อังกฤษชี้ ภายใน 10 ปี งาน 4 ล้านตำแหน่งถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์

ภาพจากรอยเตอร์

ไม่เฉพาะตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มกังวลว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานของมนุษย์ เพราะในอังกฤษเองก็มีความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน และผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า งานราว 4 ล้านตำแหน่งในภาคเอกชนของอังกฤษมีสิทธิถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ภายใน 10 ปีข้างหน้า 

โดยนักวิจัยเผยว่า 13 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานในภาคเอกชนเชื่อว่าในอีกสิบปีข้างหน้าจะมีตำแหน่งงานหายไปจากท้องตลาด 30 เปอร์เซ็นต์อันเนื่องมาจากปัญญาประดิษฐ์ โดยงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติคืองานด้านการเงิน บัญชี คมนาคมขนส่ง งานในภาคการผลิต งานด้านสื่อ การตลาด การโฆษณา งานด้านค้าปลีก งานด้านไอที-เทเลคอม และงานด้านกฎหมาย เป็นต้น

Royal Society of Arts หรือ RSA ซึ่งเป็นผู้จัดทำการวิจัยดังกล่าวเผยว่า ผลการศึกษานี้เป็นตัวเลขที่ไม่แย่มากนัก เมื่อเทียบกับการศึกษาวิจัยในอดีต 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้นำองค์กรนั้นมองว่าการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้นจะช่วยเพิ่มทางเลือกมากกว่าจะทำให้ตำแหน่งงานนั้น ๆ หายสาบสูญไป อีกทั้งยังอาจเกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ตามมาได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น งานดูแลบ้าน ที่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาช่วยดูแลคนชรา และคอยเตือนให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง รวมถึงไว้ใช้ในกรณีมอนิเตอร์การเดินเหินภายในบ้าน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีบริษัทชื่อ Three Sisters Home Care ที่กำลังทดลองนำหุ่นยนต์มาช่วยอุ้มผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ลดการจ้างผู้ดูแลลงได้ จากเดิมที่อาจต้องจ้างสองคน ก็อาจเหลือเพียงหนึ่งคน

ทาง RSA ยังได้มีการเตือนด้วยว่า อังกฤษควรมีการลงทุนในหุ่นยนต์ให้มากกว่านี้ มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงที่จะตามหลังประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และอิตาลีที่มีการลงทุนทั้งผลิตหุ่นยนต์และจัดซื้อหุ่นยนต์มากกว่าได้ โดย RSA มองว่า หุ่นยนต์สามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้ดีในงานที่สกปรก เช่น งานจัดการขยะ หรืองานอันตราย เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ซึ่งหุ่นยนต์มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่านั่นเอง

แม้ว่าการมาถึงของหุ่นยนต์จะหมายถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นหลายประการ แต่ก็มีความกังวลไม่น้อยว่า แล้วใครจะได้ประโยชน์จากการใช้หุ่นยนต์มากที่สุด เป็นคนส่วนใหญ่หรือแค่คนส่วนน้อยที่ถือครองทรัพยากรส่วนใหญ่เอาไว้ รวมถึงว่าแรงงานหลังจากมีหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนแล้วจะได้รับค่าตอบแทนในลักษณะใด 

แต่บางทีคำตอบของคำถามเหล่านี้อาจไม่มีทางมาถึงจนกว่าจะเกิดสถานการณ์จริง ๆ ขึ้นก่อนก็เป็นได้


ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000096306