ซีอีโอ YouTube ออก 5 มาตรการ คุมเข้มคอนเทนต์ ให้รับผิดชอบสังคมมากขึ้น

ซีอีโอยูทูป (YouTube) ออกมาตรการ 5 ข้อ เพื่อทำความเข้าใจครีเอเตอร์ให้ตรงกันในการโพสต์คอนเทนต์ หลังพฤติกรรมและทัศนคติของ “โลแกน พอล” (Logan Paul) ครีเอเตอร์คนดังทำให้แพลตฟอร์มเสียชื่อเสียงในวงกว้าง

จากการโพสต์คลิปคนแขวนคอตาย และแสดงอาการไม่เหมาะสม ของโลแกน พอล ครีเอเตอร์ของแพลตฟอร์มยูทูป กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และทำให้แพลตฟอร์มตกเป็นเป้าโจมตีของหลายฝ่ายในแง่ที่ว่าไม่สามารถหาทางจัดการกับคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมได้โดยรวดเร็วนั้น ล่าสุด ซูซาน วอจซิกกี (Susan Wojcicki) ซีอีโอยูทูป ได้ออกมาโพสต์ผ่านบล็อกแล้ว โดยระบุว่าจะมีการปรับปรุงการทำงานเบื้องหลังให้มากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการจ้างพนักงานมนุษย์เข้ามารีวิวคอนเทนต์วิดีโอเพื่อความปลอดภัย

การออกมาพูดครั้งนี้ของซีอีโอยูทูป เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้ ยูทูปต้องใช้อัลกอริธึมในการวิเคราะห์ว่า คอนเทนต์ใดสามารถใส่โฆษณาลงมาข้าง ๆ ได้โดยที่แบรนด์ไม่เสียภาพลักษณ์ และคอนเทนต์ใดไม่ควรใส่โฆษณาลงมา เพราะอาจเกิดปัญหาด้าน Brand Safety ได้ แต่ถึงแม้จะใช้อัลกอริธึมแล้วก็ตาม ครีเอเตอร์หลายรายก็ยังตำหนิยูทูป เนื่องจากอัลกอริธึมตัดสินให้คอนเทนต์บางชิ้นกลายเป็นคอนเทนต์ไม่เหมาะสมอยู่ดีทั้ง ๆ ที่เนื้อหาภายในไม่มีอะไรต้องกังวล 

ส่วนในด้านการจัดการกับโลแกน พอล ยูทูปได้ตัดเขาออกจาก “กูเกิล พรีเฟอร์ โปรแกรม” ซึ่งเป็นกลุ่มครีเอเตอร์ระดับท็อปที่มีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของแพลตฟอร์มไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งเท่ากับว่าคอนเทนต์ของโลแกน พอล จะไม่สามารถรับเงินค่าโฆษณาในระดับพรีเมียมได้อีกต่อไป

ในการประกาศของซูซาน ยังบอกด้วยว่า ในปีนี้ยูทูปจะพัฒนาระบบติดต่อกับครีเอเตอร์ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น หากเกิดกรณีการโพสต์คลิปที่ร้ายแรงเช่นนี้อีก ส่วนเรื่องของรายได้ค่าโฆษณาที่อาจจะหายไปบ้างนั้น ยูทูป ระบุว่าไม่ต้องกังวล เพราะบริษัทมีช่องทางการหารายได้อื่น ๆ อีกนอกจากรายได้จากค่าโฆษณาให้กับครีเอเตอร์ เช่น การเปิดตัวซูเปอร์แชต (Super Chat) รวมถึงการเปิดให้แฟน ๆ สปอนเซอร์เงินให้กับครีเอเตอร์เกมเป็นรายเดือน เพื่อเพิ่มรายได้ด้วยนั่นเอง

ข้อจำกัดของยูทูป คือ การมีครีเอเตอร์ทั่วโลก แต่ทีมงานจากยูทูปไม่สามารถเข้าไปพบปะได้ทุกคน ซึ่งซีอีโอยูทูป เผยว่า จะใช้ยูทูปแชนแนลในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับครีเอเตอร์แทน โดยคาดว่าในปี 2018 จะมีการสื่อสารด้วยช่องนี้ถี่ขึ้นด้วย.

สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000011166