ค้าปลีกอเมริกาเริ่มลงทุน “ชั้นวางสินค้าอัจฉริยะ” แล้ว

ห้างโครเกอร์ในเท็กซัส ภาพจากเอพี 

ในประเทศไทยเราอาจได้เห็นร้านสะดวกซื้อบางแห่งลงทุนพัฒนาร้านต้นแบบสำหรับยุค 4.0 มาแล้ว แต่ในสหรัฐอเมริกา เชนค้าปลีกอย่างโครเกอร์ (Kroger) ได้ลงทุนครั้งใหญ่ด้วยการติดตั้งจอแสดงผลไฮเทคตามชั้นวางสินค้าแล้ว โดยจะติดตั้งแล้วเสร็จใน 200 สาขาของห้างภายในสิ้นปีนี้

โครเกอร์เอดจ์ (Kroger Edge) คือจอแสดงผลดิจิตอลที่นำมาติดแทนป้ายบอกราคาแบบเดิม และทำให้ชั้นวางสินค้าของห้างกลายเป็นชั้นวางสินค้าไฮเทค เนื่องจากสามารถใช้จอแสดงผลเหล่านั้นโชว์ข้อมูลราคา และคุณค่าทางโภชนาการของอาหารในรูปแบบดิจิตอลได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถแสดงผลวิดีโอโฆษณาและคูปองต่าง ๆ ได้อีกด้วย

โดยเป้าหมายของโครเกอร์คือการสร้างระบบที่สามารถชักชวนให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับทางห้างได้ผ่านสมาร์ทโฟน เช่น การแจ้งว่า ในบรรดาช้อปปิ้งลิสต์ที่ลูกค้าเตรียมมานั้น จะสามารถพบได้ในชั้นวางสินค้าจุดใดของทางห้าง ไปจนถึงสารอาหารที่ลูกค้าแต่ละรายต้องการ อาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ด้านโภชนาการที่จำเป็นต่อสุขภาพเลยทีเดียว

โดยในตอนนี้ ป้ายอัจฉริยะดังกล่าวได้ติดตั้งแล้วเสร็จในบางสาขา แต่ยังต้องพัฒนาต่อไป เนื่องจากมันจะทำงานได้นั้นยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์มือถือของทางห้างโครเกอร์เป็นสำคัญ โดยทางบริษัทตั้งใจว่าจะพัฒนาแอปพลิเคชันพิเศษเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้สามารถติดตั้งลงในสมาร์ทโฟนส่วนบุคคล และเรียกใช้งานได้ผ่านช่องทางนั้นมากกว่า 

ไม่เพียงแต่พัฒนาระบบขึ้นใช้งาน โครเกอร์ยังมีแผนจะขายระบบนี้ให้กับบริษัทค้าปลีกอื่น ๆ ที่สนใจด้วย

ข้อดีของการนำระบบป้ายแสดงผลอัจฉริยะนี้มาใช้งานทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนราคาสินค้า และการจัดโปรโมชันต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากสั่งเพียงครั้งเดียว ห้างทุกห้างในเครือก็พร้อมจะร่วมกิจกรรมลดราคาได้ทันที

ส่วนของผู้บริโภคเองก็สามารถค้นหาสินค้าตามชั้นวางต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถรับข้อความแนะนำสินค้าจากโครเกอร์ได้ ฯลฯ ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนประสบการณ์ในการซื้อของตามห้างค้าปลีกต่าง ๆ ให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความนิยมในหมู่ผู้ใช้บริการที่มากขึ้นได้ด้วย

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในสหรัฐอเมริกา ยังมีผู้บริโภคบางรายที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือบางรายก็อาจอายุมากจนไม่สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่ว คนเหล่านี้ก็จะขาดโอกาสในการเข้าถึงส่วนลด หรือโปรโมชันต่าง ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย 

นักวิเคราะห์คาดว่า กลยุทธ์ครั้งนี้ของโครเกอร์จะทำให้บริษัทมีกำไร 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 และมีเงินไหลเวียนกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในระบบด้วย.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000005479