ทำไม Airbnb ถึงพลาดท่าในตลาดจีน

อพาร์ทเมนต์ในจีน (ภาพจากรอยเตอร์)

ธุรกิจนำที่พักมาแบ่งเช่าผ่านแอปพลิเคชัน Airbnb ของผู้ก่อตั้งอย่าง Brian Chesky, Joe Gebbia และ Nathan Blecharczyk อาจโด่งดังและไปไกลทั่วโลก แต่กลับไม่ใช่สำหรับดินแดนที่มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเป็นของตัวเองเหมือนจีนแผ่นดินใหญ่

การที่วัฒนธรรมของ Airbnb ไม่อาจแทรกแซงลงไปได้นั้น สาเหตุอาจเป็นเพราะ ธุรกิจนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใหม่โดยชาวจีนหัวใส จนเกิดเป็นธุรกิจแบ่งห้องพักให้เช่าที่เข้าถึงชาวจีนได้มากกว่าของต้นแบบอย่าง Airbnb เสียแล้วนั่นเอง

โดยบริการของจีนที่เน้นการนำห้องพักมาแบ่งเช่าชื่อ Xiaozhu น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่าทำไม Airbnb ไม่สามารถเจาะตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยนอกจาก Xiaozhu จะนำเสนอเว็บไซต์ด้วยภาษาจีนแล้ว เขายังมีมือดีอย่าง Zhou Yichang ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้า คอยให้คำปรึกษาแก่ชาวจีนที่ต้องการนำห้องพักของตนเองมาให้บริการด้วย ซึ่งความที่เขาเป็นชาวจีนด้วยกัน จึงเข้าใจบริบททางสังคมของคนในชาติเดียวกันได้ลึกซึ้งยิ่งกว่า

ในแต่ละวัน Zhou ทำงานอย่างหนัก เขาเดินทางไปยังบ้านของครอบครัวชาวจีนเพื่อสำรวจสภาพภายในบ้าน รวมถึงให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่ผู้ที่ต้องการนำบ้านมาปรับเป็นห้องเช่าสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงการลงไปช่วยคนเหล่านั้นทาสีห้อง ช่วยหาช่างซ่อม ฯลฯ ไม่นับรวมที่เขาต้องหมั่นตอบ SMS ที่มีคนส่งเข้ามาสอบถามข้อมูลกับเขาผ่านแอปพลิเคชันแชตอีกราว ๆ 60 ครั้งต่อวัน

“ชาวจีนส่วนมากไม่มีวัฒนธรมแบ่งบ้านให้คนอื่นมาเช่าอยู่ร่วมด้วย งานของผมคือทำให้เขาเห็นภาพว่า เขาจะดูแลลูกค้าอย่างไร และช่วยแก้ปัญหาที่พบ ยกตัวอย่างเช่น บางครอบครัวอาจไม่รู้เลยว่า ถ้าจะให้แขกมาพักในห้องที่บ้าน เขาต้องมีฟูกที่นอนที่สะอาด ซึ่งผมก็เคยควักเงินซื้อแทนพวกเขามาแล้ว”

นั่นคือการแก้ปัญหาของ Zhou ในฐานะผู้จัดการที่โดนใจคนท้องถิ่น

การมีผู้จัดการที่ลงไปจัดการกับปัญหาแบบถึงลูกถึงคนคือสิ่งที่ Xiaozhu ต่างจาก Airbnb ขณะที่อีกข้อหนึ่งคือปัญหาด้านไทม์ไลน์ โดย Airbnb ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา แต่เพิ่งมาเปิดสำนักงานในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อไม่ถึงหนึ่งปีมานี้เอง ซึ่งนั่นช้าไปแล้วสำหรับ Airbnb เพราะโมเดลธุรกิจของ Airbnb ถูกใครหลายคนในตลาดจีนเลียนแบบและสร้างจุดแข็งเพิ่มเติมจนยากจะชิงส่วนแบ่งคืนได้โดยง่าย

ยกตัวอย่างเช่น Xiaozhu ที่เปิดตัวเมื่อปี 2012 ปัจจุบันอ้างว่ามีผู้ใช้บริการแบบ Active อยู่ราว 10 ล้านคนต่อเดือน ซึ่ง Xiaozhu คงไม่ประสบความสำเร็จหากใช้แนวทางหารายได้เช่นเดียวกับ Airbnb โดยไม่ยอมพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนั้น จีนยังมี Zhu Bai Jia อีกหนึ่งสตาร์ทอัปจากเสินเจิ้น ที่มาช่วย Xiaozhu ปิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับ Airbnb ลงอย่างสิ้นเชิง โดย Zhu Bai Jia เป็นบริการให้เช่าที่พักระยะสั้นในต่างแดนสำหรับชาวจีน และมีที่พักให้บริการใน 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าโดนใจนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างมาก

แถม Zhu Bai Jia ยังมีฟีเจอร์ช่วยในการวางแผนทริปท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ และมีการเสนอให้เจ้าบ้านท้องถิ่นรับหน้าที่เป็นไกด์พาเที่ยวพาร์ตไทม์สำหรับนักท่องเที่ยวจีนด้วย ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ Airbnb ก็ได้เปิดตัวบริการชื่อ Airbnb Trips ที่มีฟีเจอร์ไม่ต่างจากบริการของ Zhu Bai Jia ออกมาเช่นกัน

