“Maker” นักปั้นสิ่งประดิษฐ์ โลกอีกใบ Startup ไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า “สตาร์ทอัป” กันพอสมควร เพราะด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงคนรุ่นใหม่มีความใฝ่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้ได้เห็นการแจ้งเกิดของธุรกิจสตาร์ทอัปหลายราย

แต่นอกจากกลุ่มสตาร์ทอัปแล้ว ยังมีกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Maker ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าเปรียบกับสตาร์ทอัปเป็นสาย Software แล้ว กลุ่มเมกเกอร์ก็คงมาสาย Hardware เน้นสิ่งประดิษฐ์

วงการ Maker เป็นกลุ่มที่พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็น Subset ของกลุ่มสตาร์ทอัป ที่มุ่งเน้นประดิษฐ์เทคโนโลยีออกมาเป็นสิ่งจับต้องได้ เป็นแก็ดเจ็ต สิ่งของ ในขณะสตาร์ทอัปเป็นในเรื่องของซอฟต์แวร์ อย่างเช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชันต่างๆ จะมีโมเดลธุรกิจอีกอย่างหนึ่ง

ในประเทศไทยมีกลุ่มเมกเกอร์เป็นคอมมูนิตี้อยู่มากมายเช่นกัน และมีการทำเป็นธุรกิจด้วย ภายในงาน Creative Thailand Symposium ได้นำเหล่าธุรกิจของกลุ่มเมกเกอร์ อย่างธุรกิจ Maker Space พื้นที่สำหรับกลุ่มเมกเกอร์มาสร้างสรรค์ผลงาน, กลุ่มทัวร์, เว็บไซต์ขายของ และอุปกรณ์ติดรถยนต์ มาแชร์ประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ

Chiang Mai Maker Club คลับสำหรับกลุ่มเมกเกอร์

Chiang Mai Maker Club เป็น Maker Space ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในลักษณะของ Co-working Space ในวงการของกลุ่มเมกเกอร์ โดยที่เปิดกว้างให้เข้ามาใช้บริการได้ฟรี รวมทั้งมีอุปกรณ์ต่างๆ ให้ใช้งาน 3D Printer เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องเจาะต่างๆ บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ เปิดให้บริการมาแล้ว 3 ปี

nut

ณัฐ วีระวรรณ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Maker Club บอกว่า เมกเกอร์คนไหนสามารถมาใช้บริการที่นี่ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะเก็บค่าบริการเป็นในเรื่องของความรู้ในการถ่ายทอดความรู้ต่อไปให้คนอื่นผ่านบทความต่อๆ ไป ทำให้คนต่อไปสร้างนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว สมาชิกในกลุ่มเมกเกอร์นี้มีหลากหลายทั้งวิศวะ ดีไซเนอร์ โปรแกรมเมอร์

ส่วนตัวของณัฐเองเป็น Software Developer ทำเว็บไซต์ ทำเกม แอปพลิเคชันมือถือ แต่ชอบซื้อบอร์ด Hardware มาเก็บไว้ แต่ไม่มีเวลาใช้ เลยมีความคิดที่ว่าจัดตั้งคอมมูนิตี้ส่งต่อความรู้ให้คนมาช่วยกันใช้งาน ตอนนั้นณัฐเลยโพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่าใครอยู่เชียงใหม่ อยากทดลอง Hardware ให้มาใช้งานได้ฟรี หรือจะสอนงานก็ได้ เป็นวิธีให้สอนกันเอง เพื่อให้คอมมูนิตี้เติบโต

หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ “คุณหมอจิมมี่” นายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสน จาก Maker Asia เสนอพื้นที่ให้ทำเป็นคอมมูนิตี้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีทีมงานบริหาร ตอนแรกเริ่มทำกัน 3 คน มีวัฒนธรรมในการสร้าง และการซ่อม ทำให้ได้คุยกัน เรียนรู้กัน มีโปรเจกต์ร่วมกัน

c1

มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คืองาน TedX ที่เชียงใหม่ แล้ว Chiang Mai Maker Club ได้ไปออกบูธ ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น จากนั้นก็ทำงานร่วมกันมากขึ้น มีจัดงาน Chiang Mai Maker Party มี Maker จากต่างประเทศเข้าร่วมงานด้วย

