6 อรหันต์น้ำมันยุค “ทักษิณ”

โครงสร้างการบริหารนโยบายด้านพลังงาน ที่มีอำนาจทับซ้อนกับผลประโยชน์ โดยมีบุคคลในแวดวงกิจการน้ำมันเป็นตัวเดินเรื่อง ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 2544 จนมาถึงช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มพุ่งทะยานตั้งแต่ปี 2547 ในแวดวงน้ำมันถึงกับมีการเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “6 อรหันต์ทองคำด้านพลังงาน” เพราะไม่เพียงบทบาทสูงเกี่ยวกับการกำหนดราคาพลังงานแล้ว คนเหล่านี้ยังได้ผลตอบแทนเรื่องหุ้น เบี้ยประชุม และโบนัส จำนวนมาก

ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานประจำปี ปตท. และบริษัทลูกเช่น ปตท.สผ. และไทยออยล์ เป็นต้น ซึ่งเฉพาะในปี 2547 รับกันอยู่ในหลักสิบล้านบาท และบางคนถึงหลักร้อยล้านบาท

1. “วิเศษ จูภิบาล” อดีตผู้บริหาร ปตท. เป็นบิ๊กพลังงานตั้งแต่ตำแหน่งผู้ว่าการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2542-2544 มีบทบาทในการแปรสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามนโยบายรัฐบาลทักษิณ นั่งเก้าอี้ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปี 2544-2546 จนได้ดิบได้ดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ 11 มีนาคม 2548 ซึ่งผลักดันเรื่องการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ในที่สุดศาลปกครองวินิจฉัยว่า แผนการแปรรูป กฟผ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนต้องล้มเลิกไปในที่สุด

-ผลตอบแทน หุ้น IPO และหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมมูลค่าประมาณ 82 ล้านบาท

2. “เชิดพงษ์ สิริวิชช์” อรหันต์รายนี้ เติบโตมาจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาตลอด แต่ ปี 2545 ข้ามห้วยมานั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้เป็นประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด ตั้งแต่เมษายน 2547 กรรมการบริษัท ไทยออยล์ จำกัด กรรมการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และเป็นประธานสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน

-ผลตอบแทน ในปี 2547 ไม่ปรากฏเรื่องการถือหุ้นใน ปตท. สำหรับ “เชิดพงษ์” มากนัก จะมีเพียงหุ้นในบริษัทไทยออยล์ และโบนัส เบี้ยประชุม มูลค่ารวมประมาณ 23 ล้านบาท แต่ในปี 2549 ได้มีการพบการถือหุ้นในไทยออยล์ รวมกว่า 100 ล้านบาท

3. “มนู เลียวไพโรจน์” ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2544-2547 เป็นประธานบริษัท ไทยออยล์ (โรงกลั่น) เป็นกรรมการ ปตท. เป็นกรรมการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน

-ผลตอบแทน เฉพาะเบี้ยประชุมและโบนัสใน ปตท.,ปตท.สผ. ไทยออยล์.ไทยโอเลฟินส์ และปิโตรเคมีแห่งชาติ มีมูลค่าประมาณ 13 ล้านบาท โดย “มนู” มีหุ้น IPO ปตท. และ ณ 31 ธันวาคม 2547 มีหุ้น ปตท. 380,000 หุ้น เมื่อรวมหุ้นในบริษัทลูก มีมูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาท

4. “พละ สุขเวช” อดีตผู้ว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ ปตท.,ไทยออยล์,ไทยโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ และในตำแหน่งหน่วยงานรัฐ เป็นกรรมการบริหารกองทุนพลังงาน
ในปี 2549 “พละ” ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ “ทีพีไอ” จนในที่สุด ปตท. เข้าเทกโอเวอร์ทีพีไอในที่สุด

-ผลตอบแทน เบี้ยประชุม โบนัส ประมาณ 11 ล้านบาท มูลค่าหุ้นในบริษัทลูก ปตท. มูลค่าประมาณ 38 ล้านบาท

5. “เมตตา บันเทิงสุข” ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการ ปตท.
-ผลตอบแทน ปรากฏข้อมูลว่าปี 2547 ได้เบี้ยประชุม และโบนัสเพียง 1.4 ล้านบาท

6. “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. สมัยที่ 2 โดยเริ่มได้ตำแหน่งสูงสุด ปตท. ครั้งแรกเมื่อปี 2546 นี่คือเบอร์ 1 ในระดับปฏิบัติของ ปตท. ซึ่งหากไม่แน่จริง เข้ากันไม่ได้ คงไม่ง่ายที่แทรกเข้ามาเป็น 1 ในอรหันต์ของขุมทรัพย์พลังงาน

ผลตอบแทน-ในรายงานประจำปีระบุ “ประเสริฐ” มีหุ้น ปตท. 0.012% มีหุ้น ณ สิ้นปี 2547 จำนวน 345,820 หุ้น เบี้ยประชุม 1.4 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าจ้างการเป็นพนักงาน ปตท. ในตำแหน่งซีอีโอ เฉลี่ยปีละประมาณ 10 ล้านบาท