“ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ลุยร้านราเมง ฮุบ “โคราคุเอ็น”

ตลาดอาหารญี่ปุ่นในเซ็กเมนต์ของร้านราเมงยังคงเป็นเรดโอเชียนที่มีผู้เล่นใหม่ๆ ลงมาเสมอ มีทั้งรายใหญ่ในไทย และร้านอิมพอร์ตจากญี่ปุ่น ทำให้ปัจจุบันมีร้านราเมงมากกว่า 1,000 ร้านในประเทศไทย 

แต่การแข่งขันก็ดูเหมือนจะไม่ง่ายมากนัก เพราะผู้เล่นรายใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง “โคราคุเอ็น ราเมง” ที่ได้เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2555 จากเดิมที่มี 6 สาขา แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพื่อพยุงธุรกิจต่อ เพราะตอนแรกได้เข้ามาทำตลาดแบบ Direct Operation แต่ด้วยการบริหารด้วยความที่เป็นญี่ปุ่นมากเกินไป และไม่ชำนาญด้านทำเล ทำให้การขยายสาขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

1_ramen

ดีลนี้จึงมาคลิกกับทาง “ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ที่มีความสนใจอยากเปิดร้านราเมงอยู่แล้ว และได้พูดคุยกัน 3 เดือนจึงทำการร่วมทุนกึ่งเทกโอเวอร์ เปิดเป็น “บริษัท เพรซิเดนท์ โคราคุเอ็น จำกัด” ด้วยเงินลงทุน 25 ล้านบาท มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 70% บริษัท โคราคุเอ็น โฮลดิ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด 14% และบุคคล 16%

ทำให้สิทธิ์การบริหารร้านเป็นของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ โดยที่ทางโคราคุเอ็นไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งนี้ทางไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ยังได้ซื้อในส่วนของโรงงานผลิตเส้นราเมงมาด้วย แต่ไม่เปิดเผยมูลค่า จากเดิมตั้งอยู่ที่มหาชัย แต่จะทำการย้ายมารวมกันที่ศรีราชา

Tsutae Niida ประธานบริษัท Kourakuen Holding Corporation กล่าวว่า “ตอนแรกที่เข้ามาทำตลาดตั้งเป้าขยาย 100 สาขาในไทย แต่เราไม่ชำนาญด้านทำเลและหลายๆ อย่าง จึงต้องมองหาโลคอลพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างการเติบโต ตอนแรกคุยกับทางไทยเพรซิเดนท์ในลักษณะของการขายแฟรนไชส์ แต่เห็นว่ามีศักยภาพจึงทำการร่วมทุนกัน”

2_ramen

ร้านโคราคุเอ็นภายใต้ชายคาใหม่จึงเริ่มต้นจาก 2 สาขาที่ทำกำไรดีที่สุด คือ สาขาเกตเวย์เอกมัย และเจพาร์ค ศรีราชา ส่วนอีก 4 สาขาได้ทำการปิดบริการไปเพราะไม่สร้างกำไร และเร่งปั๊ม 30 สาขาภายใน 5 ปี

จุดแข็งที่โคราคุเอ็นจะใช้เพื่อสู้ในตลาดราเมงหลักๆ เป็นในเรื่องของเมนูที่มีความหลากหลายทั้งราเมง เมนูข้าว และเกี๊ยวซ่า รวมถึงราคาในระดับกลาง ในขณะที่ร้านราเมงอิมพอร์ตจะมีราคาแพง 100-300 บาท

และตั้งเป้ารายได้ภายใน 1 ปีนี้ 40 ล้านบาท โดยที่ปีนี้ยังไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติม

3_ramen