เซ็นทรัล ผนึก 6 แบงก์ QR Code ให้ 4 พันร้านค้าย่อย กระตุ้นให้ค้าปลีก โต 10-20%

กลุ่มเซ็นทรัลฯ เข็นระบบการชำระเงินผ่าน QR Code Payment มาใช้กับรานค้า-แบรนด์เล็ก 4,000 ร้าน เอาใจขาช้อปปิ้งรักสะดวก และขานรับเทรนด์สังคมไร้เงินสด ส่วนร้านใหญ่-แบรนด์ดัง ไม่ต้องห่วงฉัน รูดปี๊ดผ่านบัตรเครดิต–เดบิตอยู่แล้ว

เมื่อโจทย์ของค้าปลีกเวลานี้นอกจากดึงดูดให้คนมาเข้าห้างแล้ว การมาของสังคมไร้เงินสด Cashless Society ที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกเรื่องที่ศูนย์การค้าจะลืมไม่ได้

ถ้าดูจาก 6 เดือนแรกของ ปี 2560 ที่ผ่านมา คนไทยมีการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ซึ่งเป็นหนึ่งในการลดการใช้เงินสดมากถึง 26 ล้านบัญชี คิดเป็นจำนวนธุรกรรมมากถึง 468 ล้านรายการ และมูลค่าการทำธุรกรรมอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท เติบโตเกือบ 70% นั่นสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยเริ่มคุ้นเคยแพลตฟอร์มการใช้จ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือ Payment พอสมควร

บริษัท ซีพีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ที่มีศูนย์การค้าในเครือ 3 แบรนด์เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา และเซ็นทรัลเฟสติวัล รวม 32 สาขา พื้นที่เช่า 1.7 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) และมี “ร้านค้าเช่า” ให้บริการทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมกันกว่า 6,000 ร้านค้า ให้บริการขาช้อปปิ้งมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน

ทว่า การช้อปปิ้งส่วนใหญ่ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายผ่านเงินสดอยู่ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าย่อยจำนวน 4,000 ร้าน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ขณะที่การชำระเงินผ่านร้านค้าใหญ่ใช้เงินสดน้อยลงผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต และ Mobile Banking

ที่ร้านเล็กยังชำระสินค้าด้วยเงินสด เพราะการซื้อสินค้าส่วนมากจะเป็นรายการขนาดเล็ก 200 บาทต่อบิล จะให้ชำระด้วยบัตรเครดิต ก็ต้องแบกรับค่าธรรมเนียม 3% บ้าง ซึ่งคิดเป็นต้นทุนทางธุรกิจมหาศาล

แต่ร้านค้าเหล่านี้ ทำยอดขายรวมต่อปีมากถึง 3,000 ล้านบาท ทำยังไงจะกระตุ้นให้ร้านเล็กๆยิบย่อยมี “ยอดขายเพิ่ม” ซีพีเอ็นจึงต้องใช้ QR Code มาเป็นกำลังเสริม ด้วยการผนึก 6 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารออมสิน, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ นำระบบการชำระเงินผ่าน QR Code มาใช้ เฟสแรกคือการนำร่องใช้กับร้านค้าย่อย 4,000 ร้าน แบ่งเป็นแบรนด์แฟชั่น 822 แบรนด์ ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ 805 แบรนด์ คีย์ออสและร้านอาหารอีก 800 ร้าน ซึ่งเฟสแรกการติดตั้งเครื่องชำระเงินดังกล่าวจะแล้วเสร็จทุกร้านภายในปีนี้

“ร้านค้าย่อยคือเป้าหมายหลักที่เราและกลุ่มพันธมิตรแบงก์อยากไปให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code เพราะอยากให้ร้านค้าเล็กๆ มียอดขายดีขึ้น จากการอำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินให้ลูกค้า รวมทั้งการจัดการเงินสดได้ดี โดยการชำระเงินเป็นหนึ่งใน Journey ของร้านค้า และที่ผ่านมายังมีปัญหาในการชำระเงิน เช่น ไม่มีเงินทอนให้ลูกค้า จบวันต้องมีเงินสดเข้าบัญชีแบงก์ เจอแบงก์ปลอม แค่นี้ก็ยุ่งยากแล้ว” ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา บอก

ส่วนเฟส 2 จะนำ QR Code Payment ไปติดตั้งใช้กับร้านค้าใหญ่ และแบรนด์ดังให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า จากปัจจุบันมีแบรนด์ใหญ่เริ่มรับชำระเงินในระบบดังกล่าวบ้างแล้ว เช่น Guy Laroche, swatch, havaianas, Giordano

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ Cashless Society สัมฤทธิ์ผลเร็วๆ บริษัทจะนำฐานลูกค้าบัตรเดอะ วัน การ์ดมาวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้า ตลอดจนความต้องการของลูกค้ามาทำแคมเปญร่วมกับแบงก์ เพื่อจูงใจลูกค้าชำระเงินผ่าน QR Code Payment เช่น ร่วมกับเอสซีบี คืนเงินสด 50 บาท สำหรับการชำระเงินสินค้า ขั้นต่ำ 350 บาท ส่วนฝั่งร้านค้าเพื่อให้เปิดรับการใช้ QR Code Payment แบงก์มีแผนลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่างๆ การให้ผลตอบแทน หรือ Rewards เป็นต้น

สำหรับการร่วมมือครั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าปีแรกการจ่ายผ่าน QR Code ผ่านร้านค้าย่อยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 10% หรือคิดเป็นยอดขาย 300 ล้านบาท และกระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมเติบโตประมาณ 10-20% ส่วนยอดบัญชีผู้ใช้ Mobile Banking จะโตขึ้นแตะ 30 ล้านบัญชี

ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยยังคงใช้เงินสดมากถึง 75% และไม่ใช้เงินสด 25% ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น จีนใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสดในห้างค้าปลีก 62% เกาหลีใต้ 85% สิงคโปร์ 56%  อินเดีย 35% เป็นต้น.