กรุงศรีฯ เล็งตั้งกองทุน VC ไตรมาส 4 หลังร่วมปั้น 15 สตาร์ทอัปฟินเทคไทย

กรุงศรีฯ เตรียมตั้งกองทุน VC วางงบประมาณเบื้องต้นพันล้านบาทในการลงุทนสตาร์ทอัปเกี่ยวกับฟินเทคใน 5 ปีข้างหน้า ในช่วงไตรมาส 4 หลังประสบความสำเร็จในการจัดตั้งโครงการ “กรุงศรีไรซ์” ที่เป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัปทางด้านฟินเทค 15 ทีม ที่มีโอกาสในการเสริมความแข็งแรงในอุตสาหกรรมการเงิน ก่อนลุยต่อยอดโครงการในปีถัดไป เพื่อปรับให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอล แบงกิ้ง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการจัดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัป “กรุงศรีไรซ์” ขึ้นมาทำให้ได้เห็นถึงมุมมองของสตาร์ทอัป โดยเฉพาะในกลุ่มฟินเทคว่า มีการเปลี่ยนแปลง ได้เห็นพัฒนาการจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า สตาร์ทอัปไทยมีการนำเสนอโซลูชั่นที่น่าสนใจ มีพัฒนาการในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการ

“ช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยเกิดเวทีบ่มเพาะสตาร์ทอัปขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เหล่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ได้เกิดการฝึกฝน เรียนรู้ เข้าถึงโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาโซลูชั่นที่สมบูรณ์ออกมาได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันผลักดันฟินเทค ไม่ว่าจะเป็นชมรมฟินเทค ธนาคารแห่งประเทศไทย คปภ. ซึ่งถือว่าเป็นจุดพีคในอุตสาหกรรม”

สำหรับกลุ่มธุรกิจฟินเทค ที่ธนาคารกรุงศรีฯ ให้ความสนใจ จะอยู่ในกลุ่มของโรโบแอดไวเซอร์ที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์การลงทุน กลุ่มธุรกิจประกัน กลุ่มแมชชีนเลิร์นนิ่ง กลุ่มโมบายแอปพลิเคชั่น ระบบระดมเงินทุน รวมถึงบล็อกเชน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงคัดเลือกว่าจะใช้งานจากกลุ่มสตาร์ทอัปในประเทศไทย หรือเลือกนำโซลูชันจากฟินเทคในต่างประเทศเข้ามาใช้งาน

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีฯ ยังมีแผนที่จะจัดตั้ง กรุงศรีฯ เวนเจอร์ แคปปิตอล ให้กลายเป็นหน่วยงานลงทุนในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัปในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยวางงบประมาณในการลงทุนไว้ที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 พันล้านบาท) ในการลงทุนต่อเนื่อง 5 ปีข้างหน้า ที่จะเน้นในบริการที่สามารถต่อยอดเพื่อขยายไปให้บริการในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ก่อนขยายเข้าสู่การให้บริการในระดับภูมิภาค

“การจัดตั้งกองทุนนอกจากจะเปิดโอกาสให้ทางกรุงศรีฯ สร้างรายได้จากการลงทุนในระยะยาวแล้ว ยังมีอีก 2 มิติที่น่าสนใจ คือ เป็นการช่วยผลักดันสตาร์ทอัปให้สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และอีกมิติ คือ เมื่อมีการลงทุนจะทำให้สามารถเข้าถึงอีโคซิสเตมส์ในฟินเทค เพื่อสร้างความเข้าใจในธุรกิจให้ดีขึ้นด้วย”

ทั้งนี้ นายฐากร เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการจัดทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัปว่า เริ่มมาจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กรุงศรีฯ เริ่มขยับในการศึกษาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในจังหวะที่ธนาคารไม่ได้เตรียมความพร้อมถึงสิ่งที่จะมาถึง ทำให้เห็นถึงแนวคิดแปลกๆ ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ธนาคารในอนาคต โดยอยากจะให้กรุงศรีฯ เป็นส่วนร่วมในการที่จะทำให้สตาร์ทอัป และฟินเทคในประเทศไทย สามารถพัฒนา และแข่งขันกับต่างประเทศได้

