WordPress.com อาวุธใหม่เขียนเว็บได้ไม่ต้องรู้ไอที

จาก นิตยสาร DDT, นิตยสาร Open ไปจนถึงบล็อกส่วนตัวคนดังหลากหลายเช่นนักบริหารรุ่นใหม่อย่าง “ป๋าเต๊ด” และนักเขียนอย่าง ปราบดา หยุ่น … อะไรทำให้ Blog กลายเป็นช่องทางที่สื่อเหล่านี้เลือกแทนที่จะเป็นเว็บไซต์ในแบบเดิมๆ ? และทำไมต้องเป็นที่ WordPress.com

กระแสบล็อกมาแรงในแง่การเป็นที่ระบายความรู้ ไปจนถึงระบายอารมณ์เรื่องราวแลกเปลี่ยนกันอ่านอย่างเป็นชุมชน

แต่มองอีกมุมหนึ่ง การที่ใครก็ได้สามารถเขียนเรื่องราวขึ้นเว็บให้คนดูทั่วโลกในพริบตาโดยไม่ต้องศึกษาความรู้ในการสร้างเว็บ ก็จุดประกายให้หลายสื่อ หลายองค์กร เอารูปแบบ Blog มาใช้ยิงเนื้อหาขึ้นอินเทอร์เน็ตได้ทันใจอย่างเป็นระบบอย่างเร็วจัดและง่ายดาย

และเครื่องมืออันดับต้นๆ ที่มาแรงสุดๆ ตอนนี้ก็เป็น WordPress.comที่เปิดให้ใครก็ได้ไปขอ User และ Password เพื่อเปิดบล็อกของตัวเอง แล้วเลือกธีม (Theme) คือสีสันรูปแบบหน้าจอ

จากนั้นก็พิมพ์เนื้อหาใส่ไปได้เลย โดยเนื้อหา 1 ชิ้นจะถูกเรียกว่าเป็น 1 โพสต์ (“Post”) จะถูกแบ่งตามวัน เนื้อหาล่าสุดจะแสดงด้านบนของหน้า ต่อด้วยเนื้อหาก่อนนั้นถัดๆ ลงไป

และแม้จะมี Post จำนวนมาก แต่ผู้อ่านก็จะไม่สับสน เพราะผู้เขียนสามารถจัด Post ทั้งหลายแบ่งไปตาม Categories ได้

นอกจากนี้ หากมีหน้าอื่นๆ ที่มีภาพหรือเนื้อหาที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามวัน เช่น ข้อมูลติดต่อ แผนที่ หรือรายชื่อทีมงาน ผู้เขียนก็สามารถจับไปใส่ในส่วน “Page” แทนที่จะเป็นโพสต์ซึ่งจะไหลลงไปเรื่อยๆ

ด้วยโครงสร้างง่ายๆ อย่าง Post, Categories, Page นี้ กลับทำให้สื่อนอกและไทยหลากหลายใช้ WordPress ทำเว็บแทนที่จะเป็นขั้นตอนยุ่งยากต้องจ้างคนทำเว็บแบบเดิมๆ และเป็นเหตุผลให้ WordPress เป็นได้มากกว่าแค่ “ไดอารี่ออนไลน์” ที่วัยรุ่นไทยนิยมเขียนกันในบล็อกไทยแบบเดิมๆ

ตัวอย่างสื่อเหล่านี้ เช่น นิตยสาร DDT ของ Click Radio (ddtmagazine.wordpress.com), นิตยสาร Open Online (onopen.com), ประชาไท ของ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ (prachatai.wordpress.com), pated.wordpress.com ของ ยุทธนา บุญอ้อม ผู้บริหาร Click Radio, บล็อกของ ปราบดา หยุ่น (typhoonkoon.wordpress.com/) Keng.com ของ “เก่ง” กติกา สายเสนีย์ ผู้เชี่ยวชาญและบุกเบิกบล็อกในไทย ฯลฯ

ตัวองค์กรเจ้าของ WordPress.com เอง มีรายได้จากการโฆษณาบนเว็บเพราะมีผู้เข้าชมเข้าใช้จำนวนมาก มีฐานข้อมูลบรรดาเจ้าของบล็อกและอีเมลผู้เข้ามาตอบข้อความที่นำไปต่อยอดทางการตลาดและโฆษณาได้ และทาง WordPress ก็มีบริการเพิ่มเติมที่คิดเงินให้คือ Web Hosting สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บข้อมูลมากๆ หรือไฟล์ใหญ่ๆ ไว้บริการผู้ใช้ เช่น มัลติมีเดีย เพลง หรือเกม เป็นต้น

Opinion : 3 จุดแข็งบล็อกที่นักการตลาดต้องรู้

“เก่ง” กติกา สายเสนีย์ เจ้าของ keng.com ที่ถูกยอมรับเป็นผู้บุกเบิกวงการบล็อกในไทย ให้ความเห็นว่า Positioning ที่เป็นเอกลักษณ์ของบล็อกนั้นมี 3 อย่าง คือ ง่าย, เร็ว และ เป็นกันเอง

ที่สหรัฐฯ จุดแข็ง “ง่าย” และ “เร็ว” ถูกนำมาใช้ทางการตลาดได้เต็มๆ เช่น CEO บริษัทหรือผู้บริหารการตลาดเขียนบล็อกด้วยสำนวนสบายๆ ชวนผู้อ่านคุยเรื่องสินค้า บริการ หน้าร้าน และอื่นๆ จนได้รับฟังและเข้าใจลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายโดยตรง แบบไม่ต้องรอรายงานหรือผลวิจัย

ส่วนจุดแข็ง “เป็นกันเอง” นั้นนิยมใช้ทำ “Fake Blog” หรือบล็อกที่ทำเสมือนว่าเป็นผู้บริโภคมาเขียนถึงสินค้า ทั้งที่จริงแล้วเป็นบริษัทเจ้าของสินค้านั้นเอง ไม่ถึงกับเป็นการเขียนเชียร์สินค้าโดยตรง แต่เน้นการบอกเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนทัศนะกัน เพราะบน Fake Blog นั้น ห้ามทำให้ผู้อ่านรู้ตัวหรือรู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดโฆษณาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้รู้สึกต่อต้านและหนีไปไม่อยากกลับมาอ่านอีก