ทำไมต้อง Google Duo?

หลังจากประกาศต่อชาวโลกเมื่อกลางปีว่ากำลังพัฒนาแอปพลิเคชันวิดีโอคอลล์ใหม่ถอด ด้ามชื่อ ‘ดูโอ’ (Duo) ล่าสุดกูเกิลจุดพลุเปิดใช้งานทั่วโลกพร้อมเพรียงรวมถึงประเทศไทย นัยสำคัญมากมายซ่อนไว้ภายใต้จุดเด่นของ Duo ที่อาสาตัวเป็นผู้ช่วยให้การสื่อสารแบบเห็นหน้าระหว่างต้นสายและปลายสายที่ ใช้อุปกรณ์คนละค่ายทำได้ง่ายขึ้น เรียกว่าเป็นการท้าชนคู่แข่งทุกสถาบันบนคำการันตีว่าลื่นไหลมากกว่า

ข้ามค่ายง่ายขึ้น

กูเกิล (Google) และแอปเปิล (Apple) นั้นเป็นบริษัทไอทีที่แข่งขันกันมานานในสังเวียนอุปกรณ์พกพา แอปเปิลโชคดีที่ออกหมัดเด็ดด้วยอุปกรณ์ชื่อก้องอย่างไอโฟน (iPhone) จนสามารถครองตลาดใหญ่ได้สำเร็จ แน่นอนว่ากูเกิลไม่ยอมแพ้ และโต้กลับด้วยการลับคมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชันซีรีส์ใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เพื่อให้สามารถทำงานกับอุปกรณ์ที่ครอบคลุมมากกว่าแอปพลิเคชันของแอปเปิล

การเปิดให้ทั่วโลกใช้งานแอปพลิเคชันวิดีโอคอลล์ใหม่ Duo อย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาจึงเป็นการขีดเส้นใต้ของกูเกิล ถึงความพร้อมเป็นคู่แข่งกับบริการเฟซไทม์ (Apple FaceTime) แอปพลิเคชันวิดีโอคอลล์ที่แอปเปิลสงวนไว้ให้ชาวแอปเปิลด้วยกันใช้งานเท่านั้น

Duo เปิดกว้างให้ชาวแอนดรอยด์และชาวไอโฟนสามารถโทร.หากันแบบเห็นภาพวิดีโอได้อย่างเสรี ความเสรีนี้เองที่ทำให้ Duo ถูกมองว่ามีโอกาสสูงที่จะครองใจผู้ใช้ไอโฟนได้สำเร็จเช่นเดียวกับแอปพลิเคชันอื่นของกูเกิล ทั้ง Google Maps, Google Photos และ Google Docs ที่มีผู้นิยมใช้งานมากกว่า Apple Maps, Photos และ Notes เนื่องจากสามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์ที่หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นบนคอมพิวเตอร์แมค (Mac), พีซีระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows PC), อุปกรณ์แอนดรอยด์ และไอโฟน

เรื่องนี้ กูเกิลระบุในแถลงการณ์ชัดเจนแม้จะไม่มีการเอ่ยถึงชื่อแอปเปิล โดยบอกว่าผู้ใช้จะไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนหรือปลายสายจะใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกันหรือไม่ ซึ่งความกังวลนี้เองที่ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลย เมื่อการสำรวจล่าสุดพบว่าผู้ใช้กลุ่มผู้ใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งในสหรัฐฯไม่เคย ใช้งานวิดีโอคอลล์บนอุปกรณ์พกพา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์บนสุดที่กูเกิลวางไว้เบื้องหลังการออกแบบแอปพลิเคชันหลากชนิด คือการดึงดูดผู้ใช้ไอโฟนให้หันมามองแอนดรอยด์ เหตุผลเพราะกูเกิลตั้งใจออกแบบแอปพลิเคชันของตัวเองให้ทำงานได้ดีกว่าบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ จุดนี้ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบใช้งานแอปพลิเคชันกูเกิลไม่ได้มีความจงรักภักดีกับแบรนด์แอปเปิลมากนัก

นิค ฟ็อกซ์ (Nick Fox) ประธานฝ่ายบริการกลุ่มสื่อสารของกูเกิล ผู้ร่วมงานกับกูเกิลมานานกว่า 13 ปี ระบุว่าพันธกิจสูงสุดของบริษัทในการสร้าง Duo คือการปั้นแต่งบริการคุณภาพที่สามารถชวนให้ผู้ใช้แอนดรอยด์หันมาสื่อสารกันผ่านวิดีโอมากขึ้น โดยยอมรับว่าการทำให้อุปกรณ์แอนดรอยด์น่าสนใจมากกว่าไอโฟนนั้นเป็นพันธกิจรอง บนแรงดึงดูดของ Duo เรื่องการใช้งานง่าย รวดเร็ว และรองรับได้บนอุปกรณ์หลากหลาย

‘เรามองว่าวิดีโอคอลล์ควรเปิดกว้างสำหรับทุกคน’ ผู้บริหารกูเกิลระบุ ‘หากเราสามารถวิดีโอคอลกับคนรู้จักได้แค่ครึ่งเดียว แปลว่าบริการนี้กำลังถูกจำกัดอย่างมาก’

ดูเหมือนว่าแอปเปิลจะไม่เดือดร้อนอะไรกับความเคลื่อนไหวของกูเกิล โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทิม คุก (Timothy D. Cook) ซีอีโอแอปเปิลให้สัมภาษณ์ว่าอัตราผู้ใช้แอนดรอยด์ที่เปลี่ยนมาใช้ไอโฟนนั้น สูงสุดในรอบ 9 เดือน น่าเสียดายที่ไม่มีการเปิดเผยจำนวน

559000008440203

ฮีโร่กู้วิกฤติกูเกิล

นักวิเคราะห์มองว่า Duo คืออีกหนึ่งความหวังของกูเกิลในการแทรกตัวเข้าสู่อ้อมใจของผู้บริโภคในฐานะ เครื่องมือสื่อสาร เพราะหลังจากการประสบความสำเร็จเป็นพลุแตกของกูเกิลในการบุกตลาดอีเมลในปี 2004 ด้วยจีเมล (Gmail) กูเกิลก็ไม่สามารถเสนอเครื่องมือแชตหรือบริการรับส่งข้อความสนทนาที่ครองใจ วัยรุ่นในยุคที่อีเมลลดบทบาทลงได้อย่างโดดเด่นอีกเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นคือวันนี้กูเกิลมีแอปพลิเคชันด้านการแชตมากกว่า 5 บริการในมือ ที่ยืนของ Duo ในจักรวาลแอปแชตของกูเกิลนั้นถูกวางไว้ใต้ ‘แฮงเอาท์’ (Google Hangouts) พี่ใหญ่ของน้อง ๆ ที่เน้นกลุ่มผู้ใช้องค์กรบริษัทใหญ่ให้การคุยผ่านวิดีโอทำได้พร้อมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ขณะที่ Duo เน้นบริการวิดีโอคอลล์แบบคุยเป็นคู่ หนึ่งต่อหนึ่ง

นอกจาก FaceTime ความเป็นบริการที่เน้นการสื่อสาร 1 ต่อ 1 ทำให้แอปน้องใหม่ของกูเกิลถูกมองว่าจะเป็นคู่แข่งของทุกค่าย ทั้งสไกป์ (Skype) จากไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊กแมสเสนเจอร์ (Facebook Messenger) ไลน์ (LINE) ว็อตสแอป (WhatsApp) สแนปแชต (Snapchat) รวมถึงทุกบริการที่เปิดให้ผู้ใช้คอนซูเมอร์ทั่วไปโทร.ติดต่อกันผ่านวิดีโอ

แม้จะถูกมองว่ากำลังไล่ตาม แต่ผู้บริหารกูเกิลมีความมั่นใจว่าการไล่ตามนี้มีโอกาสชนะสูง โดยเมื่อพิจารณาจากประวัติการต่อสู้ของกูเกิล กูเกิลมักเกิดช้ากว่าคู่แข่งในตลาดนานหลายปี แต่สามารถคว่ำคู่ต่อสู่และขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งได้สำเร็จ

559000008440204

ผู้บริหารกูเกิลยกตัวอย่าง Gmail ที่เริ่มให้บริการในปี 2004 ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 6 ปีหลังจากยาฮูเมล (Yahoo Mail) เปิดให้บริการจนติดตลาด วันนี้กูเกิลจัดเต็มให้พื้นที่เก็บอีเมลฟรีแก่ผู้ใช้หลายร้อยล้านคน บนฐานะผู้ให้บริการอีเมลอันดับ 1 ของโลก

ยังมีเบราว์เซอร์ของกูเกิลอย่าง Chrome ซึ่งจุดพลุในปี 2008 ช้ากว่าเจ้าตลาดนับ 10 ปีหลังจากที่ไออี (Internet Explorer) ของไมโครซอฟท์ผูกขาดตลาดมาตลอด แน่นอนว่าวันนี้โครมกลายเป็นเบราว์เซอร์อันดับ 1 ที่ชาวออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกใช้งาน

ทั้งหมดทั้งมวล ผู้บริหารกูเกิลย้ำว่าความสำเร็จเหล่านี้เริ่มจากจุดเริ่มต้นเดียวคือการส ร้าง ‘บริการที่ยอดเยี่ยม’ ขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก หากบริการนี้โดนใจผู้ใช้ การบอกต่อก็จะตามมา และความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นในที่สุด

นี่กระมัง ที่จะเป็นคำตอบของคำถามว่า ‘ทำไมต้องเป็น Duo?’

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000082835