Thailand Luxury Symposium 2017

ศูนย์องค์ความรู้ด้านลักชัวรี่ (LUXELLENCE CENTER) ศูนย์สร้างสรรค์องค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแบรนด์หรูแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การบริหารของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดงาน THAILAND LUXURY SYMPOSIUM 2017: LUXURY 4.0 – HOW DIGITAL HAS TRANSFORMED RETAILING (ลักชัวรี่ 4.0: บทบาทของดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการค้าปลีกสินค้าแบรนด์หรู) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้ตระหนักและเข้าใจถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าหรูในปัจจุบัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการธุรกิจค้าปลีกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายในงานได้รับเกียรติจาก ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), สมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, และ มร.จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ

โดยในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรกิตติมศักดิ์และกูรูผู้มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ เจอโรม เฮอวิโอ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จํากัด, เสม ซาบรี โพแซม ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส กรุ๊ป, ดร.ธรรม์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธุรกิจออนไลน์ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน), ลัตซ์ เบเฮรนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย, และ แพม เทียร รองประธานกรรมการ/ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายดิจิทัล บริษัท แมส คอนเน็ค จำกัด รวมถึงมีแขกผู้มีเกียรติที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมสินค้าหรูและสื่อมวลชนมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์องค์ความรู้ด้านลักชัวรี่ (LUXELLENCE CENTER) กล่าวถึงที่มาของหัวข้อ Luxury 4.0 นี้ว่า “ค้าปลีกในยุค 4.0 กำลังเป็นที่กล่าวถึงและนิยมมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ แนวทาง 4.0 สำหรับ Luxury ก็เช่นกัน มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการผสานรวมระหว่างจุดขายแบบออฟไลน์และออนไลน์ ผู้ค้าปลีกต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆอย่างรวดเร็วเพื่อตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด อุตสาหกรรมย้ายจากช่องทางการขายแบบหลายช่องทาง (multichannel) ไปยังช่องทางการขายแบบผสานช่องทางทั้งหมดของธุรกิจเข้าด้วยกัน (Omni-Channel) และตอนนี้กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ในการรวมจุดขายและจุดสัมผัสกับลูกค้า เป้าหมายคือการสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งที่เป็นส่วนตัว (personalized) และราบรื่น (seamless) ซึ่งผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ในทุกช่องทางการขายของแบรนด์

ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมค้าปลีกแบบออนไลน์ก่อให้เกิดความท้าทายมากมายสำหรับบริษัทสินค้าแบรนด์หรู เพราะอาจทำให้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (sensory experience) ระยะห่างทางสังคม (social distance) และอิสระในการคิดและทำงานอย่างสร้างสรรค์ (creative autonomy) เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่บริษัทสินค้าแบรนด์หรูได้พัฒนาขึ้นในช่องทางการขายรูปแบบเดิมหรือแบบออฟไลน์

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มดิจิทัลอาจทำให้เกิดโอกาสสำหรับบริษัทสินค้าแบรนด์หรูในการรักษาความสัมพันธ์และเพื่อเพิ่มประสบการณ์และความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีเกี่ยวกับสินค้าของตน กุญแจสำคัญคือการนำเครื่องมือดิจิทัลและกลวิธีที่สามารถช่วยบริษัทต่างๆในการรักษาและปรับปรุงด้านความหรูหราได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเผยกลยุทธ์บางส่วนซึ่งสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการอภิปรายร่วมกันระหว่างนักวิชาการและผู้ที่อยู่ในสายงานนี้เกี่ยวกับบทบาทของความหรูหราในโลกดิจิทัล

ถ้าเรามองไปข้างหน้า โฟกัสขยับจากธุรกิจที่มีหน้าร้านและมีสถานที่ตั้งที่ลูกค้านั้นจะสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้ ไปยังธุรกิจที่มีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Retailing หรือ E-tailing) จะไปควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงประชากรของผู้บริโภคสินค้าหรู เร็วๆนี้ประชากรกลุ่ม Millennials หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Gen Y โดยคนกลุ่มนี้เติบโตมาในยุคดิจิทัล ที่เต็มไปด้วยการสื่อสารผ่าน E-Mail, Internet, Social Media จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของกำลังซื้อและมีส่วนร่วมในตลาดค้าปลีกสินค้าหรูมากขึ้นในอนาคต การเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภคจากร้านค้าที่มีหน้าร้านไปสู่อีคอมเมิร์ซเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกตลาดและตลาดสินค้าแบรนด์หรูก็ไม่ได้รับการยกเว้น เป็นที่ชัดเจนว่าแบรนด์หรูต้องปรับตัวเพื่อปรับปรุงความสามารถในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และช่องทาง Omni-channel เพื่อให้ทุกคนมีความสัมพันธ์กันโดยเฉพาะกับกลุ่ม millennials”

ด้าน เจอโรม เฮอวิโอ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จํากัด พูดถึงแบบสำรวจการติดตามผู้บริโภคสินค้าแบรนด์หรูของไทย (Thailand Luxury Tracking) 2559 ด้วยความร่วมมือกับ LUXELLENCE CENTER แบบสำรวจที่ถูกจัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภค/ลูกค้าสินค้าแบรนด์หรู เพื่อทำความเข้าใจแรงจูงใจในการซื้อสินค้าทั่วไปและอุปสรรคต่อการซื้อสินค้าแบรนด์หรู และเพื่อหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบรนด์หรูของคนไทยในปัจจุบัน โดยวิธีการสัมภาษณ์โดยตรงกับคนไทยจำนวนทั้งสิ้น 800 คนที่จัดว่าอยู่ในประชากรที่มีรายได้สูง 10% ของประชากรไทย (รายได้ครัวเรือนต่อเดือนมากกว่า 50,000 บาท) ที่มีอายุระหว่าง 18 – 59 ปีในกรุงเทพฯและปริมณฑลอีก 8 จังหวัดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสำคัญดังต่อไปนี้

  • ภาพรวมตลาดสินค้าหรูมีมูลค่าถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและตลาดไทยถือได้ว่าใหญ่ที่สุดในประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้
  • ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีแบรนด์สินค้าหรูเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกว่า 100 แบรนด์ ซึ่งส่งผลมาจากคนชั้นกลางในประเทศไทยเติบโต มีกำลังซื้อและชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น
  • Love for Luxury: เมื่อเปรียบเทียบผู้บริโภคสินค้าหรูของไทยกับกลุ่มผู้บริโภคสินค้าหรูของประเทศจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ บลาซิล รัซเซีย คนไทยมีความชื่นชอบสินค้าหรูเป็นอย่างมาก โดยวัดได้คะแนน 7.4 เต็ม 10 ขณะที่กลุ่มประเทศดังกล่าววัดได้คะแนน 6.5 เต็ม 10
  • จากภาพรวมการซื้อและเป็นเจ้าของสินค้าหรูในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริโภคไทยซื้อสินค้าหรูในกลุ่มนาฬิกาหรูมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 21 ตามด้วยกลุ่มเสื้อผ้า เครื่องประดับ คิดเป็นร้อยละ 17 และเครื่องหนัง คิดเป็นร้อยละ 14 แต่ก็ยังถือได้ว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มประเทศจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ บลาซิล รัซเซีย
  • มองไปในอนาคตข้างหน้า ผู้บริโภคสินค้าหรูของไทยมีความมั่นใจในอนาคตของตนลดลงจาก 92% ในปี 2558 เป็น 85% ในปี 2559 และมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินมากกว่าการจับจ่ายใช้สอยอย่างคล่องมือถึงร้อยละ 64 สูงกว่าประเทศอื่นๆ อาทิ จีน 38% ฮ่องกง 48% เกาหลี 38% รัซเซีย 20% และบลาซิล 53%
  • ผู้บริโภคสินค้าหรูของไทยซื้อสินค้าหรูออนไลน์น้อยอยู่เพียงร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริโภคสินค้าหรูของจีนร้อยละ 63
  • ในสายตาของผู้บริโภคสินค้าหรูของไทยคิดว่าสินค้าหรูที่ผลิตจากประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และอเมริกามีระดับคุณภาพดีที่สุด สินค้าหรูที่ผลิตในประเทศไทยก็จัดได้ว่าอยู่ในระดับคุณภาพดี
  • ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศที่คนไทยเลือกที่จะซื้อสินค้าหรูในประเทศพัฒนาดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558 คนไทยยังคงชอบไปซื้อสินค้าหรูที่ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษและอิตาลี เป็น 3 อันดับต้น ชอบไปซื้อที่ต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทยเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ในขณะที่ในสายตาของคนต่างชาติ เช่น คนจีน คนฮ่องกง คนเกาหลี และคนบลาซิลถือว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่คนเหล่านี้นึกถึงแวลาต้องการซื้อสินค้าหรู
  • ถ้าพูดถึงแบรนด์หรู คนไทยจะนึกถึงแบรนด์ Louis Vuitton, Chanel และ Gucci เป็น 3 อันดับแรก ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจในปี 2558
  • ถ้าพูดถึงแบรนด์หรูของไทย คนไทยกับไม่สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้มากนัก แบรนด์ที่เป็นคำตอบจากกลุ่มตัวอย่างก็คนส่วนใหญ่ถือว่าไม่จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหรู
  • เทรนด์สำคัญของสินค้าหรู 4 ข้อคือ 1) ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล Uniqueness 2) การผจญภัยAdventurousness 3) ประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ Seamlessness 4) ความรอบคอบ Thoughtfulness