“อสมท” ดิ้นหนีตาย ปรับใหญ่ทีวีดิจิทัล “เปิดสายช้อปปิ้งลงผังช่องเด็ก” ลดข่าวช่องหลักดันบันเทิงเสียบ

สมรภูมิแย่งยิงเค้กเรตติ้งคนดู และเม็ดเงินโฆษณา ที่นับวันก็ยิ่งเข้มข้น ยังคงเป็นโจทย์หินของ “ทีวีดิจิทัล” ต้องพลิกแผนหาลู่ทางใหม่ๆ ตลอดเวลา

อสมท เป็นอีกช่องที่ตัดสินใจยกเครื่องช่อง อสมท 14 (MCOT 14) ใหม่ เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากช่วงเริ่มประมูล ช่องเด็ก และครอบครัว เป็นช่องรับฮัลโหลสั่งซื้อสินค้า จาก SMEs Start up และ OTOP เปิดตัว (Soft Launch ) พ.ย.นี้ หวังกวาดรายได้ก่อน ค่อยรอเรตติ้งมา

เขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสมท ได้ปรับกลยุทธ์บริหารทีวีดิจิทัลทั้งสองช่องของอสมท ได้แก่ MCOT HD ช่อง 30 และ MCOT Family ช่อง 14 ใหม่ โดยตั้งเป้าให้ช่อง MCOT HD ช่อง 30 ได้เรตติ้งอยู่ในอันดับ 8 ภายในปีหน้า จากปัจจุบันอยู่ประมาณอันดับ 10

“การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นอันดับแรก คือเราปรับโฉมช่อง MCOT Family ช่อง 14 เป็นชื่อ ช่อง  MCOT 14 โดยเน้นรายการประเภทส่งเสริมธุรกิจ SMEs, ส่งเสริมการขายสินค้าผ่านระบบ e commerce ให้กับสินค้าประเภท OTOP ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และเสริมด้วยการสนับสนุน Start up ธุรกิจของคนรุ่นใหม่”

อสมท จะเริ่มรีแบรนด์ช่อง 14 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นการ Soft Launch เพื่อทดลองตลาด โดยมีการเซ็นความร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อร่วมกันผลิตรายการ และรายการขายผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านของแต่ละจังหวัด (OTOP) ที่มีสินค้ามากกว่า 600 รายการ โดยเป็นการขายผ่านระบบ e commerce และผ่านระบบ Call Center ที่อสมท กำลังเร่งทำระบบ Back up ของ Call Center ร่วมกับพาร์ตเนอร์ และระบบ Monitoring งบลงทุนประมาณ 20-30 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ อสมท จัดสรรงบประมาณลงทุน ช่อง MCOT 14  เพราะที่ผ่านมา เป็นการจัดผังรายการแบบรีรันรายการเดิมในสต๊อกจึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

“การรีแบรนด์ใหม่ครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะพลิกโฉมช่องของเราให้เป็นที่รับรู้ จดจำของตลาดมากขึ้น โดยจะช่วยผลักดันให้เรตติ้งค่อยๆ ดีขึ้น จากเดิมที่ช่อง 14 เรตติ้งอยู่ในสามอันดับสุดท้ายของช่องดิจิทัลทั้งหมด ส่วนในแง่รายได้ก็จะเริ่มมีเข้ามาจากยอดขายสินค้า และการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ สปอนเซอร์ และโฆษณา” นายเขมทัตต์ กล่าว

รูปแบบการขายสินค้าของช่อง จะแตกต่างจากพวกรายการ Home Shopping ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ซื้อเวลา และไปขายสินค้าของตัวเอง แต่ อสมท จะผลิตรายการร่วมกับพาร์ตเนอร์ และใช้บุคลากรของช่องในการนำเสนอรูปแบบสินค้า

นอกจากนี้ช่อง MCOT 14 ก็จะออกอากาศ 24 ชั่วโมง โดยเป็นการรีรันรายการ ผสมกับรายการขาสินค้า OTOP และ SMEs และคาดว่าจะใช้เวลาทดลองตลาดประมาณ 2-3 เดือน แล้วถึงจะเปิดตัวเป็นทางการในต้นปีหน้า และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน อสมท จะเริ่มมีรายได้จากช่อง MCOT 14 จากนั้นจะเริ่มผลิตละคร ซีรีส์สำหรับครอบครัว ที่เหมาะสมกับช่องตามมา

สำหรับสัดส่วนผังรายการเบื้องต้นที่วางไว้สำหรับช่อง MCOT 14 คือ เป็นรายการวาไรตี้ SMEs ที่รวมการขายสินค้า 65% รายการข่าว 10% กีฬา 10% และ รายการเด็กและการ์ตูน 15%

อย่างไรก็ตาม เขมทัตต์ ยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ได้ทำผิดกฏ กสทช. เพราะยังคงมีรายการสำหรับเด็กและครอบครัว เช่น การ์ตูน สารคดี อีกทั้งรายการที่ปรับใหม่ ก็เป็นรายการที่สามารถดูได้ทั้งครอบครัว

ถ้า กสทช. จะออกมาห้ามด้วยกฎกติกาต่างๆ เราก็ไม่สนใจแล้ว เพราะไม่ได้ผิดกฎอะไร ทุกวันนี้ทุกช่องต้องปรับกลยุทธ์หนีตาย สร้างรายได้กันทั้งนั้น

ทั้งนี้ ตัวอย่างของทีวีดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจากการเน้นการขายสินค้ามาแล้วคือช่อง 8 ของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) จากตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสที่สองของปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ที่ 857.6 ล้านบาท มีรายได้จากการขายสินค้าประเภทเครื่องสำอางกว่า 300 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากกิจการทีวีดิจิทัลอยู่ที่ 435 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการขายสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 35% เริ่มเข้ามาใกล้เคียงรายได้จากกิจการทีวีดิจิทัลที่อยู่ในสัดส่วน 50.75% ทำให้อาร์เอสประกาศว่า หากรายได้จากการขายสินค้าสูงกว่ารายได้กิจการทีวี ก็จะขอย้ายจากหมวดมีเดียในตลาดหลักทรัพย์ไปอยู่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคแทน

ลดข่าว ลุยเพิ่มซีรีส์จีน กีฬา ดัน MCOT HD 30 ขึ้นอันดับ 8

ในส่วนช่อง MCOT HD ช่อง 30 อสมท จะลดสัดส่วนเนื้อหารายการข่าว ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 40% ให้ลดลงมาเหลือ 30% เพื่อไปเพิ่มสัดส่วนรายการประเภทบันเทิง เพื่อเพิ่มเรตติ้งและรายได้

“รายการบันเทิงจะเริ่มก่อนเลยคือ ซีรีส์จีน โดยเฉพาะประเภทพีเรียดกำลังภายใน มีความทันสมัย โปรดักชั่นดี ภาพสวยน่าจะโดนใจผู้ชมคนไทยได้ ไม่แพ้ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่จะนำเข้ามา คือ วิหคนครา  หรือ Novo Land ซีรีส์กำลังภายในรุ่นใหม่ เริ่มออกอากาศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา”

อสมท ยังได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับ Oversea China TV (OCTV ) ของ China International Broadcasting Network (CIBN)  ประเทศจีน โดยทางจีนสนใจซีรีส์ละครไทย ที่ อสมท จะผลิตเอง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปทั้งการขายลิขสิทธิ์ในราคาพิเศษ และการแลกเปลี่ยนรายการกันซึ่งกันและกัน

ส่วนการผลิตละครไทยต้องใช้เวลา ซึ่ง อสมท อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ผลิตละคร คาดจะมีประมาณ 15 เรื่องต่อปี เริ่มเห็นละครชุดใหม่ของ อสมท ประมาณกลางปีหน้า ซึ่ง อสมท หวังรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ละครในตลาดต่างประเทศในอนาคตด้วย

นอกจากละคร และซีรีส์จีนแล้ว อสมท ยังได้ลิขสิทธิ์รายการกีฬาทั้งฟุตบอล และกอล์ฟต่างประเทศมาออกอากาศด้วย ตั้งแต่ ฟุตบอลรายการคาราบาวคัพ ของอังกฤษ และ English Football League (EFL ) และล่าสุดยังได้กีฬากอล์ฟระดับโลกอย่าง LPGA มาหนึ่งรายการอีก และตกลงกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมผลิตรายการเกี่ยวกับธุรกิจแวดวงอุตสาหกรรมด้วย

การปรับรูปแบบรายการทั้งหมดนี้ ยังอยู่บนพื้นฐานว่า อสมท เป็น Wisdom TV จากเมื่อก่อน มี Theme ว่า เป็นสังคมอุดมปัญญา ซึ่งรายการทั้งหมดก็ต้องอยู่ใน Theme นี้ ทั้งข่าว ละคร วาไรตี้ ซีรีส์เพราะพื้นฐานของ อสมท คือความน่าเชื่อถือ จากพื้นฐานการทำข่าว และบุคลากรข่าว

ปัจจุบันรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดของช่อง MCOT HD คือ รายการวันนี้ที่รอคอย เป็นรายการที่ตามหาคนหาย และและพบว่ากลุ่มผู้ชมของช่องคือกลุ่มคนช่วงวัยทำงาน จนถึงสูงอายุ และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งอาจจะรวมถึงเจ้าของบริษัท และธุรกิจใหญ่ๆ

เล็งต่อยอดปั้นรายได้จากยอดไลก์ แฟจเพจ โซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้สื่อออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างมาก เป็นหนึ่งในช่องทางที่อสมท กำลังหารูปแบบการสร้างรายได้จากช่องทางของ YouTube และ Facebook ที่มียอด Subscribers , Followers และยอด Likes ยอด Views สูงจาก 4  Accounts ได้แก่  MCOT HD, Nine Entertainment, สำนักข่าวไทย และ MCOT

โดย Nine Entertain มียอด Followers ใน Facebook สูงสุดอยู่ที่ 4 ล้าน และยอดคนติดตามที่ YouTube อยู่ที่ 276,000 Subscribers

“เราจะใช้ประโยชน์จากยอดสมาชิกเหล่านี้ เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต และยังเป็นการเปิดช่องทางฐานคนดูใหม่ให้กับเราด้วย“

นอกจากนี้ อสมท ยังมีความร่วมมือกับ  LINE ในการผลิตรายการพิเศษให้กับ LINE โดยเริ่มจาก Nine Entertain รูปแบบที่สำหรับลูกค้า LINE โดยเฉพาะ ซึ่งในอนาคตจะขยายรูปแบบความร่วมมือ และรายได้มากขึ้นด้วย

สำหรับผลประกอบการของ อสมท ในไตรมาสที่สองของปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ที่ 717 ล้านบาท มีรายได้หลัก 276.5 ล้านบาท มาจากกิจการทีวีดิจิทัล ในสัดส่วน 38.5% ของรายได้ทั้งหมด ตามมาด้วยรายได้จากกิจการวิทยุอยู่ที่ 263.9 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนรายได้ 36.8% มาจากสัมปทานทีวี จากทีวีบอกรักสมาชิกของทรูวิชั่นส์ และอนาล็อกทีวีของบริษัทบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ หรือ ช่อง 3 อนาล็อก รายได้รวมกันอยู่ที่ 147.9 ล้านบาท หรือในสัดส่วน 20.6% ของรายได้ทั้งหมด.