hi5 มาแรงสุด Social Network แจ้งเกิดเต็มตัว

เช็กเมลครั้งหลังสุดเมื่อไหร่กันครับ เคยสังเกตมั้ยว่า มีเมลข้อความอะไรแปลกๆ ที่บอกมาว่าจากเว็บ hi5.com หรือมีชื่อเพื่อนเก่าของเราบอกว่า ขอเป็นเพื่อน และก็มาจากเจ้าเว็บ hi5 นี่เหมือนกัน

แรกๆ อาจรู้สึกว่าเป็นสแปมเมล หรือพวกเมลหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเราหรือเปล่า แต่พอชักจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ คุณก็อาจจะเริ่มเอะใจว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้น ในอินเทอร์เน็ตที่เราพลาดไปหรืออย่างไร

ขอบอกตามตรงแบบไม่เว่อร์ ถ้าวันนี้คุณยังไม่ได้ใช้ hi5 หรือไม่เคยรู้จัก hi5 แน่นอนคำตอบคือ “พลาด” ไปแล้วแน่ๆ และยิ่งถ้าคุณอยู่ในแวดวงการตลาดและพีอาร์ นี่คงบอกได้ว่า “พลาดครั้งใหญ่” เพราะเป็นครั้งแรกที่เน็ตเวิร์คของผู้ใช้และคนกลุ่มใหญ่ที่สุดมาจากกลุ่มเพื่อนของแต่ละคนซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ ได้เผยโฉมออกมาอย่างชัดเจนที่สุด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และระบาดต่อจากโลกออนไลน์สู่กลุ่มเพื่อนในชีวิตจริงของใครอีกหลายคน

ผลกระทบของเทรนด์ล่าสุดนี้ ไม่ได้หยุดแค่แวดวงการตลาด ซึ่งไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อเว็บดังระดับต้นๆ ของเมืองไทยอย่าง sanook.com และ kapook.com ต่างกระโดดเข้าเล่น hi5 เต็มตัวและเก็บเกี่ยวผลดีจากยอดคนเข้าเว็บที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางใหม่ ในขณะที่ pantip.com ที่เคยเป็นตำนานของเว็บและเว็บบอร์ดเมืองไทยก็เดิมพันอนาคตครั้งใหม่ ด้วยการซุ่มเงียบแล้วเปิดตัว Social Network ของตัวเองแบบเงียบๆ

หลักฐานทั้งหมดยืนยันชัดเจนที่สุด ว่า “Social Networking” ที่วงการมาร์เก็ตติ้งเมืองเมกาฮือฮากันนักหนาในรูปของ facebook.com และไซต์อื่นๆ อีกมากมายทั่วโลกได้แจ้งเกิดในเมืองไทยแล้วในรูปของ hi5 และปัญหาต่อไปที่ท้าทายคือ วงการการตลาดและพีอาร์เมืองไทยจะจัดวางเน็ตเวิร์คผู้คนขนาดมหึมานี้ที่ตรงจุดไหนดีในแผนที่การตลาดของตน!

เจ้า Social Network คืออะไร

ว่ากันตามจริง Social Network ยังไม่มีคำไทยเป็นทางการ และคงจะมีออกมาได้ยาก เพราะยังไม่ลงตัวกันว่าจะใช้อะไรดี มีการใช้คำว่า “เครือข่ายสังคม” บ้าง “เครือข่ายมิตรภาพบ้าง” “กลุ่มสังคมออนไลน์” แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ติดหู แม้แต่ในวงการสื่อเมืองไทยเองก็ยังละเลยประเด็นนี้อยู่มากในช่วงที่ผ่านมา

สรุปง่ายๆ คือบริการผ่านเว็บไซต์ที่เป็นจุดโยงระหว่างบุคคลแต่ละคนที่มีเครือข่ายสังคมของตัวเองผ่านเน็ตเวิร์คอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเชื่อมโยงบริการต่างๆ อย่าง เมล เมสเซ็นเจอร์ เว็บบอร์ด บล็อก ฯลฯ เข้าด้วยกัน

เครือข่ายนี้ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรใหม่ แต่ใหม่ตรงที่เอาเทคโนโลยีเดิมมาจับประเด็นสังคมที่ทุกคนมีกลุ่มทางสังคม

ลองนึกภาพว่าตัวเราแต่ละคนทุกวันนี้ มีกลุ่มทางสังคมที่ซับซ้อนมากแค่ไหน เพราะมีทั้งกลุ่มเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท เพื่อนสมัย ม.ปลาย เพื่อนประถม เพื่อนที่ทำงานเก่า เพื่อนแฟน เพื่อนแฟนเก่า เพื่อนกิ๊ก เพื่อนเล่นเอ็ม เพื่อนเล่นเกมออนไลน์ ญาติพี่น้อง ฯลฯ

แล้วก็ยังมีพวกกลุ่มความสนใจร่วมกันทำอะไรเหมือนๆ กัน ที่พร้อมจะจับกลุ่มรวมตัวกัน เช่น กลุ่มคนขี่จักรยานเสือภูเขา กลุ่มแฟนคลับ Death Note กลุ่มตามหาร้านอร่อย กลุ่มเที่ยวเดินป่า กลุ่มจังหวัด กลุ่มอำเภอ แฟนบอลทีมเดียวกัน กลุ่มคนรักรถเต่า กลุ่มคนใช้วีโก้ กลุ่มคนรักทักษิณ กลุ่มคนเชียร์ป๋าเปรม เป็นต้น หลายกลุ่มพวกนี้พร้อมจะก่อตัว แต่ยังหาที่ทางถนัดๆ ที่จะรู้จักและขยายวงมิตรภาพในโลกออนไลน์ไม่ได้

ลองนึกภาพต่อว่า คนทั้งหมดนี้ ที่มีอินเทอร์เน็ตและใช้บริการต่างๆ ออนไลน์ อย่าง เมล เมสเซ็นเจอร์ เว็บบอร์ด เว็บไซต์ที่เข้าประจำ ซึ่งแต่ละคนก็ใช้บริการคนละเจ้า คนละที่กัน คนหนึ่งอาจใช้ฮอตเมล อีกคนอาจใช้ยาฮู ไม่มีคนรู้จักกันไปมากกว่าการติดต่อ ไม่มีใครแน่ใจจริงๆ ว่า ตัวตนของอีกคนเป็นอย่างไร ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ

แต่อยู่มาวันหนึ่ง มีคนไอเดียเด็ดๆ คิดว่า ในโลกอินเทอร์เน็ตมันยุ่งเหยิงและแยกส่วนกันมากเกินไป การใช้งานที่ผ่านมามันอิงแต่เน็ตเวิร์คของคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีไอที แล้วทำไมไม่เอาใจผู้ใช้ที่อยากรู้จักกัน เจอกัน ด้วยการสร้างเน็ตเวิร์คทางสังคมขึ้นมาบ้างล่ะ

ประเด็นสังคมคือตัวนำแชร์ข้อมูลและตัวตนคือหัวใจ

ไอเดียก็คือว่า ทุกอย่าง ทุกบริการ และทุกคนในโลกออนไลน์น่าจะมีหน้าเว็บสักแห่ง ที่ใช้เชื่อมโยงกลุ่มคนในเน็ตเวิร์คเข้าด้วยกัน สร้างตัวตนขึ้นมาจากความว่างเปล่า และไม่ว่าตัวตนที่ว่านั้นจะจริงแท้ เท็จลวงอย่างไรก็ตาม มีจุดอ้างอิงซักแห่งที่ติดต่อกันโดยเชื่อมเครือข่ายสังคมและเครือข่ายมิตรภาพเข้าด้วยกัน ด้วยการแชร์รูป แชร์ไฟล์ดูกัน

ในเมืองไทยอาจเข้าใจกันว่า เครือข่ายแบบนี้เป็นเฉพาะเรื่องของวัยรุ่น แต่ที่เป็นจริงในประเทศอื่นที่เรากำลังมีแนวโน้มไปในทางนั้นก็คือ มีไซต์มากมายที่เป็น Social Network ในแง่ธุรกิจ การงาน ความสนใจทางสังคม การเมือง ศาสนา หาคู่ การกุศล การทำประโยชน์เพื่อสังคมและอื่นๆ อีกมากมาย

ประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจในการเข้าร่วมเครือข่าย Social Network พวกนี้ก็คือ หาเพื่อนสมัยเรียนเจอจากการคลิกลิงค์ของเพื่อน –ของเพื่อน-ต่อกันไปสามสี่ทอด เจอแฟนเก่าที่ขาดการติดต่อไปนาน พบเจ้านายใจดีสมัยที่เข้าทำงานใหม่ๆ รวมทั้งเจอกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เช่น คนรักภูกระดึง กลุ่มนักดำน้ำ คนบ้านเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังรู้ได้ว่าใครเป็นเพื่อนใคร ใครสนใจอะไร ฟังเพลงแบบไหน ต้องการและไม่ต้องการอะไร เกลียดและชอบอะไร รู้ได้ว่าตอนนั้นออนไลน์หรือไม่ ไปเที่ยวที่ไหนมา เรียนจากไหน ดูรูป ดูไฟล์ ที่โพสต์ไว้

บริการ Social Network ที่ดังที่สุดในอเมริกา คือ Facebook ที่ใช้ชื่อแบบนี้ก็เพราะในเวลาที่เราเบราส์หาข้อมูลเพื่อนเราไม่ได้ดูตามรายชื่อ หรือเสิร์ชจากข้อมูลอื่นๆ แต่ดูจากรูปหน้าของเพื่อนของเพื่อนที่มีอยู่ตรงหน้าโปรไฟล์ ว่าใช่เพื่อนคนนั้น หรือคนที่เราต้องการติดต่อหรือเปล่า ในทางกลับกัน ถ้าเราอยากจะหาเพื่อนสมัยปอสี่เจอ วิธีเดียวก็คือต้องโพสต์รูปจริงของเราลงไปด้วย เพราะถ้าเป็นรูปปลอมก็จะไม่มีใครหาใครได้เจอ ผลก็คืออย่างน้อยส่วนใหญ่ก็นิยมโพสต์รูปจริงกัน (แม้ว่ารูปของบางคนจะถ่ายมาดี หรือดูดีกว่าตัวจริงจนเพื่อนจำไม่ได้ก็ตามเถอะ)

และนี่คือคอนเซ็ปต์ใหม่ของการค้นหาข้อมูลในเน็ตที่เพิ่งบูมขึ้นมา และแสดงให้เห็นว่าโลกอินเทอร์เน็ตยังพร้อมเสมอที่จะมีลูกเล่นและวิธีการใหม่ๆ ในการใช้งานและค้นหาข้อมูลจากเดิมที่เคยคิดกันว่า โลกอินเทอร์เน็ตจะจบลงที่หน้าค้นหาไดเร็กทอรี่หมวดหมู่ของยาฮู แต่แล้วก็มีการค้นหาเสิร์ชในแบบกูเกิลขึ้นมา และตามมาด้วยการคลิกหาหน้าเพื่อนของเราเองในแบบ Facebook หรือ hi5 ที่รู้จักกันในเมืองไทย

แจ้งเกิดในไทยเต็มตัวการตลาดแบบเจาะกลุ่ม-ซึมลึก

หลายคนยังคิดว่า hi5 เป็นของเล่นอินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นที่จะหายไปเองเมื่อหมดความนิยมแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ผลที่ปรากฏจริงกับเกินคาด ไซต์ Social Network กำลังทำท่าจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน เหมือนอีเมล เหมือนเมสเซ็นเจอร์ เหมือนเกมออนไลน์ และอีกๆ หลายอย่างที่นักการตลาดไดโนเสาร์เคยมองว่า เป็นแค่กระแสวูบวาบสมัยนิยม

เริ่มจากวัยรุ่นและคนเล่นเน็ตกลุ่มหนึ่งสองปีก่อนที่เริ่มเล่น hi5 โดยมากก็เพื่อหาของเล่นใหม่ โพสต์รูปภาพ และหาเพื่อนออนไลน์รวมทั้งจีบกัน ในตอนนั้นถึงแม้จะมีใช้งานเน็ตเวิร์คอื่นบ้างก็ตาม แต่ในที่สุดดูเหมือนเครือข่าย hi5 จะได้รับความนิยมมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่นที่ใกล้เคียงกัน

กลุ่มคนเล่นเริ่มระบาดลามไปเรื่อย จากเพื่อนถึงเพื่อน และเพื่อนของเพื่อน ในที่สุดก็เริ่มขยายออกพ้นกลุ่มวัยรุ่นมาสู่รุ่นพี่ ไปสู่คนทำงาน คนใช้เน็ตที่มีอายุมากขึ้น หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ที่ต่างอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะทีช่วงสามเดือนหลังของปีที่ผ่านมา ก็คือ การรวมกลุ่มแบบที่นักการตลาดเรียกว่าการขยายตัวแบบไวรัสนี้ขยายตัวอย่างเต็มที่ชนิดฉุดไม่อยู่ ใครที่ยังไม่ได้ใช้ hi5 ก็ถูกเพื่อนๆ ส่งเมลมาชวน เอ็มมาชวนให้เข้าร่วม หรือแม้แต่โทรศัพท์มาชวนก็มี

ถึงยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ แต่คงจะพอบอกได้จากการประเมินว่าในขณะนี้กลุ่มผู้ใช้ hi5 ได้ระบาดเข้ากลุ่มผู้ใช้ในระดับวัยทำงานที่อยู่ในกลุ่มอายุ 21- -30 ปี ไปเรียบร้อยแล้ว

จุดเด่นที่น่าสนใจของเครือข่ายมิติใหม่นี้อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สร้างกลุ่มความสนใจขึ้นมาเอง หรือไปเข้าร่วมกลุ่มที่มีอยู่เดิม กำลังเปิดโอกาสให้เห็นช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะเจาะถึงตัวกลุ่มผู้ใช้โปรดักส์โดยตรง เช่นผู้ใช้กล้อง คนใช้รถ ลูกค้าร้านอาหารหรือผับ ฯลฯ นอกจากจะสร้างแบรนด์และตอกย้ำแบรนด์แล้ว ยังเป็นช่องทางที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยในการส่งข่าวประชาสัมพันธ์

ปัจจุบันยังไม่เห็นกลุ่มในลักษณะนี้มากนัก ยกเว้นกลุ่มแฟนคลับวงดนตรียอดนิยม แต่อนาคตน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากผลของจำนวนยูสเซอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและธรรมชาติของมนุษย์เราที่ต้องการจับกลุ่มทางสังคม

ในหลายธุรกิจ การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและแบรนด์เป็นเรื่องจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ ค่ายรถยนต์แต่ละเจ้าเสียงบประมาณมหาศาลในการทำตรงนี้ หรือแม้แต่โปรดักส์อื่นๆ ก็สามารถนำเอา Social Network เป็นช่องทางการตลาดและประชาสัมพันธ์ราคาประหยัดได้เช่นกัน

“การให้ยูสเซอร์มีส่วนในการแชร์ข้อมูลกัน และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สามารถหาการสัมพันธ์ระหว่างคนได้ เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถเปิดโอกาสให้ “คนใช้” สามารถใส่ “ความเป็นตัวของตัวเอง” เข้าไปในอินเทอร์เน็ต ได้มากกว่าตัวอื่นๆ และยังสามารถแชร์และสร้างความเป็นตัวตน เมื่อมีคนเข้ามาใช้มากขึ้นก็เริ่ม กลายเป็นเทรนด์และมาตรฐานที่ใครไม่มีก็จะเริ่มเชย”

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด และอุปนายก สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในผู้ใช้ hi5 รุ่นแรกๆ ให้สัมภาษณ์กับ POSITIONING ถึงความเห็นว่า ในแง่แอพพลิเคชั่นตัวนี้มีอะไรน่าสนใจ ทำไมถึงประสบความสำเร็จในไทย

นอกจากนี้ เบื้องหลังคือการจับถูกจุด ในจังหวะที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

“แต่จริงๆ จุดสำเร็จของ hi5 ก็คือ “การเชื่อมเข้ากับผู้ใช้ hotmail ซึ่งเมืองไทยมีเยอะมาก” แล้วมันก็ลามไปในกลุ่มผู้ใช้ hotmail ก็ hi5 ตอนเริ่มต้นที่ใช้ สามารถใช้แอคเคานต์ของ hotmail ได้เลย ดังนั้นมันคือกุญแจดอกใหญ่ ที่คนไทยส่วนใหญ่มีทุกคน ในขณะที่ hotmail ในส่วนของวินโดวส์ไลฟ์ มันยังไม่ User Friendly พอ”

“จริงๆ ส่วนใหญ่ hi5 ที่คนใช้คือแกลเลอรี่ภาพ และสร้างการเชื่อมโยง และมีการดึงมาว่า “มีใครบ้างเป็นเพื่อนคนนี้” ซึ่งอันนี้ Live ไม่มี ดังนั้น คนที่ใช้ hi5 จะสามารถเห็นเพื่อนของคนคนนั้นไปได้เรื่อยๆ ๆ จนทำให้การเล่นเน็ตของคนคนนั้นที่เข้ามาที่ hi5 มันต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ จากการเชื่อมโยงของคน และต่อกันโดยอาศัย ภาพ และความเป็นส่วนตัวของแต่ละคน”

“ตอนนี้มีเยอะครับ มีอีคอมเมิร์ซหลายอย่างเริ่มนำเรื่องพวกนี้มาใช้เช่นพวก Affiliate Marketing ให้คนทั่วไปมาสมัคร แล้วนำสินค้าเค้าไปขายผ่านใน Social Network ของเค้า อย่างเช่น A-Store ของ Amanzon หรือ cj.com” ภาวุธยืนยันถึงการใช้งานโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คให้เป็นประโยชน์ในทางการตลาดและพีอาร์ และรวมถึง hi5 ในอนาคตด้วย

“hi5 ต้องเอามาใช้ในการพีอาร์ครับ มีหลายคนทำแล้ว เช่นการสร้างกลุ่มของยูสเซอร์ที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน แล้วให้คน Add เข้ามา มันก็กลายเป็น Community ของสินค้า หรือคนที่ชอบได้หากสร้างดีๆ เด่นๆ มันก็สามารถดึงคนเข้ามาร่วมกันได้ ผ่าน hi5 ได้เช่นกัน”

เว็บยักษ์ใหญ่เมืองไทยพลิกเกมรับสถานการณ์

เดิมกลุ่มผู้ใช้เว็บเมืองไทยกระจายตัวไปตาม “ผู้ใช้เว็บ” เช่น คนที่เข้ากะปุก หรือเว็บอื่น นอกจากนี้ยังกระจายตัวไปตาม “ผู้ใช้เซอร์วิส” หรือบริการต่างๆ เช่น ใช้เมลของ yahoo.com หรือ hotmail เป็นต้น

แต่สถานการณ์ที่น่าสนใจกำลังเกิดขึ้นในยุคที่ Social Network มาแรง ก็คือกลุ่มยูสเซอร์ที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช้สนุก หรือกะปุก แต่กลายเป็นกลุ่มยูสเซอร์ hi5 เพราะกลุ่มนี้ได้รวมทุกกลุ่มเอาไว้ในตัวเอง เหมือนเป็นโครงข่ายมิตรภาพขนาดใหญ่ที่ดูดทุกกลุ่มเอาไว้

“ผลกระทบตอนนี้คือบล็อกไทยหรือไดอารี่หลายตัว ผู้ใช้ลดลง” ผู้บุกเบิกวงการเว็บเมืองไทยรายหนึ่งเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันพร้อมกับเสริมว่าหลายเว็บต้องปรับตัว

รายที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างชัดเจน คงไม่เกินสนุกดอตคอมที่ให้บริษัทลูกที่จับงานโฆษณาออนไลน์โดยเฉพาะคือ Topspace คว้าสิทธิในการดูแลและบริหารงานขายโฆษณาในเครือข่ายของ hi5 ทั้งหมด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากเปิดหน้าเซอร์วิสภาษาไทยอย่างเป็นทางการ (ก่อนหน้านี้ยูสเซอร์ไทยใช้หน้าภาษาอังกฤษ)

แหล่งข่าวอดีตผู้บริหารเอ็มเว็บรายหนึ่ง ออกความเห็นว่า จุดพลิกผันที่ทำให้สนุกเน็ตเวิร์ค กลับมาอีกครั้งอยู่ที่สองความเคลื่อนไหวที่สำคัญ นั่นคือ การทิ้งแบรนด์เอ็มเว็บที่ผู้บริหารฝรั่งพยายามสร้างแต่ไม่สำเร็จกลับมาใช้แบรนด์ Sanook กับการกระโดดเกาะกระแส Social Network อย่าง hi5 เต็มตัว

อีกรายคือ kapook.com ที่ไวสถานการณ์ไม่แพ้กัน ด้วยการเปิดหน้าแนะนำวิธีใช้ hi5 อย่างละเอียด พร้อมเปิดบริการให้โหลดภาพ สำหรับ “คอมเมนต์” ตามโปรไฟล์ของผู้เล่น hi5 ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ใช้ชาวไทยเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่ pantip.com ซึ่งเป็นเน็ตเวิร์คขนาดใหญ่ ได้เปิดบริการ Social Network ของตัวเองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และในคำอธิบายการใช้งานของแอพพลิเคชั่นใหม่ตัวนี้ ก็ระบุถึงอิทธิพลของ hi5 อย่างชัดเจนว่า…

“โปรแกรมนี้ จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับสมาชิกพันทิป เพื่อให้กลุ่มสมาชิกใช้ติดต่อสื่อสารในกลุ่มเพื่อน และสร้างสังคมออนไลน์ที่มีคุณภาพร่วมกัน โปรแกรมนี้มีลักษณะคล้ายโปรแกรม hi5 ที่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรู้จักกัน โดยมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างจาก hi5 ตามความเหมาะสม ของกลุ่มผู้ใช้พันทิป และมีการเพิ่มเติมบริการบางอย่างของสมาชิกพันทิปไว้ เพื่อให้สมาชิกได้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น…”

คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า การกระโดดรับกระแสโลกและค่าย Social Network จากต่างแดน กับการสร้างขึ้นเองเพื่อรองรับฐานผู้ใช้เดิม แบบไหนจะเอื้อกับสถานการณ์ในอนาคตยิ่งกว่า

คำถามยอดนิยมที่มักถามกันก็คือ อนาคตของเครือข่ายสังคมออนไลน์แบบนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป คำตอบที่จริงใจที่สุดก็คือยังไม่มีใครรู้ เหตุเพราะทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก และการบูมอย่างหนักในไทยเพิ่งเกินในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี่เอง

เว็บอเมริกันหัวใจต่างแดน

ในปัจจุบันทั้งเมืองไทยและเมืองนอก ต่างมีเครือข่ายเน็ตเวิร์คสังคมเกิดขึ้นมากมาย ในชื่อต่างกันสารพัด พร้อมจับตลาดต่างกันอย่างเช่น Yahoo!360, LinkedIn, Facebook, MySpace, Bebo, Orkut, BlackPlanet, ClubPenguin, GaiaOnline, myYearbook, hi5, Classmates เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี Mixi ในตลาดญี่ปุ่น และ Skyrock ในประเทศฝรั่งเศส

