จุดกระแส “หินทิเบต”

ปรากฏการณ์ฟีเวอร์ของหินทิเบต “ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” ที่ปรึกษาด้านสื่อสารการตลาด วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งมาจากตัวจุดกระแส หรือ Tippoing Point คือเจ้าชายจิกมีแห่งทิเบตเมื่อครั้งมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในงานพระราชพิธีครองราชย์ 60 ปีของในหลวงเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยมีคนคลั่งไคล้เมื่อเห็นเจ้าชายสวมเครื่องประดับหินทิเบต แล้วนำมาเป็นต่อยอดค้นคว้าหาที่มา เรื่องราวพลังอันศักดิ์สิทธิ์ ความหมายและพลังอำนาจต่างๆ ประกอบกับสังคมไทยในเวลานี้คนให้ความสนใจหาเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

ส่งผลให้หินทิเบตกลายเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมโดยไม่ยาก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น เพราะนอกจากให้ความหมายดี ยังใช้เป็นเครื่องประดับแฟชั่นได้อย่างทันสมัย

“จัดเป็นปรากฏการณ์ที่โดนเร่งปฏิกิริยาจากคนที่เป็น Role Model หรือ Idol ของสังคม โดยมีทาร์เก็ตหลักคือวัยรุ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนทำให้เป็นแฟชั่น (Fashion Driven) ขณะที่เรื่องราวจากลวดลายหินแต่ละประเภทเป็นตัว Support เป็นตัวทำให้โปรดักส์มีมูลค่าบนพื้นฐานจากความเชื่อและศรัทธานั่นเอง”

อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นกุญแจสำคัญของหินทิเบตฟีเวอร์ ดนัยบอกว่า คือ Buzz Word หรือการบอกแบบต่อปากต่อปากโดยเฉพาะจากคนที่รู้เรื่องราวของหินแต่ละประเภท ก็จะไปเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว ใส่แล้วเกิดผลต่างๆ ซึ่งบางทีอาจเกิดจากการปรุงแต่งของจิตตัวเอง อุปทานบ้าง ฟังจากคนอื่นบ้าง แต่มันมีเรื่องเล่าต่อ ซึ่งก่อให้เกิดกระแส Buzz Word ของตัวโปรดักส์ที่ทำ Faith Marketing ซึ่งถ้าหากมีเรื่องเล่าต่อไปเรื่อยๆ กระแสนี้จะไม่จางหาย

“ยิ่งถ้าเป็นเรื่องจากประสบการณ์จริงโดยตรงแล้วไปเล่าต่อ คนฟังก็จะเกิด Passion ร่วมประสบการณ์กับคนที่มากระจาย Buzz Word นั้น ทำให้กลายเป็นกระแสต่อเนื่องไปได้”

ปรากฏการณ์นี้ ก็จัดเป็น Faith Marketing อีกกรณีศึกษาหนึ่ง สิ่งสำคัญสำหรับการทำศรัทธามาร์เก็ตติ้ง ดนัยย้ำว่า มันต้องมี Heritage หมายถึง ที่มาที่ไป ความเป็นมา เรื่องราว มีมรดกที่เป็นจุดกำเนิดของสิ่งนั้น แล้วมันจะขยายต่อคนที่เข้ามาร่วมประสบการณ์ Emotional Bonding ด้วยประสบการณ์แต่ละคน