การต่อยอด Chiang Mai Maker Club ต่อจากนี้คงจะเป็นเรื่องของการสร้างคอมมูนิตี้ให้แข็งแรง สร้างวัฒนธรรมในการช่วยเหลือกัน ทำโปรเจกต์ร่วมกัน

Hivestar เว็บไซต์ท่องเที่ยวออนไลน์หัวใจสีเขียว

เมืองไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว ในปีที่ผ่านมามีสถิตินักท่องเที่ยว 33 ล้านคน และมีจุดเด่นมากมายที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาสัมผัส เช่น วัด วัง สยามเมืองยิ้ม สตรีทฟูด รถตุ๊กๆ และขี่ช้าง

achi

แต่ด้วยจุดเด่นบางอย่างที่ดูเหมือนจะขัดต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ “อชิรญา ธรรมปริพัตรา” ผู้ก่อตั้ง Hivestar  ลุกขึ้นมาสร้างการท่องเที่ยวแบบใหม่ให้เป็นหัวใจสีเขียวขึ้นมาด้วยเว็บไซต์ Hivestar

จุดประสงค์ของ Hivestar ก็คือ ต้องการสร้างความยั่งยืนในการท่องเที่ยวทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และรายได้ของผู้นำเที่ยว ตัวอชิรญาเองเติบโตมากับธุรกิจบริษัททัวร์อยู่แล้ว ก็คือบริษัท รุ่งทองทัวร์ เลยเอาด้านการตลาด และด้านสังคมมาทำเป็น Hivestar มาเชื่อมกับนักท่องเที่ยว เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

จากจุดประสงค์หลัก 3 ข้อนั้น 1. รายได้ ต้องเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และผู้นำทัวร์อย่างยั่งยืน ในทริปจะต้องเป็นคนในท้องถิ่นที่พาทัวร์เท่านั้น 2. สังคม ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ดีสืบต่อไป มีการเรียนทำอาหารในชุมชน และในตลาด และ 3. สิ่งแวดล้อม ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสัตว์ จากขี่ช้างเป็นแฮงเอาต์กับช้างที่ Sanctuary ได้ช่วยเหลือช้างด้วย

ปัจจุบัน Hivestar มีนักท่องเที่ยวที่ได้พาทัวร์แล้วกว่า 3,000 คน มีการจัดกิจกรรมมากกว่า 60 กิจกรรม ใน 13 ชุมชน รายได้มีการตอบแทนตามความเชี่ยวชาญ มากกว่า 3-16 เท่า ของรายได้ปกติ เป็นการสร้างการรับรู้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

รวมไปถึงมีการจัดกิจกรรม Hivestar Incubation Program สำหรับคนที่ต้องการทำกิจกรรม แต่ขาดประสบการณ์ ให้คำปรึกษา และคิดไอเดียให้ด้วย

Gravitech บ้านสำหรับกลุ่มเมกเกอร์

Gravitech เป็นเหมือนคอมมูนิตี้สำหรับกลุ่ม Maker ในการแชร์ความคิด แชร์ไอเดียกัน และมีจำหน่ายสินค้าสำหรับกลุ่ม Maker ด้วย เริ่มก่อตั้งที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นเอาคอนเซ็ปต์มาเปิดที่ประเทศไทยได้ 3 ปี

gra-copy

ดร. ชานนท์ ตุลาบดี ผู้ก่อตั้ง Gravitech US ได้บอกว่า Gravitech วางจุดยืนเป็น Home of Maker ที่รวบรวมสินค้าที่กลุ่ม Maker ต้องการ เป็น Hadware และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทาง Gravitech มีหลักการดำเนินการอยู่ 9 ข้อด้วยกัน

  1. Make a Profit : สร้างมูลค่าให้กับสินค้า ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ แต่การลงทุนต้องมีกำไร อาจจะทำการบวกราคาเข้าไป 3 เท่าถึงจะอยู่ได้
  2. Stay in Stock : ต้องมีสินค้าในสต๊อกอยู่ตลอดเวลา ของต้องพร้อมส่งเสมอ
  3. Buy Smart : ลงตลาดซื้อของเองเสมอ เพราะกลุ่ม Maker เป็นกลุ่มที่ลงมือทำเป็นสินค้าเลย
  4. Basic Business Rules : ต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีการตั้งเหมาย และกลยุทธ์ที่ชัดเจน
  5. Be open : ต้องเปิดใจรับฟังหลายๆ คำแนะนำ จากการแชร์ข้อมูลของหลายๆ คน
  6. Create Community : มีการรวมกลุ่มกันแชร์ความรู้ ปล่อยของ มีการจัดกิจกรรมทุกเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี
  7. Design for Manufacturability : ต้องมีการพูดคุยกับโรงงานในการผลิตสินค้าอยู่ตลอด เพื่อให้ผลิตสินค้าตามสเปกที่ต้องการได้
  8. Marketing : คนก่อตั้ง หรือทีมงานเป็นกลุ่มคนที่รู้เรื่องราวของบริษัทดีที่สุด เป็นคนที่ทำการตลาดได้ดีที่สุด ไม่ต้องจ้างคนอื่นทำการตลาดให้
  9. Package Carrier : การส่งของ มีระบบโลจิสติกส์ ต้องมีการพูดคุยกับระบบขนส่ง

Drivebot อุปกรณ์ตรวจสุขภาพรถ

ถ้าเปรียบกับ Fitbit เป็นผู้ช่วยที่ดูแลในเรื่องการออกกำลังกายให้กับมนุษย์แล้ว ก็เปรียบ Drivebot เป็น Fitbit สำหรับดูแลสุขภาพรถยนต์เช่นกัน

de

ณัฐ วินิจธรรมกุล ผู้ก่อตั้ง Drivebot (Hardware Tech Startup) เล่าว่า ตนเองเติบโตมากับอู่ซ่อมรถ แต่มีความรู้เกี่ยวกับรถตัวเองน้อยมาก แล้ววันหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุกลางถนนระหว่างเดินทาง จึงคิดทำอุปกรณ์เพื่อเตือนคนใช้รถ ณัฐมีแนวคิดที่ว่าให้ Drivebot เป็นเหมือน Fitbit วัดสุขภาพของรถยนต์ โดยที่มีการเข้าระดมทุนผ่าน Crowd funding ภายใน 6 วัน ได้เงิน 3 ล้านบาท และได้เข้าร่วมโครงการ dtac accelerate ด้วย

ลักษณะการทำงานนั้น ให้นำ Drivebot เข้าไปเสียบที่ช่อง OBD-ll ที่มักอยู่ใต้พวงมาลัยใกล้กับคันเร่ง จากนั้นข้อมูลของตัว Drivebot จะผ่านบลูทูธเข้าสมาร์ทโฟน จะช่วยในเรื่อง 1.Easy Check Up บอกปัญหาของรถ 2.Triplog บอกว่ารถวิ่งไประยะทางเท่าไหร่ ใช้น้ำมันกี่กิโลเมตรต่อลิตร และจะพัฒนาเป็น Internet of Thing ในอนาคตได้ 3.Engine Snapshot ดูสถานะเครื่องยนต์ ทำนายว่ารถมีปัญหาอะไร 4.Reminder เตือนระยะตรวจเช็ก หรือเข้าศูนย์

1

ณัฐได้เลือกที่จะพา Drivebot เข้าระดมทุนใน indiegogo เพราะมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีลูกค้าจากทั่วโลกเข้ามาระดมทุนได้ ทำให้ตลาดเปิดกว้าง ไม่ได้จำกัดที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเดียวเหมือน Kick Starter

แต่ณัฐบอกว่ายังต้องมีการพัฒนาอีกมากสำหรับตัว Drivebot หลังจากได้เงินทุนก็ต้องทำการศึกษาตลาดต่อไปอีก บางข้อมูลก็ยังไม่มากพอ