สมาคมธนาคารอาเซียนประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการจัดงาน ASEAN Banking Conference และ ASEAN Banking Council Meeting

สมาคมธนาคารอาเซียน (ASEAN Bankers Association : ABA) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการจัดงาน ASEAN Banking Conference ครั้งที่ 21 และ ASEAN Banking Council Meetingครั้งที่ 46 ภายใต้หัวข้อ “Enhancing and Strengthening the Roles of Regional ASEAN Banks in the context of growing the ASEAN Economic Community (AEC)ที่สมาคมธนาคารไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายน 2559

ในงานนี้มีหัวข้ออภิปรายแบ่งได้เป็น 4 หัวข้อ ประกอบด้วย การเงินยุคดิจิทัลและฟินเทค (FinTech) การค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน  การสร้างความยั่งยืนในภาคการเงิน และการเตรียมพร้อมสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนจากธนาคารชั้นนำในทั่วภูมิภาคอาเซียน 

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษโดยได้ให้มุมมองต่อความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินในอาเซียน ที่ขณะนี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเผชิญกับสภาวะที่เรียกว่าเศรษฐกิจเติบโตแบบ Multiple Lows โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายอย่างอยู่ในระดับต่ำและเชื่องช้า ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน มูลค่าการค้า อัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสภาวการณ์เช่นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงเฉพาะต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้สังคมเกิดความตึงเครียด และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนั้นจะสร้างแรงกดดันให้สถาบันการเงินจะต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปสู่โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อคิดเห็นสำหรับธุรกิจธนาคารในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต 5 ประการ ดังนี้     

1)  การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ธนาคารจะต้องให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการให้บริการ

2)  ธนาคารในอาเซียนควรต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองเพื่อให้สามารถรับมือกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจทั้งขาขึ้นและขาลง

3)   ธนาคารจะต้องสร้างพฤติกรรมและวัฒนธรรมขององค์กรให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด สร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด 

4)   ปลูกฝังหลักการของธนาคารแก่พนักงานในองค์กรเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

5)   ธนาคารในอาเซียนจำเป็นต้องร่วมมืออย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายทางการเงินในภูมิภาค 

Mr Kartika Wirjoatmodjo ในฐานะประธานสมาคมธนาคารอาเซียน (ASEAN Bankers Association), ประธานสมาคมธนาคารอินโดนีเซีย (PERBANAS) และประธานกรรมการ และประธานบริหาร PT Mandiri (Persero) Tbk, กล่าวว่า ธนาคารอาเซียนต้องเตรียมแผนเชิงรุกในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์กับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับสมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนมุมมองทางการเงินการธนาคารในภูมิภาคอาเซียนซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจใหม่

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการผู้แทนถาวรสภาธนาคารอาเซียนครั้งที่46 ใน 3 เรื่องสำคัญ  ได้แก่ 

1.  คณะกรรมการความร่วมมือทางการเงิน การค้าและการลงทุน (COFIT) โดยมุ่งเน้นใน 3 หัวข้อหลักดังนี้

1.1. ด้านการเงินดิจิทัลและเทคโนโลยีทางการเงิน โดยสมาคมธนาคารไทยรับเป็นเจ้าภาพในการจัดเวิร์คช้อปในช่วงต้นปี 2560

1.2. ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และลดความเสี่ยง โดยสมาคมธนาคารอินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในช่วงไตรมาสที่2/2560

1.3. การพัฒนาด้านการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Financing) โดยมีสมาคมธนาคารกัมพูชาเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม

2.  คณะกรรมการการศึกษาการธนาคาร เครือข่ายการศึกษาธนาคารอาเซียนจะมีการหารือกันเป็นระยะๆ เพื่อหาแนวทางบรรลุมาตรฐานขั้นต้นทางด้านทักษะและแนวปฏิบัติและกิจการธนาคารด้านใดที่เหมาะกับการรับรองมาตรฐานจากสมาคมธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศเพื่อนบ้าน

3.  คณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคอาเซียน (IRRมีการพิจารณาการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาประจำปี 2560 ณ เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน