นกหวีด- ภควดี เสรีวิวัฒนา “เชฟ ไม่ใช่อาชีพแต่คือชีวิต”

ในวงการสื่อ “นกหวีด-ภควดี เสรีวิวัฒนา” กลายเป็น “เชฟงานชุก” ด้วยหน้าตาและความสามารถในการครีเอตเมนูเดิร์นๆ ที่มีส่วนผสมแปลกๆ …นอกเหนือจากงานประจำในการเป็นที่ปรึกษาให้ “DOLCE Laboratory” ชื่อของเธอยังมักปรากฏอยู่ในบัตรเชิญของงานอีเวนต์ต่างๆ เสมือนหนึ่งเป็น Celeb ของสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ M.A.C, Chivas, Smooth E, One-2-Call เป็นต้น

เสน่ห์ของนกหวีด อาจอยู่ที่ความ Contrast ในตัวเธอ ตัวตนที่ขี้อายและเรียบร้อยอย่างสิ้นเชิงดูแล้วขัดกันกับบุคลิกภายนอกแบบสาวหล่อ/ทอมสวย ที่มาพร้อมสกินเฮดอันเป็นเอกลักษณ์ เธอถ่ายทอดดีเอ็นเอความเปรี้ยวมาถึงเมนูอาหารสไตล์ฟิวชั่นสุดเก๋ จนหลายคนอาจเข้าใจว่าเธอเป็นผู้นำแฟชั่น แท้จริงแล้วนอกจากงานในครัว นกหวีดยังมีทัศนคติและความละเอียดอ่อนต่อการมองสังคม เธอจึงเป็นมากกว่าเชฟที่รู้จักแค่การปรุงอาหารให้อร่อย หากแต่แนวคิดดีๆ ของเธออาจช่วย (ปรับ) ปรุงให้สังคมของเรากลมกล่อมขึ้น

นกหวีดเติบโตมาในแบบแผนของคนเมืองที่ค่อนข้างมีฐานะ เธอมีพี่สาวที่ชื่อแปลกพอๆ กับเธออีกสองคนคือ “กระติก” และ “ออ” เธอจึงไม่คิดจะหาคำตอบใดๆ ให้กับชื่อ “นกหวีด” ของเธอ

POSITIONING : ไม่รู้สึกว่าลุคขัดกับอาชีพแม่ครัว
นกหวีด : ไม่หรอก จะดูที่คนภายนอกได้ไง ผู้หญิงเรียบร้อยแต่ทำอาหารไม่เป็นก็เยอะ แถมยังไม่เรียบร้อยจริงๆ อีก อย่างเด็กคนนั้น (นกหวีดชี้ไปที่พนักงานเสิร์ฟของร้าน) คุณรู้มั้ยว่าเค้าจบวิศวฯ เกษตร ที่ร้านเราไม่เรียกเด็กเสิร์ฟนะ เราเรียก Attendant

นกหวีดจบชั้นม.3 จากเซนโยแซฟฯ และได้รับทุนไปเรียนต่อยังแคนาดา เธอกลับมาเข้าเตรียมอุดมฯ เพื่อเข้าสู่วงจรเอนทรานซ์ “ยอมรับว่าเข้ากับระบบการศึกษาไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ถูกสอนมาให้เอนทรานซ์แบบเด็กไทยที่เค้าท่องหนังสือมาเพื่อเอนท์ฯมาเป็นปีๆ” เธอเรียน ABAC อยู่พักหนึ่ง ขณะเดียวกันก็แอบสมัครเรียนที่นิวซีแลนด์ไว้ “นกหวีดชอบประเทศที่มีทะเล” เธอเริ่มต้นการเรียนที่เมืองนอกด้วยการเรียนกฎหมาย ก่อนเปลี่ยนมาเรียน Culinary Arts ของ City & Guild of London Institute ในปีต่อมา นกหวีดตั้งใจใช้เวลาศึกษาหลักสูตรของการเป็นเชฟอยู่ถึง 6 ปีเต็ม เพื่อหยั่งความรู้ให้ลงลึกที่สุด

นกหวีด : ตอนนั้นเค้ามีประกวดทำอาหาร นกหวีดทำไอศกรีมหอยนางรมจนได้รางวัล เลยยิ่งมั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว

ใครจะคิดว่าในห้องเรียนนกหวีดเป็น ”เด็กเนิร์ดๆ” คนหนึ่งของคลาส “ว่าที่เชฟ” ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 คน นกหวีดเป็นเอเชียเพียงหนึ่งเดียว เธอทุ่มเทกับการหาความรู้เอามากๆ ขนาดว่าอาหารชนิดนี้มีต้นกำเนิดจากที่ใด เธอจะบุกไปคุยกับคนชาตินั้นถึงที่ นกหวีด : แรกๆ เพื่อนคงไม่ค่อยชอบเรา อาจจะเป็นเพราะนกหวีดดูแตกต่าง เจ้าระเบียบ สะอาด ไม่ชอบคนเลอะเทอะ อย่างมีฝรั่งคนนึงชอบวางของรก เราก็ไม่ให้มันอยู่ร่วมม้านั่งด้วย แต่ตอนหลังเวลาทำรายงานเพื่อนๆ ในห้องจะชอบมาถามนกหวีด เช่น เวลามีคำนวณ

POSITIONING : ทำอาหารต้องเรียนคำนวณด้วยหรือ
นกหวีด : ใช่ เรียนทำอาหารก็ไม่ใช่ทำกับข้าวอย่างเดียว ต้องเรียนทำบัญชี ออกแบบครัว ระบบความสะอาด การทิ้งขยะ ระบบไฟ ระบบน้ำ วางท่อน้ำยังไงถึงจะได้ Workflow

POSITIONING : มีวิชาไหนที่ไม่ชอบบ้าง
นกหวีด : ไม่เลย ชอบทุกวิชานะ คือข้างนอกอาจเป็นคนดูไม่ค่อยมีความมั่นใจ ขี้อาย เก็บตัว แต่ถ้าอยู่ในครัวนกหวีดจะมั่นใจ จะรู้สึกว่านี่เป็นที่ของนกหวีด

นกหวีดเป็นที่รู้จักของเพื่อนๆ มากขึ้น เมื่อเธอ ”ปลูกผัก” หลังครัวที่มหาวิทยาลัย…

นกหวีด : พอดีมันมีที่ว่างก็เลยขอเค้าปลูกพวกมะเขือเทศ บร็อกโคลี พริก โรสแมรี่ นกหวีดเริ่มจากเอากระถางไปวางวันละนิดละหน่อย ที่นี่ก็ปลูก (เธอพาไปดูโรสแมรี่ที่เธอเอามาหลบไว้ด้านหน้าของร้าน DOLCE เอ็มโพเรียม)

POSITIONING : แล้วเวลาทำงานกลุ่มทำยังไง ดูมีโลกส่วนตัวสูง
นกหวีด : งานกลุ่มนกหวีดไม่ทำ เพราะเราใช้เวลาทำงานนาน กลัวเสียเวลาคนอื่นเค้า ขออาจารย์ทำเดี่ยวด้วยเหตุผลว่าเราเข้าสังคมไม่เป็น

POSITIONING : ต้องทำงานพิเศษมั้ย
นกหวีด : ทำทุกวัน เคยทำงานอยู่ Butcher ต้องเอาวัวที่เค้ามาส่งขึ้นแขวน เอามาทำเป็นพวกไส้กรอก แล้วก็ทำที่โรงแล่ปลา ตอนแรกที่ยังแล่ไม่เป็นเค้าให้เอาปลามาล้าง แยกพันธุ์ไปตามราง ส่วนร้านอาหารได้ทำร้านที่ดีมาก เป็นของ Annabel เชฟชื่อดัง นกหวีดได้เป็น Junior Sous Chef ด้วย

POSITIONING : มีวิธีการหาความรู้ยังไงบ้าง
นกหวีด : คนเราถ้าไม่อยู่ในช่วงนอนก็หาความรู้ได้เสมอ ลองผิดลองถูก นกหวีดทดลองด้วยตัวเองจนกว่าจะได้วิธีที่ดีที่สุด

