ถึงเวลาต่อยอด ! แผนปั้นสติกเกอร์ ไลน์ ให้ได้ไปต่อ

ไลน์สติกเกอร์ยังคงเป็นฟีเจอร์ที่คนไทยนิยมใช้ในการสื่อสารผ่านไลน์อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่มีการใช้เพิ่มมากขึ้น เพราะมีการใช้งานง่ายและมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฟีเจอร์สติกเกอร์เป็นบริการที่สร้างรายได้ให้ไลน์อันดับต้นๆ อยู่แล้ว

โดยปกติแล้วแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.สปอนเซอร์ สติกเกอร์ ทำร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ให้ผู้ใช้ได้โหลดฟรี เพื่อใช้ในการเพิ่มฐานลูกค้าใน Official Account 2.สติกเกอร์ที่วางจำหน่าย แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ Official Market สติกเกอร์ที่ทำร่วมกับผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ วางจำหน่ายราคาเริ่มต้น 60 บาท มีจำหน่ายจำนวนพันกว่าชุด และ Creators Market เป็นครีเอเตอร์ สติกเกอร์ที่ให้คนทั่วไปออกแบบแล้วนำมาจำหน่ายในไลน์ ราคาเริ่มต้น 30 บาท มีจำหน่ายในประเทศไทย 48,000 ชุด

แม้จะเพิ่งเปิดบริการได้ 3 ปีสำหรับไลน์ ครีเอเตอร์ สติกเกอร์ แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นบริการสำคัญที่ไลน์ได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะมีโอกาสการเติบโตสูง ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่รองจากประเทศญี่ปุ่นด้วย มีจำนวนการขายที่เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เป็นตัวเลขเกือบครึ่งแสนเข้าไปแล้ว ชี้ให้เห็นว่าตลาดนี้มีการเติบโตทั้งนักออกแบบ และผู้ใช้

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดสติกเกอร์ไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จากในตอนแรกมีแค่ภาพนิ่งก็เริ่มมีภาพเคลื่อนไหว มีเสียง เป็นป็อปอัพ และล่าสุดสามารถใส่เสียงเพลงได้

ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ทางไลน์พบว่าผู้ชายมีการใช้งานสติกเกอร์มากขึ้น จากปกติที่ผู้หญิงจะใช้มากกว่า ใช้ถี่กว่า และสติกเกอร์ยอดนิยมก็เปลี่ยนไปจากคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงน่ารักๆ เป็นสติกเกอร์แปลก มีคำพูดกวนๆ

คุณกณพ ศุภมานพ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ B2C LINE ประเทศไทย (ขวา)

กณพ ศุภมานพ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ B2C LINE ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนคนซื้อสติกเกอร์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง สติกเกอร์ยอดนิยมก็เป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆ เป็นเด็กผู้หญิง หมา แมวต่างๆ แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ได้เห็นเทรนด์ผู้ชายซื้อ และใช้มากขึ้น สติกเกอร์ยอดนิยมก็เป็นคำพูดกวนๆ เน้นคำพูด มีลายเส้นธรรมดา ตอกย้ำว่าสติกเกอร์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และตอนนี้ใครๆ ก็ทำสติกเกอร์ก็ได้ แค่มีไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องมีฝีมือวาดลายเส้นสวยๆ

เทรนด์ของการใช้สติกเกอร์ที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ทำให้การคัดเลือกสติกเกอร์มีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการใช้ผู้ใช้

ด้วยเหตุนี้ไลน์จึงได้มีการผลักดันตลาดครีเอเตอร์ สติกเกอร์มากขึ้น ทั้งในแง่ของนักออกแบบสร้างการรับรู้ว่าการวาดสติกเกอร์สามารถทำเป็นอาชีพได้ และในแง่ของผู้ใช้มีการเพิ่มช่องทางชำระเงินให้หลากหลาย เพื่อให้ซื้อได้ง่าย ในอนาคตจะเปิดบริการซื้อสติกเกอร์ผ่านตู้เติมเงินโดยจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับตู้เติมเงิน แต่รายละเอียดจะมีการเปิดเผยในภายหลัง

มีแผนในการทำตลาด 4 ข้อหลักๆ ได้แก่

1. ต่อยอดสติกเกอร์เป็นสินค้า มีการสนับสนุนสติกเกอร์ยอดนิยมในการทำสินค้าของที่ระลึก มีการคัดเลือกในแต่ละเดือน แล้วเริ่มจากให้เงินจำนวน 50,000 บาทในการผลิตสินค้า และเปิดช่องทางการขายใน LINE Gift Shop ให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถซื้อสินค้าได้

2. จัดเวิร์กชอปใน 4 จังหวัดหัวเมือ ให้บุคคลทั่วไปที่สนใจทำสติกเกอร์ได้มาเรียนรู้ เริ่มต้นจากจังหวัดกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา 3. เปิดแอปพลิเคชั่น Creators Studio เป็นแอปพลิเคลั่นที่สามารถทำสติกเกอร์ได้เอง จะทำใช้เอง หรือวางขายก็ได้ และ 4. จัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ ได้แก่ LINE Stickers Awards 2017 งานประกาศรางวัลสติกเกอร์ยอดนิยมในสาขาต่างๆ และจัดโครงการ LINE Sticker Contest จัดประกวดในการทำสติกเกอร์

LINE STICKERS AWARDS 2017
คอนเสิร์ตสุดมันส์จากศิลปินชื่อดัง เป๊ก ผลิตโชค อายนบุตร

สำหรับภาพรวมของครีเอเตอร์ สติกเกอร์ ปัจจุบันมีครีเอเตอร์นักออกแบบทั่วโลก 850,000 คน มีครีเอเตอร์ สติกเกอร์ที่จำหน่ายทั่วโลก 530,000 ชุด

ในประเทศไทยมีครีเอเตอร์นักออกแบบ 121,000 คน และมีครีเอเตอร์ สติกเกอร์จำหน่าย 48,000 ชุด

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ครีเอเตอร์ สติกเกอร์มียอดขายรวมทั่วโลก 14,500 ล้านบาท ในประเทศไทยมียอดขาย 400 ล้านบาท และรายได้ของครีเอเตอร์ที่ได้จากการขายสติกเกอร์ 10 อันดับแรกเฉลี่ย 161 ล้านบาท (ยอดขายรวม 3 ปี ระดับทั่วโลก)

คุณคัทลียา แว่นแก้ว ผู้พัฒนาสติกเกอร์ชุด “หัวกลมดุ๊กดิ๊ก”
มร. อุเอคิ ผู้พัฒนาสติกเกอร์ชุด “Betakkuma”จากประเทศญี่ปุ่น (ซ้าย), มร.โมชิ แดดดี้ ผู้พัฒนาสติกเกอร์ชุด “Haughty Smelly Cat” จากประเทศไต้หวัน (ขวา)