“เป้าหมายหลัก คือ อยากจะได้เห็นสตาร์ทอัปที่เป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย มาช่วยพัฒนาสถาบัน และอุตสาหกรรมทางการเงิน หรือหลายๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องให้แข็งแกร่ง ซึ่งทางกรุงศรีฯ ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเริ่มต้น เชื่อมต่อกับทางธนาคาร เข้าถึงฐานลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าบัตรเครดิตของกรุงศรีฯ ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย”

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารไรซ์ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัป ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะมีการจัดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัปร่วมกับทางกรุงศรีฯ ต่อเนื่องแน่นอน เพียงแต่อาจจะมีการปรับรูปแบบโครงการให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยนำประสบการณ์จากในปีนี้มาปรับใช้ เพื่อให้ได้โครงการที่มีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม

แซม ตันสกุล รองผู้อำนวยการอาวุโส สายธุรกิจบัตรเครดิต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวเสริมว่า ในจำนวน 15 ทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการ ทางกรุงศรีฯ ได้เข้าไปร่วมในการนำบริการมาให้แก่ลูกค้าของกรุงศรีฯ แล้ว 12 บริการ ส่วนที่เหลือจะเป็นบริการในกลุ่มฟินเทคที่ไม่จำเป็นต้องมีธนาคารมาเกี่ยวข้อง เพราะสามารถเข้าถึงระหว่างลูกค้าได้โดยตรง ทำให้ทางกรุงศรีฯ ไม่ได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัปที่มาสมัครได้เติบโตอย่างไม่มีข้อจำกัด

“การที่เป็นสตาร์ทอัป ต้องมีโอกาสในการเข้าถึงช่องทาง และบริการที่หลากหลายเพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการของกรุงศรีไรซ์ จึงไม่ได้มีข้อบังคับที่จะห้ามสตาร์ทอัปในโครงการไปร่วมมือกับธนาคารรายอื่นๆ เพราะตอนนี้ทุกธนาคารต้องช่วยกันผลักดันธุรกิจฟินเทคให้เติบโต”

สำหรับ 15 ทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการประกอบไปด้วย 1.Aborrow บริการแนะนำสินเชื่อตามคุณสมบัติของผู้กู้ 2.Appman บริการหาซื้อประกันภัยที่มีความคุ้มครองครอบคุม และคุ้มค่า 3.Carrance แอปบริหารจัดการกรมธรรม์ประกันภัย 4.ChomCHOB เปลี่ยนคะแนนสะสมจากบัครเครดิต และร้านค้ามาให้แลกของรางวัล 5.Finnomena บริการช่วยออกแบบการลงทุน 6.iTAX บริการจัดการเรื่องภาษี และให้ความรู้ในการลดหย่อนภาษี 7.MarketAnyware ผู้ช่วยการลงทุนที่จะช่วยนักลงทุนไม่ให้พลาดทุกที่ ทุกเวลา

8.Meefund แพลตฟอร์มการลงทุนที่ออกแบบมาเพื่อคนไทย 9.PaySocial บริการรับชำระเงินออนไลน์ด้วยโซเชียลมีเดียแห่งแรกของเอเชีย 10.PeakEngine โปรแกรมบัญชีสำหรับ SMEs 11.Piggipo แอปพลิเคชั่นบริหารจัดการ และควบคุมบัตรเครดิต 12.SatangDee ตัวช่วยการกู้เงินออนไลน์ในอัตราดอกเบี้ยที่ดี 13.SetMonitor เครื่องมือช่วยการลงทุนสำหรับนักลงทุนมือใหม่ 14.ThumbPaste นวัตกรรมช่วยประเมินความเสี่ยงเจ้าหนี้ และลูกหนี้ในการเข้าถึงแหล่งเงิน และ 15.TRcloud บริการบัญชีออนคลาวด์ที่ใช้ง่าย และปลอดภัย

ที่มา: http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000092624