ผ่าศึก 3 ก๊ก ชิงขุมทรัพย์อีสปอร์ตหมื่นล้าน สยามสปอร์ต-นีโอลูชั่น-ทรู

เกมอีสปอร์ต ที่ว่าต้องสู้กันดุเดือดแล้ว การช่วงชิงเข้ามามีบทบาทในการจัดการแข่งขัน “อีสปอร์ต” ในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาค ของ 3 กลุ่มธุรกิจ สยามสปอร์ต-นีโอ-ทรู กำลังเข้มข้นไม่แพ้กัน

***ดรามาศึกชิงตั้งสมาคมฯ สยามสปอร์ตคว้าสิทธิ์**

หลังจากขับเคี่ยวกันมาพักใหญ่ ในที่สุดการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เคาะให้ สมาคมไทยอีสปอร์ต หรือ TESA (Thai e-Sport Association) ของสันติ โหลทอง แห่งสยามสปอร์ต ได้รับสิทธิให้เป็น “สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย” อย่างเป็นทางการแล้ว

นับเป็นการจบดรามาเพื่อช่วงชิงขอจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย หลังจากที่มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มธุรกิจ รวมทั้งกลุ่มอดีตนายทหารผู้ใหญ่ ต่างวิ่งกันฝุ่นตลบกันมาหลายเดือน

การคัดเลือกสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นมาหลังจาก กกท.ได้ประกาศรับรองให้ “อีสปอร์ต” เป็นกีฬาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้น กกท.จะต้องรองรับให้มีการจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นผู้ได้สิทธิในการจัดแข่งกีฬาในประเทศ พร้อมกับคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติ และส่งนักกีฬาไปแข่งขันในต่างประเทศในนามประเทศไทย

ปรากฏว่ามีหลายกลุ่มเข้ามาเสนอเพื่อแย่งชิงสิทธิเหล่านี้ เพราะผู้ที่ได้รับเลือกให้ตั้งสมาคมฯ นอกจากได้สิทธิส่งนักกีฬาในนามทีมชาติไทยแล้ว ยังจะได้งบประมาณสนับสนุนจาก กกท. ที่มีงบประมาณดูแลด้านกีฬาปีละกว่า 4,000 ล้านบาท โดยสามารถนำเสนอผลงานการแข่งขันอีสปอร์ตในแต่ละประเภทกีฬาที่ได้รับการยอมรับ เช่น ระดับ โอลิมปิก, เอเชียนเกมส์ หรือซีเกมส์ เพื่อขอเงินสนับสนุน ยังไม่นับรวมการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอีสปอร์ตได้อีกมากมาย

ถ้าดูมูลค่าทางธุรกิจอันมหาศาลของธุรกิจอีสปอร์ต ตั้งแต่ผู้ผลิตเกม ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ตัวแทนจำหน่าย และบรรดาสปอนเซอร์ ทำให้กิจกรรมทางด้านอีสปอร์ตเต็มไปด้วยความเร้าใจ ด้วยมูลค่าเงินรางวัล และผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง

มีการประเมินว่า ตลาดรวมอีสปอร์ตโลก ปี 2559 มีมูลค่าถึง 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว ส่วนของไทย ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ พบเกม และอีสปอร์ตของไทย ปี 2560 มูลค่า 13,000 ล้านบาท ส่วนอีเวนต์ การแข่งขันในปีหน้าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ยังไม่รวมลิขสิทธิ์ถ่ายทอด และส่วนเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย

ช่วงแรกดูเหมือนว่า สมาคมไทยอีสปอร์ต หรือ TESA จะลอยลำ เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว แถมยังตั้งเป็นสมาคมไว้แล้ว แต่ปรากฏว่า จู่ ๆ กลุ่มอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ายื่นเรื่องขอจัดตั้งสมาคมอีสปอร์ต ”แห่งประเทศไทย” ท่ามกลางข่าวลือว่า อาจจะเป็น ”ตาอยู่” ที่เข้ามาคว้าสิทธิไป แต่ในที่สุดหวยก็ออกที่ TESA

สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ ”Positioning” ว่า ได้ลงนามรับรองให้สมาคมไทยอีสปอร์ต ของสันติ โหลทอง เป็นสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว เท่ากับว่าสมาคมนี้ จะเป็นตัวแทนในการคัดเลือกนักกีฬาอีสปอร์ตของไทยไปแข่งขันในระดับนานาชาติ

จากนี้ TESA ต้องรีบไปจัดตั้งสมาคมให้ถูกต้องตามระเบียบ กกท. เพื่อให้ทันกับการจัดทำแผนงานของบประมาณในการเตรียมคัดเลือกทีมนักกีฬาอีสปอร์ตของไทยเพื่อไปเอเชียนเกมส์ ในเดือนสิงหาคม

สาหตุที่เลือก TESA เพราะตรงกับข้อกำหนดที่ว่า ถ้าผู้เสนอรายใด เข้าเป็นสมาชิกองค์กรอีสปอร์ตระหว่างประเทศ ที่เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้มีสิทธิในการส่งนักกีฬาไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ที่กลุ่มนั้นเป็นสมาชิกได้

“สมาคมไทยอีสปอร์ตเป็นรายเดียวที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์อีสปอร์ตระหว่างประเทศหรือ International e-Sports Federation หรือ IeSF จึงสามารถส่งนักกีฬาไปแข่งขันในรายการต่างๆ ของสหพันธ์แห่งนี้ได้ทั่วโลก ในขณะที่ข้อเสนอของอีกกลุ่มนั้น ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศใดๆ“

สกล ยืนยันว่า การคัดเลือกครั้งนี้ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน “วงการนี้เกี่ยวข้องกับวงเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน เราต้องระมัดระวังมาก”

สำหรับ TESA นั้น ได้เตรียมแถลงข่าวเปิดตัวการเป็นสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ พร้อมเตรียมเปิดตัว 23 ชมรมกีฬาอีสปอร์ต ภายใต้สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่องานว่า 1st Thailand E-Sports Summit 2018

ทั้ง 23 ชมรมกีฬาอีสปอร์ตนี้ จะเป็นการจัดตั้งตามประเภทของ ”เกม” อีสปอร์ต และได้รับการยอมรับระดับนานาชาติทั้ง 23 เกม เช่น เกม Denfense of the Ancients 2 หรือ Dota 2, FIFA, League of Legends หรือ LoL โดยเดือนมกราคมปีหน้า สมาคมฯ จะมีการประกาศเลือกเกมจาก 23 เกมของ 23 ชมรมนี้ เพื่อจัดการแข่งขันระดับชิงแชมป์ประเทศไทย

ลักษณะเดียวกับ แข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ประเทศไทย ที่มีระดับลีก และการแข่งขันในระดับสโมสรในประเทศ เพื่อหาตัวแทนนักกีฬาทีมชาติ ไปแข่งขันในนามทีมชาติไทยในกีฬาเอเชียนเกมส์

***สมาคมไทยอีสปอร์ตคือใคร **

สมาคมไทยอีสปอร์ต หรือ TESA (Thai e-Sport Association) จัดตั้งขึ้นโดย สันติ โหลทอง ด้วยความที่มีใจรักด้านเกมมาตั้งแต่เด็กๆ และเคยออกหนังสือเกี่ยวกับเกมออกมาขายหลายฉบับ รวมถึงนิตยสารคอมพ์เกมเมอร์นิวส์ ยังคลุกคลีอยู่ในวงการอีสปอร์ตของไทยด้วยการร่วมมือกับเจ้าของเกม และบริษัทเอกชนที่เป็นสปอนเซอร์มากมาย เขาจึงจัดตั้ง TESA ขึ้นมาในปี 2556

เมื่ออีสปอร์ตเริ่มเป็นที่รู้จัก สันติ จึงติดต่อขอเป็นสมาชิกของสหพันธ์กีฬาอีสปอร์ตระหว่างประเทศ International e-Sports Federationหรือ IeSF ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เกาหลีใต้  มีสมาชิกจาก 48 ประเทศสมาชิก ทำให้สามารถส่งนักกีฬาไทยไปแข่งขันในอีเวนต์ต่างประเทศที่จัดขึ้นโดย  IeSF ได้ เช่นล่าสุด ส่งนักกีฬาไทยเข้าแข่งขันรายการ E-Sport 2017 World Championship ครั้งที่ 9 ที่ประเทศเกาหลีใต้

ผลจากการเป็นสมาชิกสหพันธ์กีฬาอีสปอร์ตระหว่างประเทศ ได้กลายเป็น “แต้มต่อ” ทำให้สมาคมไทยอีสปอร์ตของสันติได้รับเลือกจาก กกท.

ในอีกด้านหนึ่ง สันติ ก็เดินเกมอย่างเข้มข้น ด้วยการนำ สยามสปอร์ต ร่วมทุนกับกลุ่มสามารถ จัดตั้งบริษัท ไอ สปอร์ต เพื่อร่วมกันทำธุรกิจบริหารจัดการกีฬา (Sport Management ) เพื่อรับสิทธิดูแลบริหารจัดการสิทธิประโยขน์ของ TESA อีกต่อหนึ่ง

โดยดูแลบริหารสิทธิประโยชน์ให้แก่นักกีฬา, สิทธิในการจัดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตในประเทศไทย, การดูแลบริหารนักกีฬาอีสปอร์ตไทยที่ขึ้นทะเบียนกับทางสมาคมฯ ลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ, การจัดตั้งอีสปอร์ต อะคาเดมี เพื่อฝึกสอนพัฒนานักกีฬา วางรากฐานสร้างเด็กรุ่นใหม่ต่อยอดสู่ทีมชาติไทยในอนาคต รวมถึงการสร้างสตูดิโอถ่ายทอดสดเป็นเวทีประลองสนามแข่งขันอีสปอร์ตในทัวร์นาเมนต์ เพื่อป้อนให้กับทีวีช่องต่างๆ

สันติ คาดว่า จากการพัฒนาบริหารกีฬาอีสปอร์ตทั้งระบบจากความร่วมมือครั้งนี้ จะทำรายได้ขั้นต่ำ 30 ล้านต่อปี และจะไปถึง150 ล้านในปีหน้า

สุภวัส พรหมวิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ สปอร์ต บอกว่า เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้จากการขายสปอนเซอร์ และจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ให้กับทีวีช่องต่างๆ ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจะแบ่งในรูปแบบ Revenue Sharing

ดังนั้น การได้ไฟเขียวจาก กกท.ยกระดับเป็นสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย จึงเป็นการลงเสาเข็มธุรกิจ ต่อยอดให้กับ “ไอสปอร์ต” ไม่เช่นนั้นแล้ว แผนที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะต้อง ”แท้ง” กันเลยทีเดียว

***นีโอลูชั่นผนึกอาลีสปอร์ต**

นอกจาก สมาคมไทยอีสปอร์ต หรือ TESA ของสันติ โหลทอง ที่ต้องการมีบทบาทในการจัดการอีสปอร์ตระดับประเทศแล้ว กลุ่มนีโอลูชั่น และกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นอีก 2 กลุ่มที่ต้องการมีบทบาทได้สิทธิส่งนักกีฬาไปแข่งต่างชาติในทัวร์นาเมนต์กีฬาระดับโลกด้วยเช่นกัน

กลุ่มนีโอลูชั่น ก่อตั้งโดย เสถียร บุญมานันท์ เป็นอีกคนที่คร่ำหวอดในวงการเกม เป็นทั้งเจ้าของสโมสรกีฬาอีสปอร์ต แฟรนไชส์ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศ จำหน่ายอุปกรณ์เกม อีสปอร์ตครบวงจร ยังได้ลิขสิทธิ์ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน World Electronic Sports Games (WESG) ในเครือข่าย อาลีสปอร์ต ของกลุ่มอาลีบาบา เป็นเวลา 2 ปี และยังเคยร่วมก่อตั้งสมาคมไทยอีสปอร์ต หรือ TESA ด้วย แต่ตอนหลังถอนตัวออกไป

เสถียร บอกว่า เขาเป็นอีกกลุ่มที่พยายามผลักดันให้อีสปอร์ตได้รับการยอมรับจาก กกท. แต่ไม่ได้เสนอขอจัดตั้งสมาคมอีสปอร์ต ต้องการเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ ทำทีมนักกีฬาไทยเพื่อไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ประเทศอินโดนีเซียในปีหน้า เพื่อต้องการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน

แต่ กกท.อนุมัติไม่ได้ เพราะมีข้อกำหนดไว้แล้วว่า ผู้ที่จะได้สิทธินี้จะต้องทำในนามสมาคมอีสปอร์ตไทยเท่านั้น

สาเหตุที่เขาสนใจเรื่องนี้ เพราะจัดอีเวนต์การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเกมที่คาดว่าจะได้แข่งขันที่เอเชียมเกมส์ในปีหน้า ซึ่งเป็นของ อาลีสปอร์ต (Alisports) ของกลุ่มอาลีบาบา ของแจ็ค หม่า เป็นผู้สนับสนุนกีฬาเอเชียนเกมส์

นีโอลูชั่น ได้ลิขสิทธิ์ในการคัดเลือกทีมจากประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขัน World Electronic Sports Games หรือWESGจากอาลีสปอร์ต เป็นเวลาสองปี

ความสำคัญของความสัมพันธ์ครั้งนี้อยู่ที่ “อาลีสปอร์ต” ที่เป็นผู้มีบทบาทสูง ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์

ว่ากันว่า การตัดสินใจเลือกประเภทเกมที่จะใช้แข่งขันแต่ละทัวร์นาเมนต์ระดับโลกนั้น ก็มีการล็อบบี้กันมากมายทั้งจากสปอนเซอร์ และผู้ผลิตเกม ถึงกับทำให้เกมดังอย่าง เกม League of Legends (LoL) หนึ่งในเกมอีสปอร์ต ซึ่งเป็นของ Tencent  คู่แข่งคนสำคัญของอาลีสปอร์ตที่ได้รับความนิยมที่สุดโลก กลับหลุดโผในเอเชียนอินดอร์เกมส์ที่ผ่านมาอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งๆ ที่ในการแข่งขันเอเชียนอินดอร์เกมส์ เมื่อปี 2556 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เกม LoL ก็เคยอยู่ในรายชื่อในการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตมาแล้ว

นีโอลูชั่นจึงเดินหน้าอย่างเต็มสูบในการร่วมมือกับอาลีสปอร์ต เพื่อจัดหานักกีฬาอีสปอร์ตในแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ที่อาลีสปอร์ตเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะอย่างน้อยก็การันตีได้ คือเกมที่แข่งในทัวร์นาเมนต์เหล่านั้น น่าจะได้เป็นเกมที่จะใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ด้วย

***ทรูข้ามช็อตขอคุมเกมระดับอาเซียน**

สำหรับกลุ่มทรู ถือเป็นผู้เล่นระดับบิ๊ก ที่มีธุรกิจสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ทีวีดิจิทัล จึงไม่ยอมพลาดกับขุมทรัพย์ อีสปอร์ต มองว่าเกม ถือเป็นหนึ่งในคอนเทนต์สำคัญที่จะนำมาออกอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทลูก ทรู ดิจิทัล พลัส ได้ลิขสิทธิ์เกมอีสปอร์ต และได้จัดแข่งขันอีสปอร์ต มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

เป้าหมายของทรู ไม่ได้แค่การส่งนักกีฬาอีสปอร์ตไปแข่งขัน ดังนั้นทรูจึงไม่ยื่นข้อเสนอชิงตั้งสมาคมอีสปอร์ตกับ กกท. แต่มองไกลไปในระดับ “อาเซียน”

เริ่มจากการเดินเกมร่วมกับสมาพันธ์ผู้ประกอบการเคเบิลและทีวีดาวเทียมแห่งเอเชีย หรือ Cable And Satellite Broadcasting Association of Asia (CASBAA) ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ด้านกีฬาทุกประเภท เพื่อต้องการลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตนำมาการออกอากาศทุกช่องทางในมือ ตามด้วยการขอจัดตั้งเป็นสมาพันธ์กีฬาอีสปอร์ตเอเชีย

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหาร และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บอกว่า กลุ่มทรูได้ยื่นข้อเสนอไปที่ กกท.เพื่อขอยกระดับกีฬาอีสปอร์ตให้อยู่ในระดับอาเซียน หรือเอเชียแปซิฟิก โดยการจัดตั้งเป็นสมาพันธ์กีฬาอีสปอร์ตเอเชียขึ้นมา เพื่อจัดระเบียบ การจัดการแข่งขัน และการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์กีฬาอีสปอร์ตทั้งหมดในเอเชีย

กีฬาอีสปอร์ต ส่วนใหญ่มักจะเป็นการจัดการโดยเจ้าของเกม หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์​ ทำให้ไม่มีความเป็นกลาง หากมีการรวมตัวกันสำเร็จ ก็จะสามารถร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตในระดับเอเชีย ด้วยการเลือกเกมที่ได้รับความนิยม และประสบความสำเร็จมาแข่งขัน และจัดการเรื่องลิขสิทธิ์การแข่งขันด้วย 

“สิ่งที่ตามมา คือ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขัน จะมีการขาย ประมูล เหมือนกับลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่มีการประมูลลิขสิทธิ์ในราคาสูงมาก

ในการก้าวไปสู่การจัดตั้งสมาพันธ์เช่นนี้ กลุ่มทรูจึงมีความจำเป็นต้องขออนุญาต กกท.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการกีฬาของประเทศไทยในการขอสิทธิต่างๆ ตั้งแต่การช่วยคัดเลือก การฝึกซ้อม หานักกีฬาทีมชาติที่จะไปแข่งขันในระดับเอเชีย และระดับโลกต่อไป และแน่นอนว่า ทัวร์นาเมนต์กีฬาแรกที่เล็งไว้คือ เอเชียนเกมส์ ที่อินโดนีเซียปีหน้า

เกมอีสปอร์ต ที่ว่าดุเดือดแล้ว การช่วงชิงเข้ามามีบทบาทในเกมการแข่งขัน “อีสปอร์ต” ในระดับภูมิภาค ของทั้ง 3 ราย กำลังเข้มข้นไม่แพ้กัน.