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องตลกของชาว Zhu Bai Jia โดยพวกเขาเผยว่า ตอนที่ Airbnb เปิดตัว Trips เมื่อปลายปีนั้น พวกเขานั่งหัวเราะกันยกใหญ่ เพราะประโยคที่คนในวงการพูดกันเสมอมาคือ จีนมักจะก๊อบปี้สิ่งที่ซิลิคอนวัลเลย์ทำ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าซิลิคอนวัลเลย์จะหันมาก๊อบปี้สิ่งที่จีนทำบ้างแล้ว

ในจุดนี้อาจเป็นเพราะชาวจีนทุกคนมีความเป็นนักธุรกิจอยู่ในสายเลือดก็เป็นได้ โดยกรณีของ Xiaozhu นั้น ผู้ก่อตั้งอย่าง Chen Chi ก็เคยสนใจใคร่รู้ว่าบริการแบ่งบ้านพักให้เช่าจะมีลักษณะอย่างไร เขาจึงลองแบ่งบ้านตัวเองให้คนอื่นเช่าดู และเมื่อมาอยู่ในฝั่งโฮสต์ เขาจึงพบว่า มันมีปัญหายุ่งยากหลาย ๆ อย่าง เช่น เวลาแขกมาถึงบ้าน เขาอาจกำลังทำงานอยู่ ไม่สามารถเอากุญแจห้องไปให้แขกได้

Chen Chi จึงเริ่มก่อตั้งธุรกิจ Smart Lock หรือก็คือกุญแจประตูที่สามารถปลดล็อกได้โดยใช้รหัส เท่านี้ก็ทำให้ธุรกิจเช่าห้องพักเดินหน้าไปได้อย่างสะดวกมากขึ้นแล้ว

แต่ไม่จบเพียงแค่นั้น Chen Chi ยังพบว่า ปัญหาเรื่องการทำความสะอาดห้องพักก็เป็นเรื่องใหญ่ เขาจึงเริ่มฝึกอบรมผู้หญิงให้มาทำหน้าที่แม่บ้านทำความสะอาด และแนะนำผู้หญิงเหล่านั้นให้บ้านที่เป็นโฮสต์รู้จัก จะได้เรียกใช้บริการ ซึ่งในจุดนี้ Airbnb แพ้ Xiaozhu เป็นรอบที่สอง

การแพ้รอบที่สามเกิดขึ้นเมื่อ Xiaozhu จัดอบรมให้กับบรรดาโฮสต์ที่นำบ้านมาฝาก โดยผู้จัดการจะคอยอธิบาย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการโพสต์ภาพลงในระบบ ว่าต้องโพสต์อย่างไร การเขียนคำอธิบายให้โดนใจต้องเขียนแบบไหนจึงจะทำให้แขกอยากมาพักที่บ้านของเรา รวมถึงการสนับสนุนให้โฮสต์ไปเรียนภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นจุดขายของที่พักได้ (เช่น การบอกว่า เจ้าของห้องนี้พูดภาษาเกาหลีได้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ฯลฯ) ซึ่ง Airbnb ก็ไม่มีบริการเหล่านี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ฌอน แพน (Sean Pan) ผู้บริหารของ Airbnb China ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า บริการของตนเองนั้นสามารถดึงคนเข้าระบบได้แล้วประมาณ 1 ล้านคน โดยผู้เข้าพักสามารถจ่ายได้ด้วย AliPay

แต่คำวิจารณ์ที่น่าสนใจกว่ามาจาก อาจารย์เรย์มอนด์ ชาง จากมหาวิทยาลัย Yale ในสาขาวิชาธุรกิจที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าจะไปทำธุรกิจในจีน แข่งกับคนจีน โดยใช้โมเดลของ Airbnb ล่ะก็ เตรียมม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย

คำวิจารณ์ของอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Yale ยังไม่เท่าแผนภูมิเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ผ่าน Airbnb ที่เอเจนซีอย่าง Nested ทำการสำรวจมา โดยแมืองที่จะคืนทุนช้าที่สุดหากลงทุนบนแพลตฟอร์ม Airbnb เรียงตามลำดับ 1 – 5 ก็คือ กรุงปักกิ่ง (ประเทศจีน), เกาะฮ่องกง (ประเทศจีน), กรุงไทเป (ไต้หวัน) กรุงโตเกียว (ประเทศญี่ปุ่น) และกรุงโซล (ประเทศเกาหลีใต้)

จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า หากปล่อยอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าบนแพลตฟอร์มของ Airbnb แล้ว อย่างน้อยโฮสต์ในประเทศเหล่านี้อาจต้องใช้เวลา 38 – 48 ปีกว่าจะคืนทุน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในกรุงปักกิ่งแล้ว อาจต้องใช้เวลากว่า 55 ปีเลยทีเดียว

อ้างอิงข้อมูลจาก South China Morning Post

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000033559