POSITIONING : ครัวก็เลยกลายเป็นเหมือนห้องทดลองของนกหวีด
นกหวีด : การทำอาหารเป็นเรื่องของ “ศิลปะและความแม่นยำ” ทั้งในด้านส่วนผสม และ Timing ครัวไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่ เป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงเพราะต้องแข่งกับเวลา เชฟต้องจูนทัศนคติของคนที่มาจากหลายบ้านให้ตรงกันให้ได้

POSITIONING : อันนี้เป็นปรัชญาส่วนตัวในการทำงานด้วยรึเปล่า
นกหวีด : ใช่ เรื่องส่วนตัวต้องไม่อยู่ในครัว ทุกคนเกิดมาต้องเจอปัญหาทั้งนั้น แต่งานเราคืองานบริการ ต้องไม่อารมณ์ลงไปอาหาร

นกหวีดกลับมาเมืองไทย และตั้งใจว่าไปใช้ชีวิตเชฟอยู่แถบยุโรป “มีคนติดต่อมาจากอังกฤษเหมือนกันแต่ไม่ชอบฝน” จนถึงตอนนี้นกหวีดมาอยู่เมืองไทยได้ 2-3 ปี แล้ว “…ตกกระไดพลอยโจนมากกว่า ก็เพราะมีงานต่อเนื่องตลอด แล้วก็เมืองไทยน่าอยู่”

นกหวีด เริ่มทำงานที่เมืองไทยครั้งแรกกับ Central Gourmet Supermarket ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเป็นส่วนหนึ่งใน Opening Team ความที่ไม่เคยทำงานในเมืองไทยและไม่ค่อยมีสังคมที่นี่ เธอจึงต้องเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ (ในความคิดของเธอ) โดยเฉพาะการปรับตัวกับวัฒนธรรมการประนีประนอมของคนไทย

นกหวีด : นกหวีดว่ามันไม่ควรใช้กับเรื่องงาน อย่างหมอนี่ Compromise ในการรักษาคนไข้ได้เหรอ การเป็นเชฟนี่สำหรับนกหวีดมันไม่ใช่แค่อาชีพ แต่มันคือชีวิต บางคนเค้ามาอยู่ในสายงานนี้ไม่ใช่เพราะใจรัก เราเลยต้องปรับตัวเรื่องการพูด

นกหวีดกลายเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน หลังจากที่เธอปรากฏตัวในรายการ “เจาะใจ”

นกหวีด : ต้องขอบคุณรายการเจาะใจที่เปิดหน้านกหวีดสู่สาธารณชน และขอบคุณพี่ปุ๊ (ศศิธร พิบูลชัยสิทธิ์) แห่งครีเอทีฟ จูซ จี 1 ที่ทำให้เราได้ใช้ Skill ของเราเต็มที่ในงานอีเวนต์ต่างๆ จนมีงานทำอาหารต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

POSITIONING : เอกลักษณ์ในเมนูของเชฟนกหวีด
นกหวีด : ตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว ไม่มีใครบอกว่าเราเป็นแนวไหน รู้แต่ว่าเป็น “แนวแปลก” ไม่รู้สิบางทีคุณจะอาจเห็นสามเหลี่ยม แต่นกหวีดอาจมองเป็นหกแฉกก็ได้ ไม่จำเป็นที่หมูต้องเป็นชิ้นกลมๆ มันมีรูปทรงยังไงก็ได้ นี่คือสไตล์นกหวีด แล้วอีกอย่างนกหวีดก็ชอบใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ ชอบดั้นด้นหา อย่าง Crayfish นี่นกหวีดลงไปงมเองเลย ที่เมืองไทยซื้อกระต่ายก็ไปชี้ถึงฟาร์มเลยว่าเอาตัวนี้ เห็ด นกกระทา แพะก็เหมือนกันไปถึงสระบุรี ที่ร้านก็ใช้ดอกขจร ต้นแทยง อย่างผักบุ้งสวยๆ นี่ต้องซื้อจากคนแก่ที่ขายตามถนน

POSITIONING : ผักไทยๆ สามารถใส่ลงไปในอาหารตะวันตกได้
นกหวีด : ได้เลย อย่างผักบุ้งไทยนกหวีดเอามาทำสลัดเพราะกินสดได้ หรือไม่ก็สับใส่ชาบูเล่ ไอติมของนกหวีดก็มีหลายรสตั้งแต่รสเบียร์ หอยนางรม แครอท หัวหอม วาซาบิ ฟักทอง หอมแดง ฯลฯ

