มหากาพย์ “โคเรียคิง” ปลุกกระแส “ระแวงสินค้าโปรโมต”!!

ตั้งราคาหลักหมื่น แล้วหั่นขายราคาหลักพัน ทั้งที่ต้นทุนอยู่ที่หลักร้อย… ถามหน่อยว่าปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร!!? “เหยื่อสินค้าขายตรง” ผู้หลงกลการตลาดได้แต่ถอนใจ ตั้งคำถามกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในไทยว่าไปอยู่ที่ไหนมา

ไม่ใช่แค่ “โคเรียคิง” ที่ควรถูกตรวจสอบคุณภาพสินค้า แต่ยังมีอีกหลายแบรนด์หลากโปรโมชันที่ถูกปล่อยให้โฆษณาออกมา เพื่อหนุนกลยุทธ์การขายแบบ “ปลอมราคาจริง” ทั้งลดทั้งแถมอ้างคำว่า “คุ้ม” แต่จริงๆ ฟันกำไรไปตั้งแต่ตั้งราคาปลอมแล้ว!!


หลอกขายคนไทยง่าย เพราะไม่เคยมี “หน่วยงานกลาง”!!

“เรียกได้ว่า “โคเรียคิง (Korea King)” เป็นเหมือนกรณีการปลุกกระแสให้คนเห็น และเป็นบทเรียนสำคัญว่าคนที่ทำให้เกิดโฆษณาเกินจริง ควรจะได้รับบทลงโทษยังไง ซึ่งควรจะมีมาตรการจัดการตรงนี้ออกมาให้ชัดเจนด้วยนะคะ ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มคนเหล่านี้ปลุกกระแสไปวันๆ รัฐเข้ามาจัดการแป๊บๆ แล้วก็จบไป

ต้องคิดว่าถ้าเคยมีกระแสต่อต้านแบบนี้แล้ว วันข้างหน้าก็ไม่ควรจะมีแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก หรือตอนนี้ยังมีอยู่ไหม และทางหน่วยงานภาครัฐจะจัดการยังไง จะออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาเลยไหม ที่จะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ให้มาจัดการปลายทางอย่างทุกวันนี้

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยหยิบกรณีศึกษาที่เกิดกับกระทะเกรดพรีเมียมสัญชาติโอปป้าอย่าง “โคเรียคิง” ขึ้นมาสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของระบบการตรวจสอบสินค้าในประเทศไทย เพื่อหวังให้เป็นบทเรียนสำคัญและเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นต่อ “ผู้บริโภค” จริงๆ เสียที

“การมีกระแสเรื่องนี้ออกมา มันชี้ให้เห็นว่าทุกฝ่ายจำเป็นต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลตามความจริง และยังสะท้อนให้เห็นช่องโหว่เรื่องการตรวจสอบของหน่วยงานในบ้านเราด้วย ถามว่าทำไมไม่มีการพิสูจน์ก่อนอนุญาตให้เอามาขายก่อนว่า เคลือบ 8 ชั้นหรือมีคุณสมบัติตามกล่าวอ้างจริงหรือเปล่า ก็เพราะในไทยยังไม่มี “หน่วยงานกลาง” ที่ทำหน้าที่ตรงนี้

ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้ว เขาจะมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้านำเข้า โดยเฉพาะการอนุญาตให้โฆษณาที่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ควรจะต้องมีหน่วยงานที่จะตรวจสอบก่อนให้นำเข้ามาขาย

[มากมายสินค้าเสนอขายด้วยกลยุทธ์ “ลด-แลก-แจก-แถม” และหลายๆ แบรนด์ก็เกินจริงไปมาก]
ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ถ้าเขาจะขายรถสักรุ่นหนึ่ง ก็ต้องมีการทดสอบสมรรถนะเรื่องความปลอดภัยก่อน เรียกว่าเอารถไปขับจนแน่ใจว่าปลอดภัย เขาถึงจะได้เอาออกมาขาย แต่ในเมืองไทยมันไม่ได้มีระบบแบบนั้น

ช่องโหว่ตรงนี้นี่แหละค่ะที่ทางมูลนิธิฯ มองว่าควรได้รับการแก้ไข ไม่ใช่จะรอให้เกิดปัญหาต่อผู้บริโภค หรือรอให้มีการร้องเรียน รอให้เกิดกระแสจากฝั่งผู้บริโภคก่อน หน่วยงานที่รับผิดชอบถึงจะลุกขึ้นมาทำอะไร

จากกรณีของโคเรียคิง มันทำให้คนตั้งคำถามกับสินค้าขายตรงและโฆษณาในทีวีมากขึ้นว่า การตั้งจำนวนเงินเยอะๆ ที่เกินจริง แล้วลดราคามากกว่าครึ่ง ควรจะตรวจสอบสินค้าอื่นด้วยไหม”

