พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สถิตในดวงใจคนไทย

ปี 2550 จะเป็นอีกปีที่มีความหมายและความสำคัญต่อประชาชนคนไทยที่ต้องจดจำไปอีกนาน เนื่องจากเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้

ถ้ายังจดจำภาพเหตุการณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อประชาชนคนไทยหลายแสนคน พร้อมใจกันสวมใส่ “เสื้อเหลือง” ออกมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนิน เพื่อรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม

ปรากฏการณ์ลักษณะนี้คงไม่แตกต่างไปจากพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 โดยหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต่างพร้อมใจกันร่วมทำกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวง

งานเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เชื่อแน่ว่าจะมี “ปรากฏการณ์” ความเป็น “ที่สุด” ที่จะประจักษ์สู่สายตาคนไทย และทั่วโลกอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การแสดงออกของประชาชนคนไทย นับตั้งแต่งานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี จนถึงขณะนี้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังพร้อมใจกันสวมเสื้อเหลืองเพื่อต้องการแสดงถึงความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวง ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้ได้ว่า ตลอดเวลาที่ครองราชย์ พระองค์ประทับอยู่ในใจประชาชนชาวไทยเสมอมา

พระราชกรณียกิจสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีตลอดการครองราชย์ คือความห่วงใยที่ต่อประชาชนชาวไทย ทั้งในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติ พระองค์ทรงออกเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ห่างไกล และพระองค์ยังทรงเป็นผู้ริเริ่ม และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านการเกษตร พลังงาน ผ่านโครงการพระราชดำริ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชากรเหล่านี้ดีขึ้น

แนวคิดสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

ในยามที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติการด้านการเมืองหลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางแก้ปัญหาจนทำให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาโดยตลอด รวมถึงกระทั่งวิกฤตทางการเมืองครั้งล่าสุดจากกรณีการตัดสิน “ยุบพรรคการเมือง” ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความหมายนี้ได้อย่างดี

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มาแล้ว 60 ปี ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ ผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมา 18 ครั้ง มีนายกฯ ทั้งหมด 24 คน พระองค์ท่านจึงเป็นผู้ที่เข้าใจรัฐธรรมนูญมากที่สุด” อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” จัดโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม

เมื่อครั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่ถือเป็นวิกฤตการเมืองของไทยครั้งใหญ่ ทรงโปรดให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า ส่งผลให้ปัญหาบ้านเมืองที่กำลังลุกเป็นไฟ คลี่คลายลง โดยที่ พล.อ.สุจินดายอมลาออก

“ท่านไม่ได้บอกว่า ใครผิดหรือใครถูก ท่านบอกแต่เพียงหากเป็นอย่างนี้ คนที่แพ้คือ ประชาชน หลังจากนั้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็มีสำนึกยอมลาออก” อดีตนายกฯ ย้อนอดีต

รวมทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2549 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสผ่านคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ในเรื่องของมาตรา 7 เรื่องนายกฯ พระราชทาน และให้ศาลร่วมกันคิดและร่วมกันแก้ไขอันเป็นวิกฤตชาติบ้านเมืองขณะนั้น

ล่าสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสแก่คณะผู้บริหารศาลปกครอง นำโดย อักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองที่ตุลาการรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะผลการตัดสินครั้งนี้อาจนำไปสู่วิกฤตการณ์บ้านเมืองของไทยครั้งใหญ่

หากพบว่าพรรคการเมืองมีความผิดและต้องยุบพรรค และผู้บริหารของพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกนนำของพรรค ถูกห้ามลงเล่นการเมือง 5 ปี ผลการตัดสินจะนำไปสู่ความรุนแรง จากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ที่มีอยู่หลายล้านคนทั่วประเทศ และทำให้บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหาความวุ่นวายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อคณะผู้บริหารศาลปกครอง ให้ตระหนักถึงการมีส่วนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ให้ตัดสินคดียุบพรรคด้วยความรอบคอบ ซื่อตรง ตรงไปตรงมา สะท้อนถึงความห่วงใยที่มีต่อประชาชน จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้สถานการณ์ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตได้คลี่คลายลง

เหตุการณ์ครั้งนี้ ยังได้รับสนใจจากสื่อต่างประเทศ เช่น สำนักข่าว เอเอฟพี ออกรายงานข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองไทย ระบุถึงการออกมาตอบรับกระแสรับสั่งจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากพรรคการเมืองที่ต้องถูกตัดสิน และในฟากของรัฐบาลว่าจะไม่มีการเผชิญหน้า หรือต่อสู้กับการตัดสิน

นับเป็นอีกวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยที่ต้องมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และสะท้อนถึงความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย ได้พระราชทานแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้ไทยพ้นวิกฤตการณ์ได้อีกครั้ง

ด้วยพระบารมีพระองค์บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยประชาชน และคลี่คลายวิกฤตการณ์บ้านเมือง พระองค์จึงเป็นที่พึ่งของคนไทยที่สถิตอยู่ในใจคนไทยตลอดกาล

พระราชประวัติโดยย่อ

– พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

– พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษา 18 พรรษาเศษ

– ทรงเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

– พระราชพิธีบรรพชาอุปสมบทของในหลวง เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง

ตราสัญลักษณ์ 80 พรรษา

ตราสัญลักษณ์ 80 พรรษา ออกแบบโดยใช้ตราสัญลักษณ์มีพระราชลัญจกร รัชกาลที่ 9 โดยมีพระมหาพิชัยมงกุฎ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระเศวตฉัตร ที่หมายถึงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ด้านล่างมีเลขไทย 80 และเพชร 80 เม็ด พร้อมแถบแพรสีชมพู หมายถึง สีอายุตามโหราศาสตร์ทักษาพยากรณ์ ตรงกับวันอังคารของพระองค์ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เขียนดอกพิกุลทอง 5 ดอก ดอกพิกุลเงิน 4 ดอก เพิ่มเติมที่แท่นแปดเหลี่ยมรองรับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์