POSITIONING : เล่าชีวิตในตอนนี้ให้ฟังหน่อย
นกหวีด : ตื่นมาก็เช็กเมล คุยกับเจ้านายทุกเช้าเพื่ออัพเดตข้อมูล เข้าไปโกดังที่เพชรบุรี เพราะที่นั่นมีครัวใหญ่ต้องไปดูออเดอร์ด้วย เพราะบางอย่างเราก็ทำส่งให้โรงแรมในกรุงเทพฯ

POSITIONING : นกหวีดทำอาหารเร็วมั้ย
นกหวีด : ไม่เร็วนะ เพราะเราไม่ได้ Precook ถ้ามีสั่งพร้อมกัน 2 โต๊ะ นกหวีดจะบอกให้งดออเดอร์ก่อน งานครัวถ้าไม่ใจรักทำไม่ได้หรอก เครียด

POSITIONING : ไม่ชิลด์เหมือนการทำงานศิลปะ เหมือนการจัดดอกไม้หรือ
นกหวีด : งานจัดดอกไม้ก็ต้องเครียดของเค้า ถ้าใจไม่รักก็ทำไม่ได้ คุณต้องมีความอดทน เพราะครัวมันร้อน ทั้งเตา ทั้งน้ำมัน คุณต้องยืนตลอด ของก็หนัก อย่างนกหวีดทำงานวันละ 13-14 ชั่วโมง เครียดก็มีบ้างว่าอาหารจะออกมาเป็นยังไง เพราะเราเสิร์ฟให้คนที่มาจากหลายบ้าน ทำยังไงให้เค้าแฮปปี้ มันคืองานบริการนั่นเอง

POSITIONING : เคยมีลูกค้าไม่แฮปปี้มั้ย
นกหวีด : ยังนะ

POSITIONING : ผ่านจุดที่คิดว่าประสบความสำเร็จแล้วรึยัง
นกหวีด : ยังค่ะ ต้องมีร้านก่อน ตอนนี้ขอบริหารร้านคนอื่นให้ประสบความสำเร็จก่อน

POSITIONING : มีชื่อร้านรึยัง
นกหวีด : (อมยิ้ม) มีแล้ว ชื่อ “The Ugly Duck Saloon”

POSITIONING : …”ลูกเป็ดขี้เหร่”… ทำไมล่ะ
นกหวีด : ก็นกหวีดคิดว่าตัวเองเป็นแกะดำตลอดไง เราไม่ค่อยเหมือนใคร ตอนเด็กๆ คิดมากนะ แต่โตขึ้นก็คิดว่าไม่เป็นไรหรอก เราก็เป็นอย่างงี้

POSITIONING : ร้านในฝันของนกหวีดหน้าตายังไงนะ
นกหวีด : ก็ต้องเป็นกระจกโปร่งๆ แต่ไม่หวานขนาดนี้นะ (หมายถึงร้าน DOLCE)

POSITIONING : คิดว่าเมืองไทยมีศักยภาพที่จะเป็น “ครัวโลก”ได้มากน้อยแค่ไหน
นกหวีด : ในสายตาเชฟตัวเล็กๆ คนนึงนะ นกหวีดคิดว่ามันมี Possibility หลายอย่าง ประเทศเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่เราต้องไม่เช้าชามเย็นชาม ไม่เอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาในงาน ต้องมีความอดทนให้มากกว่านี้ ยอมรับเถอะว่าคนของเราไม่ขวนขวาย ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเราที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ขวนขวายซึ่งคนพวกนี้มักเป็นเจ้าของกิจการ คนทำงานของเราต้องเปลี่ยนทัศนคติ ต้องยอมฟังคนรุ่นใหม่บ้าง และที่สำคัญเราขาดความ “นิยมชาติ”

POSITIONING : วิถีนิยมชาติในวิชาชีพเป็นอย่างไร
นกหวีด : อย่างในการทำอาหาร นกหวีดพยายามซื้อวัตถุดิบทุกอย่างจากเกษตรกรไทย ผักนี่ส่งตรงจากโครงการหลวงบ้าง ซื้อในตลาดบ้าง เพราะนกหวีดชอบเดินตลาด แฟนนกหวีดก็ชอบ อย่างสะระแหน่เราซื้อจากรถเข็นแถวบ้านเป็นประจำ กระต่ายนี่สั่งจากลำพูน จริงๆ แล้วถ้าเราจะเป็นครัวโลก ในซูเปอร์มาร์เก็ตของเราควรจะมีผักไทย ผักพื้นบ้าน เพราะถูกและมีประโยชน์มาก คนไทยยังไม่รู้จักผักไทยเลย แล้วจะให้ใครรู้จัก บางอย่างเก็บยาก ต้องพายเรือไปเก็บหรือไปงมแต่เช้า เม็ดบัวจากชาวบ้านจะอ่อนกว่า อ.ต.ก. อย่างดอกมะลินี่ก็ใช้ทำซอส ทำไอติมได้ด้วย หรืออย่างการเลี้ยงกระต่ายในเมืองไทยควรจะโปรโมต เพราะเป็นเนื้อทางการเกษตรที่ไม่มีคอเลสเตอรอล ฟาร์มยังมีน้อยมาก ทั้งที่กระต่ายเลี้ยงง่ายและยังให้ลูกดก

POSITIONING : ดูเหมือนนกหวีดจะมีความรู้เพียงพอที่จะทำธุรกิจแล้ว
นกหวีด : ก็ยังหรอก รอให้ร้านที่ทำอยู่โตกว่านี้ก่อน ตอนนี้ทำงานเลิกตีสอง นอนยังไม่ครบห้าชั่วโมงเลยซักวัน

POSITIONING : มองอาชีพเชฟในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร กำลังเป็นอาชีพใหม่ที่คนให้ความสนใจ
นกหวีด : จริงๆ ในเมืองไทย เชฟเป็นหนึ่งในอาชีพใช้แรงงานที่ไม่โดดเด่นมานานแล้ว เพิ่งมาบูมเอาช่วงนี้ เดี๋ยวคนก็คงแห่ไปเรียน เหมือนช่วงที่แห่ไปเรียนกราฟิกที่ซานฟรานฯ เด็กไทยทั้งนั้น แต่ถ้าชอบจริงแล้วไปเรียนรู้นะ ต้องประสบความสำเร็จแน่นอน ทุกอาชีพแหละ ถ้าไม่ได้ตามกระแส คุณจะตื่นนอนแล้วอยากไปทำงาน คุณไม่ได้รอวันที่จะหยุดงาน อาจขอฝึกงานดูก่อนก็ได้ ในโรงเรียนน่าจะมีการทดลองเรียน หรือให้เด็กไทยได้สัมผัสกับอาชีพมากขึ้น ถ้าการศึกษาเป็นอย่างงี้ เด็กจะไม่สับสน เค้าจะรู้ตัวว่าชอบอะไรมากขึ้น

POSITIONING : ไม่คิดจะเป็นครูสอนทำอาหารเองบ้าง
นกหวีด : เคยสอนฝรั่งตอนอยู่นิวซีแลนด์หนึ่งคลาสค่ะ เพราะโรงเรียนบอกให้สอน

POSITIONING : ที่เมืองไทยล่ะ
นกหวีด : คนไทยคงเรียนไม่ได้เพราะนกหวีด “ดุ” อย่างเวิร์คช็อปสอนทำกับข้าวของโนเบิลที่ TENFACE นกหวีดเผลอดุไป เพราะเวลาทำงานเราค่อนข้าง Strict

POSITIONING : เล่าถึงเทรนด์อาหารบ้าง
นกหวีด : ปีก่อนมีการใช้เจลลี่ในการทำอาหารเยอะนะ (เช่น เมนูต้มยำกุ้งเจลลี่ของนกหวีด) ส่วนเทรนด์ปีนี้จะเน้นไปที่ในความเป็นธรรมชาติ ดิบๆ และก็มีเทรนด์ “Slow Cook” ที่เพิ่งโปรโมตเมื่อปลายปีก่อน (เช่น การตุ๋นนานๆ) ถึงขนาดมี “Slow Cook Club” เพราะคุณค่าทางอาหารมันไม่หาย หรือเพราะเชฟเองเริ่มขี้เกียจ อยากทำอะไรช้าลงเลยสร้างเทรนด์นี้ขึ้นมา (หัวเราะ)