แต่แทนที่จะจับตลาดอเมริกาอย่างเจ้าอื่น ยุทธศาสตร์ของ hi5 มาเหนือชั้นด้วยการลุยตลาดประเทศอื่นๆ เสียก่อน เจาะตลาดสำเร็จในประเทศแทบยุโรป ละตินอเมริกา และไทย จนมีผู้ใช้มากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกหลังจากเปิดตัวมาได้ไม่ถึงห้าปี และยังเพิ่งเปิดตลาดจีน เมื่อตรุษจีนที่ผ่านมาหลังจากได้เงินกู้อีก 15 ล้านเหรียญจากนายทุนรายใหม่มาขยายเน็ตเวิร์คออกไป

วิธีเจาะตลาดนอกอเมริกากำลังให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีการแข่งขันน้อยกว่าแล้ว ด้านสถิติยังเข้าข้างเช่นกัน จากการสำรวจของ ComScore MedaiaMatrix พบว่า ผู้ใช้ Social Network ทั่วโลกมีประมาณ 506.1 ล้านราย เพิ่มจากเมื่อปีก่อน 36 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผู้ใช้ในเอเชียแปซิฟิกราว 176.5 ล้านราย เป็นภูมิภาคที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ในขณะที่ยุโรปมีผู้ใช้ 137.8 อเมริกาเหนือมีเพียง 126.5 ล้านรายเท่านั้น แถมยังมียอดขยายตัวปีต่อปีสูงเป็นอันดับสองของโลกคือ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นรองตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ได้ไป 69 เปอร์เซ็นต์

เมื่อมองข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก 1.2 พันล้านราย มี 80 เปอร์เซ็นต์อยู่นอกสหรัฐฯ และ ครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ 40 พันล้านเหรียญอยู่นอกตลาดอเมริกา การลงทุนนี้ก็ดูสดใสคุ้มค่าความเสี่ยงมากทีเดียว

และการจับตลาดต่างแดนอย่างเหนียวแน่นนี่เองที่ทำให้ hi5 กลายเป็นดาวดวงเด่นขึ้นมาในกลุ่ม Social Network จากความสำเร็จขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในหลายประเทศ รูปแบบโปรแกรมใช้ง่าย และการเปิดกว้างในการปรับคอนเทนต์หรือเลือกใช้พันธมิตรในพื้นที่อย่างเช่นท็อปสเปซในไทยนี่เองที่กำลังทำให้หลายคนจับตามอง hi5 ถึงจะไม่เป็นเบอร์หนึ่งในอเมริกาก็จริง แต่อาจวางตัวได้ไกลขนาดเป็นเครือข่ายระดับโลกก็เป็นได้

สำหรับเมืองไทยเองถึงแม้จะมีผู้ใช้เครือข่ายอื่นอยู่บ้าง แต่ในท้ายสุด พฤติกรรมยูสเซอร์จะพัฒนาไปในทางเดียวกันเหมือนตลาดเมสเซ็นเจอร์ ที่ค่าย MSN (วินโดวส์ไลฟ์) ครองผู้ใช้กว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ใช้จะเล่นเน็ตเวิร์คที่คุยกับเพื่อนได้เสมอ ในกรณี hi5 ก็เช่นกันสุดท้ายสถานการณ์จะบีบให้คนใช้รายอื่นต้องหันมาใช้ hi5 แทน หรือเปิดควบคู่ Social Network เจ้าอื่นไปด้วย

และยิ่งในสภาพได้เปรียบในปัจจุบันที่เว็บสองค่ายหลักเมืองไทยหันมาชูธงหนุน hi5 เต็มตัวแบบนี้ คงมองเป็นอื่นไม่ได้ว่า ผู้ชนะในเกม Social Network เมืองไทยก็คือ hi5.com ผู้นี้นี่เอง!

Top Sites in Thailand อ้างอิงจาก : http://www.alexa.com/site/ds/top_sites?cc=TH&ts_mode=country&lang=none