ค้าปลีกมาอีกราย ตระกูลพูลวรลักษณ์ ลุยเปิดศูนย์การค้า “เซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า” มูลค่า 1.2 พันล้าน ลงทำเลอ่อนนุช

เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน สำหรับ “เซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า” โครงการมิกซ์ยูส มีทั้งศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ และโรงแรม บนทำเลทอง “ถนนสุขุมวิท” ติดสถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุช

นับเป็นการขยายสาขาใหม่ของ “กำพล พูลวรลักษณ์” อีกหนึ่งใน ทายาทตระกูลโรงหนังชื่อดัง หลังจากว่างเว้นการเปิดสาขามาถึง 12 ปี

สาขาแรกของกำพล คือ เซ็นจูรี่ เดอะ มูฟวี่ พลาซ่า ตั้งอยู่แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นทำเลทองสุด ๆ เพราะมีผู้คนเดินทาง ใช้ชีวิตในย่านดังกล่าวแต่ละวันมหาศาล และเซ็นจูรี่ยังจัดเป็น ห้างแห่งเดียว ที่มีโรงภาพยนตร์

สำหรับ “เซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า สุขุมวิท” พัฒนาภายใต้บริษัท เอกพัฒนกิจ จำกัด ต่างจากสาขาแรกที่ใช้ชื่อบริษัท เอกมหากิจ จำกัด

งบที่ใช้ลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท วางคอนเซ็ปต์ให้เป็น “ไลฟ์สไตล์มอลล์” มีห้างร้านต่าง ๆ “โรงภาพยนตร์” และ “โรงแรมอวานี” 

ชั้น 1-3 เป็นพื้นที่ค้าปลีก มีร้านอาหารแบรนด์ดัง เช่น ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ร้านริงเกอร์ฮัท และ นางาซากิซาราอูด้ง ต้นตำรับจากญี่ปุ่น “ร้านมัทสึโมโตะ คิโยชิ” สเปเชียลตี้สโตร์เพื่อสุขภาพและความงามอันดับ 1 จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสาขาแรกในทำเลสุขุมวิท จากเปิดให้บริการประมาณ 14 สาขา ร้านคัตสึยะ ทงคัตสึเบอร์ 1 จากญี่ปุ่น ที่มีสาขากว่า 330 แห่งทั่วประเทศ คลินิกเสริมความงาม ทันตกรรม เป็นต้น

ชั้น 4-6 เป็นโรงภาพยนตร์ จำนวน 6 โรง

ชั้น 7-31 เป็นส่วนของโรงแรม โดยใช้เชน “อวานี”

โดยเปิดให้บริการแล้วอย่างไม่เป็นทางการเฉพาะชั้น 1-3 ยังมีหลายส่วนที่อยู่ระหว่างการตกแต่งพื้นที่ ส่วนโรงภาพยนตร์จะเปิดให้บริการปลายเดือนธันวาคม และโรงแรมจะเปิดให้บริการตุลาคม 2561

ย่านอ่อนนุช นับว่ามีประชากรหนาแน่น ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ทำเลนี้กลับไม่มีศูนย์การค้า และโรงภาพยนตร์ นอกจากไฮเปอร์มาร์เก็ตของ 2 เจ้าใหญ่ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี หากจะดูหนังลูกค้าจะต้องไปเซ็นทรัลบางนา เมเจอร์ เอกมัย และซีคอนสแควร์ เมกาบางนา

สำหรับบริษัท เอกมหากิจ ทำโรงหนังมา 12 ปี มีรายได้รวมปี 2559 กว่า 268 ล้านบาท เติบโต 0.20% และมีกำไรสุทธิกว่า 54 ล้านบาท เติบโต 43.45%.

ใครเป็นใครในธุรกิจโรงภาพยนตร์

เส้นทางธุรกิจโรงภาพยนตร์ของ “ตระกูลพูลวรลักษณ์” เรียกว่ามีประสบการณ์มากว่า 40 ปี ริเริ่มโดย 4 พี่น้อง ได้แก่ “เจริญ-จำเริญ-เกษม-จรัล พูลวรลักษณ์” ทั้งพัฒนาร่วมกัน แบ่งานกันดูแลการก่อสร้าง ฉายหนัง ขายบัตร และสร้างแบรนด์โรงหนังมากมาย เช่น เพชรราม่า แมคแคนน่า ซึ่งการทำธุรกิจโรงภาพยนตร์กระจายไปยังทำเลต่าง ๆ ทำให้ตระกูลมี “ที่ดินสะสม” ในมือจำนวนมากด้วย

ขณะที่ “ทายาทรุ่น 2” ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์แบ่งออกเป็นหลายสาย อย่าง “วิชัย-วิสูตร พูลวรลักษณ์” บุตชายของ “เจริญ” ลุยสร้าง “อีจีวี” ในปี 2536 ประเดิมโรงหนัง 10 โรงที่ฟิวเจอร์พาร์คบางแค จากนั้นไล่เลี่ยกัน “วิชา พูลวรลักษณ์” บุตรชาย “จำเริญ” ได้สร้างโรงหนัง “เมเจอร์ ปิ่นเกล้า” ในปี 2538 และภายหลังวิชายังได้เทกโอเวอร์โรงหนังอีจีวี ในปี 2547 ด้วย เมื่อรวมเข้ากับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ วิชาได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อโรงหนังที่มีสาขามากที่สุด

ที่ผ่านมา “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ค่อนข้างกินรวบตลาดโรงภาพยนตร์ เพราะขนาดตลาดภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปี 2559 มีมูลค่าราว 6,000 ล้านบาท เมเจอร์มีส่วนแบ่งมากกว่าครึ่ง จากจำนวนโรงภาพยนตร์ในประเทศ 110 สาขา 662 โรงภาพยนตร์ มีที่นั่งกว่า 100,000 ที่

ส่วนคู่แข่งอีกราย เป็นของ “ตระกูลทองร่มโพธิ์” เจ้าของโรงหนัง “เอสเอฟ ซีเนม่า” ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)