ไอพีพีเอสหนุนภาครัฐใช้ไอทีเต็มรูปแบบ เผยทิศทางตลาดอีเพย์เมนต์เติบโตสูงขึ้น

ไอพีพีเอสเผยทิศทางตลาดอีเพย์เมนต์กำลังไปได้สวย หลังรัฐบาลออกกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเปิดตลาดเสรีอาเซียน พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีลูกค้าเพิ่มมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2 ล้านราย และสร้างรายได้ประมาณ 350-450 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมียอดการใช้บริการผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 100,000-200,000 ครั้งต่อวัน

ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด หรือ IPPS เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐสนับสนุนในการพัฒนามาตรฐานสมรรถนะสำหรับผู้ใช้ไอที ( Digital Literacy) เพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังคนในการรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นคาดว่าจะทำให้ตลาดอีเพย์เมนต์เติบโตสูงขึ้น โดยไอพีพีเอสจะเน้นการทำตลาดไปที่โมบายเพย์เมนต์แอปพลิเคชัน ที่จะนำไปสู่กลุ่มการตลาดที่กว้างขึ้น  ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่พร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะการมาของ 4G จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถใช้ช่องทางดิจิตอลในการชำระเงินได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันคนไทยนิยมใช้การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งเป็นอันดับ 1 รองลงมา เป็นบัตรเครดิตและโมบายเพย์เมนต์ ตามลำดับ ส่วนในอนาคตคาดว่าการใช้งานโมบายเพย์เมนต์จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากการที่มีการเปิดเสรีอาเซียนในปีนี้ ทำให้ตลาดแรงงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งแรงงานกัมพูชา เมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม  ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ทำให้รูปแบบของการโอนเงินระหว่างประเทศในรูปแบบอีเพย์เมนท์เป็นทางเลือกใหม่ ที่เหมาะสำหรับแรงงานที่ไม่มีบัญชีเงินฝากในประเทศไทย รวมไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในไทยด้วย

ขณะนี้ไอพีพีเอส มีการลงทุนวางระบบโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วประมาณ 200 ล้านบาท และเตรียมใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 100 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมไปถึงการวางระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยตั้งเป้าหมายจะมีลูกค้าเพิ่มมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2 ล้านราย และสร้างรายได้ประมาณ 350-450 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดการใช้บริการผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 100,000-200,000 ครั้งต่อวัน และมีลูกค้าใช้บริการประมาณ 1 ล้านราย ผ่านธุรรมทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเติมเงินผ่านตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ATM ธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส บิ๊กซี เทสโก้โลตัส เป็นต้น

“ปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก สำหรับกลยุทธ์ของไอพีพีเอส นั้นจะเข้าไปเจาะช่องทางที่คู่แข่งยังไม่ได้ไป โดยจะชูจุดเด่นตรงที่สามารถเติมเงินได้หลากหลายช่องทางกว่า เติมเงินขั้นต่ำได้ต่ำกว่า ที่สำคัญคือ ไอพีพีเอสเป็นผู้ให้บริการด้านนี้โดยตรง เป็นกลาง ทุกบริษัทสามารถเข้ามาใช้ระบบของไอพีพีเอสได้ และเป็นพันธมิตรได้กับผู้ประกอบการทุกราย โดยการแข่งขันทางตลาดของธุรกิจนี้ มีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง  แต่จะไม่แข่งขันกันทางด้านค่าธรรมเนียม แต่จะอยู่ที่การแข่งขันกันทางด้านโปรโมชั่นมากกว่า” ดร.กนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย