฟไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ จากนั้นก็ทำโปรโมชั่น จัดคอนเสิร์ต ซึ่งเป็น Exclusive เฉพาะลูกค้าเป๊ปซี่ เท่านั้น โดยนำฝาไปแลกบัตรเข้าชม แล้วก็มีอัลบั้ม แม็กซี่มูฟ สปอนเซอร์โดยเป๊ปซี่ ใช้ชื่ออัลบั้มว่าแม็กซี่มูฟ และเป๊ปซี่เต็มที่กับชีวิต และมี Product Placement และ Communication Theme เป็นของเป๊ปซี่ทั้ง Project อันนี้เรา ได้เงินจาก Sponsor เต็มๆ

POSITIONING : ปัญหาสำคัญของธุรกิจ Artist Management คืออะไร
กิติกร : ความดังไม่เท่ากันของศิลปิน เขาคาดหวังว่าเขาต้องประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ความไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับทุนของแต่ละคน สำหรับที่นี่เราก็พยายามผสมผสาน ให้คนดังกว่าช่วยดึงคนที่ดังน้อยกว่าไปด้วยกัน เช่น เราออกอัลบั้ม จะมีการผสมผสานเป็นศิลปินเป็นกลุ่มๆ เพราะถ้าทำออกมา 36 ชุด ก็คงเจ๊งกว่าครึ่ง ต้องทำเป็นกลุ่ม อย่างอัลบั้มแมกซี่มูฟ รวมคนที่เต้นเก่งที่สุด หรือ ออกอัลบั้ม Diva มี จีน พัด เพชร 3 คนให้เป็นนักร้องที่มีคุณภาพ หรือ ออก Soal much in love กลุ่มผู้ชายโรแมนติก 9 คน ทำให้เด็กที่มีอยู่มีกระแสต่อเนื่อง แม้เขาไม่ได้ออกเดี่ยว ให้ออกเป็นกลุ่ม แต่ถ้าคนไหนแข็งแรงที่จะทำออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว เช่น พัดชา ปั้นเป็นนักร้อง ต่อไปก็อาจมีตุ้ย กำลังเวิร์คกันอยู่ว่าจะวาง POSITIONING เป็นยังไง ออฟ AF2 ก็ชัดเจนว่าเป็นลูกทุ่ง

POSITIONING : ทำไมถึงเริ่มโปรโมตศิลปินด้วยการออกอัลบั้มเพลงก่อน
กิติกร : แม้เราไม่ใช่บริษัทเทป แต่วิธีการคือส่วนใหญ่แล้วจากเพลงจะแตกไปทางอื่น ที่สำคัญเด็กกลุ่มนี้เกิดจากอยากเป็นนักร้อง เข้ามาเพราะอยากเป็นนักร้อง

POSITIONING : ธุรกิจต่อยอดต่อไปเกี่ยวกับหนัง มีโมเดลเป็นอย่างไร
กิติกร : สร้างหนัง ก็เอาศิลปินเป็นหลัก แล้วแตกออก สร้างหนังเราก็คุยกับจีทีเอช (ค่ายแกรมมี่) ทำเป็น Project ร่วมกันในลักษณะ Joint Venture ตอนแรกว่าจะออกกลางปี แต่คงไม่ได้แล้ว ก็คงไปเรื่อยๆ

ส่วนวิธีการ ก็ต้องจุดแข็งหรือ Perception ของคนต่อ AF เป็นไง เป็นการทำให้ Utilize แบรนด์ AF ได้ดี เป็นโจทย์ให้จีทีเอช รายได้กับเงินลงทุนก็แบ่งคนละครึ่ง รายได้หลักก็มีทั้งตั๋ว และสปอนเซอร์ ปัจจุบันการคิดงานในบันเทิงจะเอาธุรกิจมาใส่มากขึ้น เช่น คิด Project แล้วขายหลายๆ Windows

POSITIONING : บทสรุปของความสำเร็จของยูบีซีแฟนเทเชียในการเป็น Artist Management คืออะไร
กิติกร : น่าจะเป็นการทำ Marketing ให้เด็กเหล่านี้ ทำอย่าง Consistency เพื่อสร้าง Value ต่อเนื่องกับ Business Development สร้างงานที่หลากหลาย ให้แต่ละคนมีงานมากที่สุด สร้างผลงานและรายได้ชัดเจน การเป็น Artist Management คือต้องมีทางให้เขา

Profile
กิติกร เพ็ญโรจน์ ปัจจุบันอายุ 38 ปี เติบโตในอาชีพการงานบนเส้นทางสายธุรกิจบันเทิงมา ตลอด แม้ว่าจะจบระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ระหว่างเป็นนิสิตในรั้วจามจุรี ให้เข้าประกวดร้องเพลงชนะของซียูแบนด์ เพราะชอบร้องเพลง ดนตรี และเล่นเปียโนตั้งแต่เด็ก และค้นพบตัวเองว่าชอบเส้นทางนี้ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกาในสาขาเอ็มบีเอ เพื่อหวังมาทำงานด้านบริหารในธุรกิจบันเทิง

กลับมาต้องการประสบการณ์ในการทำอัลบั้มเพลง จึงไปสมัครทำงานที่ค่ายเพลงคีตา ทำโปรโมชั่นให้ศิลปินหลายคนจนเป็นที่รู้จัก จากนั้นก็ไปเรียนรู้งานที่กันตนา และตามผู้บริหารกันตนามาที่ไอทีวีในยุคแรก ได้เลขประจำตัวพนักงานเลขที่ 26 มาอยู่ไอบีซี เคเบิลทีวี ที่ภายหลังมีเอ็มไอเอชถือหุ้นใหญ่ มีโอกาสถูกส่งไปฝึกงานที่สำนักงานเอ็มไอเอชเกี่ยวกับการโปรโมตเปิดตัวรายการโทรทัศน์ จากนั้นไปร่วมงานกับบีอีซีเทโร เปิดตัวช่อง รายการข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ทำคอนเสิร์ตใหญ่หลายคอนเสิร์ต เมื่อจังหวะลงตัวกับความต้องการทำธุรกิจบันเทิงในแบบที่ตัวเองอยากทำ จึงตัดสินใจร่วมหุ้นกับยูบีซีตั้งบริษัทยูบีซีแฟนเทเชีย

ด้วยความฝัน ไม่ต่างจากนักล่าฝันของ AF กิติกรยังมีแผนมากมายที่จะทำให้ศิลปินในสังกัดมี Value มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการขยายไลน์ ให้ศิลปินมีส่วนในธุรกิจเทรดโชว์ด้วยความเชื่อที่ว่า ”ศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของทุกบันเทิง และบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งของทุกอย่าง”