7 คำแนะนำสำคัญในการทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพเมื่อคุณมีงบการตลาดน้อย

บทความโดย : สโรจ เลาหศิริ – Rabbit’s Tale/ Moonshot Digital

สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องท้าทายของนักการตลาดมาตลอด คือ เราศึกษา Case study ดังๆ หรือเห็นแคมเปญการตลาดของสินค้าที่มีงบการตลาดเกินกว่า 10 ล้าน บางทีก็เป็น 100 ล้าน แต่ในความเป็นจริงงบประมาณการตลาดของเราเองก็เทียบไม่ติด บางทีก็น้อยเกินกว่าจะทำอะไรได้ แม้แต่การผลิตหนังออนไลน์ซักเรื่องก็แทบหมดแล้ว แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ เมื่องบการตลาดมีไม่มาก แต่เราต้องการให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด มาดูคำแนะนำสำคัญที่ผมอยากจะแนะนำให้กับนักการตลาดทุกท่านครับ

1. ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและทำให้สินค้าของคุณถูกพบได้ให้ง่ายที่สุด :

1_money_marketing

ในโลกดิจิทัล ที่เสียงของผู้บริโภคมีอิทธิพลอย่างมาก การทำสินค้าที่ไม่ดีจริง ย่อมจะถูกลูกค้าวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา และหากสินค้าของคุณมีคุณภาพหรือคุณสมบัติที่ดีแตกต่างจากคู่แข่งชัดเจน การบอกต่อย่อมไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากเรื่องของสินค้าแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือ เราต้องทำให้สินค้าของเราถูกพบได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำ Search Marketing ที่ใส่ใจกับการดูว่าคนจะค้นหาคำอะไรที่สินค้าเราจะช่วยได้ หรือว่าจะเป็นช่องทางการขายใหม่ๆ หากสินค้าของคุณมีช่องทางการขายไม่มาก (ไม่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ หรือไม่อยู่ในร้านค้าชั้นนำ) ให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้าในช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น e-commerce website ของตน, Social Media Commerce ช่องทางต่างๆ หรือการวางสินค้าในร้านค้าออนไลน์ เช่น Lazada, Tarad, Weloveshopping ฯลฯ

2. หาเป้าหมายจริงๆ ของคุณให้เจอ :

ถ้าเปรียบงบการตลาดเป็นก้อนหิน หากเรามีงบน้อยเป็นก้อนหินก้อนเล็กขว้างลงไปในแม่น้ำ ก็คงจะจมเงียบหายไป แต่ถ้าเราหย่อนก้อนหินก้อนนี้ลงในถังน้ำล่ะ? ก็คงจะเกิด Impact แน่นอน ใช่ครับ สิ่งสำคัญคือการหาถังน้ำใบนั้น หรือลูกค้าเป้าหมายจริงๆ ของคุณให้เจอ และทุ่มลงไปที่กลุ่มนี้ อย่าหว่านมั่ว เทคนิควิธีการหาง่ายๆ ก็คือ ลองพูดคุยกับลูกค้าที่รักคุณหลายๆ คนดู ดูว่าเขาชอบคุณที่อะไร และลูกค้ากลุ่มนี้มีอะไรที่เหมือนกัน และจับกลุ่มนี้ให้อยู่หมัดก่อนค่อยขยายต่อไป

3. ใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้เหมาะสม ไม่ใช่กวาดไปทุกช่องทาง :

2_money_marketing

สื่อโซเชียลเป็นเรื่องจำเป็น เราไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดให้ครบทุก Social Media ที่มี เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจหน้าที่ของแต่ละช่องทางให้ถ่องแท้เสียก่อน แน่นอนค่าดูแล Social Media แต่ละช่องทางก็มีต้นทุนของมันอยู่ และสินค้าของคุณบางทีก็ไม่ได้เหมาะสมกับทุกช่องทาง เราจะเห็นได้ว่า อัตราส่วนการ Engage ของผู้บริโภคในแต่ละช่องทางของเราก็ไม่เท่ากัน เลือกเฉพาะอันที่จำเป็นและลงแรงไปกับมัน ตัวอย่างเช่น หากเป็นสินค้าแฟชั่น หรือสินค้าตกแต่งที่ใช้รูปภาพเป็นองค์ประกอบ Instagram/Pinterest อาจจะเหมาะสมกว่า หากสินค้าของคุณต้องมีการบริการหลังการขายเยอะๆ การใช้ Facebook/Line@ มาเป็นระบบบริการหลังการขายโดยใช้ Chatbot หรือ Auto keyword Reply ก็อาจจะสะดวกกว่า แต่เราไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด หรือตามกระแสไปทั้งหมดทุกครั้งที่ Social Media มี Features ใหม่ๆ มาให้เล่น

4. ใส่ใจ Packaging ให้มาก เพราะนี่คือสื่อที่สำคัญที่สุดที่คุณอาจมองข้ามไป : 

3_money_marketing

นี่คือสิ่งที่นักการตลาดหลายคนมองข้ามและคิดว่า Packaging คือต้นทุน แต่ไม่ใช่เลย Packaging ของสินค้าของคุณ คือสื่อการตลาดที่ตรงเป้าหมายที่สุด และสื่อสารสินค้าได้ดีที่สุดต่างหาก เพราะหากมี Packaging ที่โดดเด่นแล้ว ผู้บริโภคจะสามารถเห็นเรา สนใจและสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที ณ จุดขายตรงนั้น ต่อให้เป็นสินค้าออนไลน์ที่ส่งถึงมือผู้บริโภค หากทำ Packaging การส่งที่น่าประทับใจ หรือหีบห่อที่สวยงามแล้ว มันไม่ยากเลยที่ผู้บริโภคจะเข้าใจแบรนด์หรือแชร์ต่อมากกว่าเดิม

5. หากระแสใหม่ๆ และเกาะกระแสอย่างมีชั้นเชิง :

เทคนิคนี้เรียกว่า Newsjacking หรือการจับกระแสในโลกโซเชียล หรือกระแสสังคมที่ผู้คนและสื่อให้ความสนใจ และจับกระแสอย่างมีชั้นเชิงให้เข้ากับสินค้าของเรา ยกตัวอย่างเช่น กรณีกระแส Pokemon Go ฟีเวอร์ ที่มีหลายห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหาร เล่นกับการลงทุนซื้อไอเท็ม ปล่อยซากุระล่อโปเกม่อนในบริเวณร้านของตน หรือใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ในเกมให้เป็นประโยชน์ จนสามารถดึงลูกค้าเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก และแน่นอนการจับกระแสอย่างมีชั้นเชิงจะทำให้เราได้รับการพูดถึงจากสื่อต่างๆ ไปถ้าหากทำได้ดีมากพอ

6. Networking สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับแบรนด์อื่นๆ รอบตัว :

4_money_marketing

การจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับสินค้า หรือแบรนด์อื่นๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความรู้จัก หรือทำให้แบรนด์แข็งแกร่งขึ้นย่อมเป็นทางที่ใช้เงินไม่มากแต่ได้ผลตอบรับดีที่สุด การสร้างพันธมิตรที่ดี คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมบริหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้แต่ผู้บริหารและนักการตลาดต้องลงมือทำเอง ยกตัวอย่างเช่น การจับมือกันของ กูลิโกะกับเถ้าแก่น้อย เพื่อออกรสชาติใหม่ร่วมกัน สร้างการรับรู้และสร้างความฮือฮาให้กับตลาดขนม หรือการที่ร้าน Rocket Coffee Bar นำกาแฟ Cold Brew ขวดของตัวเองไปร่วมกับ Uber สร้างแคมเปญ #UberMorning เรียกรถ Uber ตอนเช้าได้รับกาแฟฟรี เป็นการสร้างการ Trial และรับรู้สินค้าไปในเวลาเดียวกัน

7. ใช้แรงคนมากกว่าแรงเงิน อย่ามัวแต่นั่งคอยความสำเร็จ :

อ่านไม่ผิดหรอกครับ หากเราไม่ใช่บริษัทร้อยล้านพันล้านที่ใช้เงินหว่านกระจายมีเดียไปอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่สุดของเราคือความ “พยายาม” ที่มากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ลงพื้นที่ให้มากกว่า ไปดูหน้าร้านให้บ่อยกว่า ลองผิดลองถูกให้เยอะกว่า คุยกับลูกค้าให้เยอะกว่า พบปะดีลเลอร์ให้มากกว่า และที่สำคัญคือ การสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าของคุณด้วยความเป็นมนุษย์และแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่มากกว่า เท่านี้เราก็จะพบกับความสำเร็จได้ไม่ยากเกินไปครับ

pic_saroj_new2

Profile
สโรจ เลาหศิริ
นักการตลาดไฟแรง ที่ปัจจุบันสวมหมวกเป็นผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์และความคิดสร้างสรรค์แห่ง แรบบิทส์ ดิจิทัล กรุ๊ป (Rabbit’s Tale & Moonshot)

เติบโตมาในยุคดิจิทัล และหลงใหลในการตลาดตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ ตั้งเป้าจะยกระดับการทำการตลาดในเมืองไทยให้ทัดเทียมสู่เวทีระดับโลกให้ได้

Digital Marketing by Saroj Laohasiri
สงวนลิขสิทธิ์ทางบทความให้ใช้เผยแพร่ที่นิตยสาร Positioning เท่านั้น