POSITIONING : เทรนด์อาหารปีหน้าล่ะ
นกหวีด : อืม นกหวีดอยากโปรโมตเทรนด์ของตัวเองในเมืองไทยอย่าง “ผักออร์แกนิกพื้นบ้าน” มากกว่า

POSITIONING : ทำเป็นรูปเป็นร่างรึยัง
นกหวีด : ขึ้นไปคุยกับโครงการหลวงถึงบนดอยเลย อยากปลูกผักหรือติดต่อซื้อส่วนอื่นของผักที่เค้าไม่ได้ขาย เพราะคนทั่วไปไม่คิดว่าจริงๆ แล้วผักกินได้เกือบทุกส่วน อย่างผักกาดที่เกาหลีเค้าเอาไปทำกิมจิ นกหวีดเห็นบ้านเราเค้าเอาไปจัดเป็นไม้ประดับซะอย่างงั้น นกหวีดเลยเด็ดมาทานโชว์ซะเลยว่าทานได้ ไม่ตาย

POSITIONING : ทำอาหารได้เกือบหมดทุกชาติ เมนูแบบไหนท้าทายสุด
นกหวีด : อาหารอีสานบ้านเราไง นกหวีดเอาปลาร้าทั้งตัวมาทำไข่เจียวแล้วนะ อาหารที่มีกลิ่นเหม็นแล้วทำให้อร่อยนี่ท้าทาย นี่ขนาดตัวเองไม่กินปลาร้านะ แล้วนกหวีดก็ชอบใช้เครื่องใน สมองวัว สมองหมู คุณรู้มั้ยว่ารสชาติอย่างกะนม

POSITIONING : อยู่บ้านใช้เวลาพักผ่อนยังไง
นกหวีด : ขอนอนก่อน คุยกับพ่อแม่ อยู่กับแฟน แล้วก็เล่นกับหลาน

POSITIONING : ว่าแล้วก็ลืมถามแรงบันดาลใจที่ทำให้ชอบทำอาหาร
นกหวีด : คงเป็นเพราะเห็นคุณแม่ คุณยาย คุณทวด ทำมาตั้งแต่เด็ก คนตัวมันๆ แก่ๆ นั่งหน้าเตาถ่านตำน้ำพริก แล้วที่บ้านเช้ามาก็ต้องมีทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่งอยู่บนโต๊ะ เช่น French Toast /หอมทอด /ไส้กรอก + อาหารไทย

POSITIONING : ทำอาหารให้ที่บ้านทานด้วยรึเปล่า
นกหวีด : ไม่ค่อยค่ะ เพราะนกหวีดชอบครัวที่มีอุปกรณ์พร้อมเพรียง ฉะนั้นเวลาทำทีนึงเลยเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทำให้ทานส่วนมากเป็นขาแกะ

POSITIONING : แล้วอย่างอาหารไทยอย่างพวกแกงเขียวหวานนี่ทำได้รึเปล่า
นกหวีด : ทำได้ แต่จะเป็นคนละแนวกับของแม่นะ ของเราจะเป็นแนวอินเดียแท้ๆ เลย ใช้เครื่องเทศไม่เหมือนกัน

POSITIONING : ร้านโปรด
นกหวีด : ไม่มีนะ อาหารโปรดของเราคืออาหารทุกอย่างที่แม่และแฟนทำ
ไม่ใช่ “โชคช่วย” หรือ “หน้าตาอำนวย” หากแต่ชื่อเสียงของนกหวีดในวันนี้ ล้วนเกิดจากวัตถุดิบของความมานะทั้งในการเรียนและการทำงานตามสายอาชีพของเธอ กระทั่งหากเปรียบเธอเป็นอาหารจานหนึ่ง เธอคงเป็นลิสต์ที่อุดมด้วยคุณค่า ดูน่าทาน