[ระวังให้ดี ถ้าคิดจะซื้อสินค้าโปรโมชัน เพราะอาจมีการ “ปลอมราคา” เกิดขึ้น]
ล่าสุด มีมติจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมาแล้วว่า ผลิตภัณฑ์ “โคเรียคิง” ตั้งราคาขายสูงเกินจริง และมีคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ไม่ตรงตามคำโฆษณาอย่างที่ถูกผู้บริโภคร้องเรียน คืออ้างว่าราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง” หรือที่เรียกว่า “Fake Original Price”

ส่วนเรื่องการโฆษณาคุณสมบัติของกระทะ ก็ถือเป็นการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สินค้ามีคุณสมบัติตรงตามคำโฆษณาจริง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เกิดความเสียหายต่อสังคม เพราะการอ้างราคาจริงไว้สูง จากนั้นก็ลดราคาจนส่งให้เกิดแรงจูงใจต่อผู้บริโภคอย่างมากเกินสมควร

[โฆษณาอ้างว่า กระทะเคลือบเอาไว้ 8 ชั้น แต่หลังส่งตรวจสอบเบื้่องต้น นับแล้วไม่ถึง]
ทั้งนี้ ประเด็นที่อ้างว่ามีการเคลือบกระทะถึง 8 ชั้น และมีความลื่นไหลทำให้อาหารไม่ติดกระทะเพิ่มขึ้นถึง 300 เปอร์เซ็นต์นั้น ก็ยังไม่มีบทสรุปชัดเจน มีเพียงผลแล็บที่ส่งไปตรวจสอบถึง 3 แล็บ ซึ่งเพิ่งได้คำตอบมาเพียงแห่งเดียวว่า รุ่น “โกลด์ซีรีส์” มีการเคลือบเพียง 5 ชั้น ส่วนรุ่น “ไดมอนด์ซีรีส์” เคลือบเพียง 2 ชั้นเท่านั้น เบื้องต้นจึงมีมติสั่งระงับโฆษณาทั้งหมด จนกว่าจะมีการปรับแก้ถ้อยคำในโฆษณา จึงจะอนุญาตให้กลับมาเผยแพร่ต่อไปได้

[นักวิชาการหั่นกระทะ ส่งไปพิสูจน์ว่าจริงๆ เคลือบกี่ชั้น]
ตามบทลงโทษดังกล่าว หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมองว่ายังถือเป็นการรับมือด้วยไม้อ่อนเกินไป ทางที่ดีควร “สั่งระงับการขายชั่วคราว” ไปก่อนเลย ไม่ใช่ระงับแค่โฆษณา

“ถามว่าจะไปแก้โฆษณายังไงให้ถูกต้อง ในเมื่อทางบริษัทยังไม่เคยออกมาให้ข้อมูลเลยว่า จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ ข้อมูลมันยังขัดแย้งกับฝั่งนักวิชาการ ยังไม่มีความชัดเจนในตัวสินค้าเลย แต่กลับยังขายได้ แล้วถ้าผลการตรวจสอบคุณภาพสินค้าออกมาในแง่ที่ทำให้ผู้บริโภคเสียหาย มันก็ทำให้มีผู้บริโภคเสียหายเพิ่มขึ้นอีก”


 “สคบ.” คุ้มครอง “ผู้ผลิต” หรือ “ผู้บริโภค”?

[วู้ดดี้ไลฟ์สดจากหน้าเพจ เรียกความเชื่อมั่นด้วยคำอธิบายจากผู้ผลิต “โคเรียคิง”]
“ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ใดๆ ในการนำเสนอข้อมูลที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และอยากไหว้วอนสื่อให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะจะมีผลต่อการดำเนินคดี”

ถ้อยคำดังกล่าวคือคำชี้แจงของ วิพากษ์ ชูศักดิ์ ตัวแทนฝ่ายกฎหมาย บริษัท เคียว ซุง เวิลด์ ประเทศไทย (ผู้ผลิตกระทะโคเรียคิง) ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ หลังเดินทางมาชี้แจงกับคณะกรรมการขายตรง และเข้ามายื่นเอกสารให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ เจ้าตัวยังได้กล่าวย้ำไปในทำนองที่ว่า ถ้ายังไม่หยุดวิพากษ์วิจารณ์ จะดำเนินการฟ้องร้องทั้งผู้นำเสนอข่าวสาร หรือแม้แต่นักวิชาการ ที่ออกมาให้ข้อมูลว่ากระทะของตนไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่โฆษณาเอาไว้

“เนื่องจากในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีนักข่าวและนักวิชาการที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางบริษัท ซึ่งในเมื่อผลการตรวจสอบมันยังไม่จบ ยังสรุปไม่ได้ และทางตัวบริษัทผู้ผลิตในประเทศเกาหลีก็ยังไม่ได้มีการออกมาแถลงข่าว


[บริษัทแม่ “โคเรียคิง” ส่งฝ่ายกฎหมายเข้ายื่นเอกสาร อ้างกระทะมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่โฆษณา]
ขณะนี้ ในเกาหลีตื่นตัวกันมากกับประเด็นนี้ เพราะมันทำให้ทางบริษัทของเขาได้รับผลกระทบ ทางบริษัทจึงต้องการปกป้องภาพลักษณ์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย ทางเกาหลีก็ได้ฝากถึงเรื่องการนำเสนอข่าวมาว่า ในเมื่อเรื่องการตรวจสอบยังไม่จบ แล้วไปนำเสนอข่าวออกไป ทางบริษัทจะได้รับความเสียหาย ทั้งตัวลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้เขาไม่เชื่อมั่นในตัวสินค้า

ส่วนเรื่องการเคลือบของกระทะนั้น ผมยืนยันไม่ได้ว่ามีการเคลือบ 8 ชั้นจริงหรือเปล่า ผมยืนยันได้แค่ว่าเราโฆษณาตามเอกสารที่ทางผู้ผลิตส่งมาให้ทุกอย่าง เรื่องเคลือบกี่ชั้นคงต้องให้ผู้ผลิตออกมาให้ข้อมูลเอง

ในอีกฝั่งหนึ่ง พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้ออกมาขอร้องให้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ยุติการให้ข้อมูลเรื่องผ่าพิสูจน์กระทะไปก่อน หลังออกมายืนยันผลจากแล็บเป็นแห่งแรกว่า กระทะโคเรียคิงไม่ได้เคลือบ 8 ชั้นอย่างที่กล่าวอ้าง จนเกิดกระแสดรามาวงกว้างขึ้นมา

ถึงแม้ทาง สคบ.จะให้เหตุผลในการตัดสินใจดังกล่าวว่า ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ และปราศจากอคติ แต่ประชาชนทั่วๆ ไปกลับรู้สึกเกิดคำถามในใจขึ้นมาว่า ตกลงแล้วหน่วยงานนี้มีหน้าที่ “คุ้มครองผู้บริโภค” หรือ “คุ้มครองผู้ผลิต” มากกว่ากัน!!?

[2 รุ่นกระทะ ที่ขายในไทย และกำลังเจอดรามาอย่างหนัก เมื่อพบว่าเคลือบไม่ถึง 8 ชั้นอย่างที่โฆษณาไว้]
เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่พึ่งเดียวที่ผู้บริโภคมีก็คือ “การรวมพลังของตนเอง” โดยครั้งนี้ทาง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ขอยื่นมือเข้ามาช่วยหนุนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นไปตามปณิธานการปกป้องผู้บริโภคที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ซึ่งล่าสุดก็มีผู้เสียหายติดต่อเข้ามาร้องเรียนกว่า 50 รายแล้ว และกำลังจะดำเนินการ “ฟ้องร้องกลุ่ม” เพื่อให้มีผลตามกฎหมาย เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเกิดขึ้นจริงๆ เสียที

“ตามหลักการของการฟ้องคดีกลุ่มแล้ว ผู้บริโภคที่เสียหายในลักษณะคล้ายกัน จะมีตัวแทนฟ้องร้อง ซึ่งเป็นคนเดียวก็ได้ เนื่องจากกรณีเหมือนกัน ต่างกันแค่ราคาและรุ่นที่ซื้อเท่านั้น โดยเคสนี้ แบ่งออกเป็น 2 รุ่นกระทะที่ขายในไทย คือรุ่นไดมอนด์ กับรุ่นโกลด์ซีรีส์ ซึ่งผู้บริโภคที่เดือดร้อนจากการซื้อกระทะแบรนด์นี้จะได้รับการคุ้มครองทั้งหมด

[โพสต์ต้นเรื่องจากผู้บริโภค ที่ทำให้เกิดการตรวจสอบกรณี “โคเรียคิง” ขึ้น]
พลังผู้บริโภคคือการเปลี่ยนแปลงค่ะ ถ้าคิดว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง พลังผู้บริโภคนี่แหละค่ะที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญมาก ขนาดมดยังแบ่งลูกฝรั่งใหญ่ๆ ได้ถ้าช่วยกัน พลังผู้บริโภคก็สำคัญค่ะถ้ารวมตัวกัน

ถ้าผู้บริโภคนอนหลับทับสิทธิในการร้องเรียนของตัวเอง เขาก็จะโกงท่านได้ตลอด และเขาก็ไม่ได้โกงท่านคนเดียวด้วย แต่โกงคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้บริโภคไม่ลุกขึ้นมารวมตัวกัน ไม่ส่งเสียงหรือส่งข้อมูลมาให้ทราบ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการได้ใจและผลิตสินค้าที่เป็นเหมือนเศษขยะมาขายเรา

แต่ถ้าเขาเห็นว่าผู้บริโภคเป็นหูเป็นตาให้หน่วยงานได้ เขาก็จะระมัดระวังในการผลิตสินค้า ในการดูแลเรื่องมาตรฐาน สุดท้าย เราก็จะได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานจริง ราคาที่สมน้ำสมเนื้อ สมเหตุสมผลตามความเป็นจริง

ที่มา : https://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000050619