ขายของออนไลน์..เตรียมจ่ายภาษี

บทความโดย : ดร.กุลเดช สินธวณรงค์

เรื่องธรรมดาครับ มีรายได้ก็ต้องมีจ่ายภาษี เป็นที่ทราบกับแล้วนะครับว่ากระทรวงการคลังจะปรับโครงสร้างภาษีออนไลน์ เช่นเดียวกับที่หลายประเทศเริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กับกลุ่มเว็บไซต์ ดิจิตอลเอเจนซี่ หรือโซเชียลแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้จากโฆษณาก่อน คำถามคือแล้วพ่อค้าแม่ค้าโซเชียลมีเดียที่มีรายได้จากการขายตรงหรือการโฆษณาล่ะ แนวโน้มจะเป็นอย่างไร

แนวโน้มและแนวทางของการวางโครงสร้างการเก็บภาษีออนไลน์ระดับคอนซูมเมอร์ทั่วโลกก็เป็นไปในทิศทางคล้ายๆ กันครับ คือจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดูที่เจตนาการรีวิวหรือโปรโมตสินค้า การที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ รวมถึง Bloggers หรือ Influencers พูดถึงเรื่องราวทางตรงหรือทางอ้อมของสินค้าบ่อยและตรงเป้า (จงใจ) ขนาดไหน และดูประกอบที่มูลค่าของสินค้าที่ท่านพูดถึงสูงเกินระวางที่กำหนดไว้ต่อครั้งและรวมยอดต่อปีจำนวนเท่าไหร่หรือไม่ ที่สุดแล้วท่านจำเป็นต้องนำรายได้เหล่านั้นมาแสดงภาษีรายได้ส่วนบุคคลประจำปีอีกด้วยครับ เพราะเมื่อบริษัทที่จ้างท่านทำการรีวิวสินค้าต้องนำใบเสร็จมาหักภาษีเหมือนกัน ชื่อท่านก็ไม่ได้ไปไหน ก็วนเวียนอยู่ที่สรรพากรนั่นแหละครับ

มีคำถามว่า ถ้าการแบ่งลักษณะการเก็บภาษีรายได้เป็นแบบนี้ แต่มีแนวโน้มว่าสามารถแจ้งหรือแสดงตัวว่าท่านมีรายได้จากงานประจำอื่นอยู่แล้ว ก็อยากมาขายของออนไลน์เล่นๆ เป็นงานนอกงานเสริมน่ะ ต้องเสียภาษีด้วยอีกหรือ ส่วนตัวผมคิดว่า แนวโน้มคือต้องเสียครับ แต่อยู่ที่ว่าท่านจะแสดงตนว่าได้รับรายได้แบบไหน อย่างไร จำนวนไม่เกินเท่าไหร่ เท่านั้น เท่าที่ทราบมาตอนนี้โครงสร้างกำหนดไว้ตั้งแต่ การโพสต์ การอัพเดตนิวส์ฟีด ทั้งไอจีและในเฟซบุ๊ก ซึ่งถ้าเป็นบัญชีส่วนตัวยังไงก็โดนแน่ๆ

สังเกตว่าเฟซบุ๊กได้พยายามหาทางเลี่ยงให้บริษัทเป็นคนรับผิดชอบแทนพนักงานโดยการเปิดรวบบัญชีธุรกิจที่ดูแลเพจทั้งหมดนานแล้ว ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงให้พนักงานเรื่องภาษี อย่างไรก็ดี พนักงานที่ทำหน้าที่เป็นออนไลน์แอดมินก็ควรศึกษาดูอีกครั้งว่าได้พ้นความเสี่ยงอันนั้นแล้วหรือยัง โดยดูได้จากสัญญาจ้างที่ทำกับบริษัทในฐานะผู้โฆษณา ถ้าสัญญาไม่ได้ระบุไว้ก็ควรจะรีบไปดูนะครับ ภาษีมันเรียกย้อนหลังกันได้เสมอ

มีคำถามอีกว่า เอ๊ะ!!! แล้วถ้าเราจะบอกว่าของที่เราโพสต์ (เนียนๆ) นั้นมันไม่มีราคาล่ะ จะรอดตัวหรือไม่ อันนี้ไม่ยากครับ ท่านก็ต้องพิสูจน์ดูเองว่า ณ ขณะที่ท่านโพสต์ สินค้า หรือบริการ มีราคาตลาดที่เทียบเคียงได้ หรือมูลค่าที่สามารถประเมินและเปิดเผยในที่สาธารณะหรือยัง ถ้ามีก็มีแนวโน้มว่าต้องเสียภาษี หรือถ้า Blogger จะบอกว่า ก็เค้าให้ของมาดูมาลองใช้จะโพสต์หรือไม่ก็ได้เพราะไม่ได้รับตังค์ค่าจ้างนะ (แหม๋) ผมว่าเรื่องภาษีเค้าดูที่ราคาของสินค้าที่ได้รับครับ จะรับมาฟรีหรือไม่สินค้าหรือบริการก็มีราคาในตัวของมัน ถ้าท่านโพสต์แปลว่าท่านจงใจ ถ้าสินค้าไม่เกินระวางที่กำหนดก็รอดตัวไป

นอกจากนี้ถ้าเราคิดเองมโนเองว่า โอ๊ย ซื้อขายกันในอินบ็อกซ์ไม่มีใครรู้หรอก ขายเสร็จก็ลบทิ้ง ใครจะไปรู้ อยากบอกทุกท่านว่าอย่าประมาทเลยครับ ตอนนี้เพจซื้อขายของก็ต้องบอกราคากันชัดๆ ที่คอมเมนต์ในฟีดแล้ว จะมากั๊กเหมือนแต่ก่อนก็ไม่ได้ สมัยก่อนร้านก๋วยเตี๋ยวดังยังเคยโดนนั่งนับชามก๋วยเตี๋ยวมาแล้ว (ก็คิดว่ากินเสร็จก็ล้างชามเหมือนกัน ใครจะรู้) นับประสาอะไรกับเพจดังหรือดาราขายเครื่องสำอางสุดฮอตลือลั่นสนั่นเมือง ส่วนตัวผมคิดว่ายอดขายมันประเมินง่ายกว่าไปนั่งนับชามก๋วยเตี๋ยวนะครับ

สุดท้ายแล้ว ผมว่าคงไม่พ้นต้องเสียภาษีกันถ้วนหน้า จะออกมาในรูปแบบไหนในระดับคอนซูเมอร์เท่านั้นเอง ผมมองว่าทางที่ดีควรจะทำการวางแผนภาษีให้เป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า เพราะออนไลน์โซเชียลตอนนี้มันคือจุดหมุนของโลก มีรายได้ก็จ่ายภาษีไป ดีกว่า (โดนทีหลัง รวมค่าปรับเงินเพิ่ม) นะครับ

pic_profile

Profile
กุลเดช สินธวณรงค์
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด

ด้วยประสบการณ์ทำงานในการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทดีไซน์มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านความรู้ของบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดและองค์ความรู้เพื่อทำให้บริษัทเติบโตและก้าวไปข้างหน้า การเป็นวิศวกร, นักออกแบบ, ครีเอทีฟ และเจ้าของกิจการจากการสั่งสมการทำงานที่มีความแตกต่างกันทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง