ช่อง 7 ผลัดใบ ตั้งคนข่าวคุมบริหาร แทน “พลากร” เปิดโผ “บิ๊กทีวี” โยกช่องวัดฝีมือชิงเรตติ้งดึงผู้ชม

ความเคลื่อนไหวสื่อทีวีดิจิทัลในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา มีหลายช่องได้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง และโละพนักงาน ทั้งที่มาจากเหตุผล เซ่นเรตติ้งที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ต้นทุนสูง ขาดทุนหนัก และความขัดแย้งภายในองค์กร รวมไปถึงการสะดุดขาตัวเอง

ล่าสุด สปอตไลต์ถึงเวลาสาดส่องไปที่ ช่อง 7 สี ยุคเอชดี แล้ว แม้ยังคงเป็นแชมป์อันดับ 1 แต่วงการทีวีทุกนาทีมีค่า และอาจถูกแซงได้ จึงถึงเวลาปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงอีกครั้ง

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 มีประกาศแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงคนใหม่ ชื่อว่าสมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง” หรือ พี่หน่อง ให้ดำรงตำแหน่ง รักษาการกรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 แทน หน่อง พลากร สมสุวรรณ ที่เกษียณอายุ หลังจากนั่งเก้าอี้นี้มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 หลังจากเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ฟ้าผ่าที่หมอชิต เมื่อ กฤตย์ รัตนรักษ์ สั่งปลดสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ออกจากตำแหน่งบริหารช่อง 7 และให้ ศรัณย์ วิรุตมวงศ์ รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนประมาณ 1 ปี

นอกจากนี้ ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็มีการไหลออกของบุคลากรช่อง 7 อีกจำนวนหนึ่ง

หน่อง สมเกียรติ เป็นลูกหม้อของช่อง 7 ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ รุ่นเดียวกับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ตำแหน่งก่อนหน้านี้คือกรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และรักษาการผู้จัดการฝ่ายข่าว

มีบทบาทพัฒนารายการข่าว โดยเฉพาะช่วงเวลาข่าวเช้าที่จัด 3 รายการออนแอร์ยาวตั้งแต่ตี 5 จนถึงประมาณ 10 โมงเช้า

แหล่งข่าวจากช่อง 7 เปิดเผยว่า เรตติ้งข่าวช่อง 7 ช่วงหนึ่งเคยแพ้เรื่องเล่าเช้านี้ เหมือนที่หลายช่องแพ้ เพราะมี “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” เป็นแม่เหล็ก แต่ช่อง 7 ใช้เวลาประมาณ 6 ปี จนปีหลังๆ นี้เรตติ้งข่าวเช้าช่อง 7 ชนะช่อง 3

ความท้าทายของช่อง 7 นับจากนี้คือมีแต่รายการที่จ้างผลิต โดยเฉพาะวาไรตี้ เกมโชว์ ขณะที่ผู้จัดบางรายยังปรับตัวพัฒนารายการไม่ทัน หลายรายการดีแต่ถูกลอกเลียนจากหลายช่องไปทำจนได้เรตติ้งดีกว่า

“จุดเด่นของช่อง 7 เวลานี้คือละครและข่าว และในยุคนี้คนข่าวที่ขึ้นมาในตำแหน่งบริหารสูงสุด ก็อาจเป็นช่วงถูกที่ถูกเวลา สำหรับการแข่งขันที่หลาย ๆ ช่องพยายามพัฒนารายการข่าว เพราะพิสูจน์ได้ว่ามีเรตติ้ง และหาโฆษณาได้”

สำหรับรายการที่เหลือยังต้องมีการปรับเปลี่ยน และ กฤตย์ เองก็รู้ดีว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนหลังจากเรตติ้งในปีที่ผ่านมายังไม่น่าพอใจ

แม้เรตติ้งประจำสัปดาห์ ประจำแต่ละเดือนจะเป็นที่ 1 หรือแม้แต่ประจำปีก็เป็นที่ 1 รวมถึงล่าสุดในปี 2560 ก็เป็นอันดับ 1 แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับปี 2559 แล้ว ถือว่าเรตติ้งลดลงไปพอสมควร โดยเรตติ้งรวมปี 2559 ได้ 2.315 แต่ปี 2560 ได้แค่ 2.114 ลดลงพอๆ กับช่อง 3 จาก 1.600 ในปี 2559 มาอยู่ที่ 1.348 ในปี 2560

ขณะที่ช่องรองๆ ลงไปมีตัวเลขเพิ่มขึ้น ทั้งเวิร์คพอยท์ โมโน ช่อง 8 และช่องวัน ที่ต้องจับตามองพิเศษคือ เวิร์คพอยท์ และโมโน ที่ในแต่ละสัปดาห์มีลุ้นว่าจะเข้าใกล้ช่อง 3 มากน้อยแค่ไหน

***บิ๊กวงการทีวีหมุนเวียนเปลี่ยนช่อง

นอกจากช่อง 7 ที่มีการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงแล้ว ในวงการทีวีดิจิทัลช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ก็มีผู้บริหารระดับบิ๊กเปลี่ยนที่ทำงานกันพอสมควร

เริ่มจากช่อง 3 วิก 3 พระราม 4 ที่เริ่มปฏิบัติการปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่นายใหญ่ ประวิทย์ มาลีนนท์ ทิ้งเก้าอี้บิ๊กบอส เปิดทางน้องเล็กคนสุดท้อง ประชุม มาลีนนท์ เข้ามากุมบังเหียน และเลือกคนเข้ามาเสริมทัพ ที่เริ่มจากดึง สมประสงค์ บุญยะชัย มืออาชีพที่เกษียณอายุการทำงานจากเครือชินคอร์ปมาตั้งแต่ต้นปี และดึงมืออาชีพอีกหลายคนจากค่ายเอไอเอสเข้ามา จนปัจจุบันมีตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านต่างๆ ตั้งแต่ด้านปฏิบัติการ จนถึงด้านวิจัยพัฒนา

ข้ามทางด่วนกันมาที่ถนนวิภาวดี-รังสิต ที่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ของ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หลังจากที่ เขมทัตต์ พลเดช ลาออก และกลับไปใหญ่ที่พระราม 9 อสมท ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 พีพีทีวี ก็ได้ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ที่มีตำแหน่งสุดท้ายที่ช่อง 3 คือรักษาการกรรมการผู้จัดการ มาเป็นผู้อำนวยการใหญ่ พีพีทีวี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนฝั่งตรงข้ามที่ ไทยรัฐทีวี มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง หลังจากที่ ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวีออก และกลับไปอยู่รังเก่าที่สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ที่อยู่ถัดไปไม่กี่เมตร ก็เป็นเวลาของศิษย์เก่าจากเครือเนชั่นทีวี คือ ประณต วิเลปสุวรรณ ขึ้นเป็น ผอ.แทน

ส่วนที่ค่าย เนชั่น บางนา หลังมีการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่มาโดยตลอด คือ สุทธิชัย หยุ่น มีอันต้องแพ้เกมขายปั่นซื้อ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ขณะที่ยิ่งนับวันยิ่งขาดทุน จนถึงเวลามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ด และกำลังรอเปลี่ยนโครงสร้างบริหารสื่อในเครือ

ขณะที่ช่องอื่นๆ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงมากนัก แต่มีการเปลี่ยนทีมงานกันอย่างคึกคักที่มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตา

ถ้าดูจากข้อมูลเรตติ้งทีวี ทั้งแบบรายสัปดาห์ และรายเดือน ช่องที่นิ่งได้เรตติ้งอยู่ตัวใน ท็อป 5  และเก้าอี้ผู้บริหารยังมั่นคง คือช่อง 8 อาร์เอส ช่องโมโน และเวิร์คพอยท์

ขณะที่ช่องรองลงมา อย่างช่องวัน บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ก็กำลังทุ่มพลังเต็มที่ทั้งกับละคร และรายการข่าวที่ปรับเปลี่ยนทีมงานกันอย่างเต็มที่

ส่วนช่องวาไรตี้เอสดีรองๆ ลงมาอย่างช่องนาวในเครือเนชั่น ก็กำลังรอวันประมูลขาย หลังผู้ถือหุ้นเครือเนชั่นตัดสินใจไม่ลงทุนต่อ

ช่อง 3 เอสดี ก็อยู่ภายใต้ทีมผู้บริหารชุดเดียวกันกับช่อง 3 ใหญ่ นอกเหนือจากนั้น ก็อยู่ในภาวะคนเดิมบริหาร ด้วยหลักการลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด.