สงครามน่านฟ้า อ่วมถ้วนหน้า การบินไทย นกแอร์ ขาดทุน แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส กำไรร่วง

ผ่านพ้นปี 2560 ในแบบต้องลุ้นสำหรับไทยแอร์เอเชีย หรือ แอร์เอเชีย  และบางกอกแอร์เวย์ส ที่ยังดีทำกำไรได้ แม้จะกำไรลดลง แต่สำหรับการบินไทย และนกแอร์ เรียกได้ว่ายังกระอัก เพราะยังคงขาดทุน

ในปีที่ผ่านมาธุรกิจการบินได้ปัจจัยบวกเหมือนกัน คือ เศรษฐกิจขยายตัว นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ทุกสายการบินเจอต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้นประมาณ 20% ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันกันด้านราคาทำให้ส่วนต่างกำไรลดลง

แต่ใครบริหารต้นทุนได้ดีกว่า และโฟกัสตลาดได้ดีกว่า คือได้กำไร

**การบินไทย นกแอร์ ยังสาหัส

การบินไทยจบปี 2560 มีตัวเลขรายได้ถึง 191,946 ล้านบาท แต่ยังคงขาดทุน 2,072 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 มีกำไรสุทธิ 47 ล้านบาท ส่วนนกแอร์ ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่นั้น หลังผ่านมรสุมความขัดแย้งภายในจนมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร แต่ปี 2560 นี้ก็ยังขาดทุน 1,825 ล้านบาท แต่สัญญาณน่าจะดีขึ้น เพราะขาดทุนลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุน 2,641 ล้านบาท

อาการขาดทุนของการบินไทย ในฐานะสายการบินพรีเมียมของไทย ยังคงมีความเรื้อรังมาจากต้นทุนด้านต่าง และที่ยังคงมีต้นทุนที่ฝังแน่นคือเครื่องบินเก่า 16 ลำ ที่ถูกบันทึกการด้อยค่าเครื่องบิน ที่ปี 2560 คำนวณไว้ได้ 2,721 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 497 ล้านบาท

ตัวเลขที่ขาดทุนนี้ การบินไทยได้แจกเอกสารข่าว ซึ่งเรืออากาศเอก กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารงานกฎหมายและบริหารทั่วไป ปฏิบัติงานในหน้าที่รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2560 บริษัทฯ ต้องเผชิญความท้าทายจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์รุ่น TRENT1000 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ที่บริษัทฯ มีอยู่ในฝูงบิน จำนวน 6 ลำ มีปัญหาจากตัวใบพัดในเครื่องยนต์ (Turbine Blade) ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้ ทำให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบกับการให้บริการและกระทบต่อตารางการบิน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สูญเสียโอกาสในการหารายได้ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้วการบินไทยได้เพิ่มศักยภาพฝูงบินโดยรับมอบเครื่องบินใหม่ จำนวน 7 ลำ และปลดระวางเครื่องบินเช่าดำเนินงาน A330-300 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบินของการบินไทย  วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวน 100 ลำ สูงกว่า สิ้นปีก่อน 5 ลำ 

ส่วนนกแอร์คือการเร่งจัดการบริหารภายใน หลังจากปีที่ผ่านมามีความขัดแย้งกันระหว่างนักบินกับผู้บริหาร จนส่งผลกระทบต่อการให้บริการ ความสามารถในการแข่งขันลดลง

เมื่อปีนี้เผชิญการแข่งขันทั้งสงครามราคาตั๋ว และราคาน้ำมัน ล่าสุดเพิ่งแต่งตั้งนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตซีอีโอ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาเป็นประธานกรรมการ

**ไทยแอร์เอเชียกวาดตลาดในประเทศ

สำหรับสถานการณ์ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์สนั้น จากการวางตำแหน่งทางการตลาดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะไทยแอร์เอเชีย เน้นบริหารแบบต้นทุนต่ำ และเลือกเส้นทางบินที่มีโอกาสทางการตลาด ทำให้ไทยแอร์เอเชียยิงสงครามราคาได้เต็มที่ ขณะที่บางกอกแอร์เวย์สสร้างภาพลักษณ์สายการบินไม่ใช่โลว์คอสต์แอร์ไลน์ และเลือกเส้นทางบินที่มีนักท่องเที่ยวแน่นอน ทำให้ยังคงมีกำไร แม้จะลดลง

บางกอกแอร์เวย์ส กำไร 787.91 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 55.4% ส่วนไทยแอร์เอเชียกำไร 1,477 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 21%

สิ่งที่ตอกย้ำการรักษาเส้นทางของไทยแอร์เอเชีย ยังสะท้อนให้เห็นจากการได้ส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางบินในประเทศไทยมากที่สุด และเติบโตต่อเนื่องทุกปี ซึ่งข้อมูลจากไทยแอร์เอเชียนั้น พบว่า ปี 2560 มีส่วนแบ่งตลาดถึง 31.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 และ 2558 ที่มีส่วนแบ่ง 29.5% และ 28.5% ตามลำดับ

ขณะที่สายการบินที่ยังขาดทุนอยู่อย่างนกแอร์ และการบินไทย มีส่วนแบ่งในประเทศลดลงเรื่อย จนปี 2560 นกแอร์เหลือ 18.8% และการบินไทยหลือ 8.3%

****บางกอกแอร์เวย์ส ขอบินสูงเป็นโกบอลแบรนด์

ตลาดโลว์คอสต์ในประเทศ ไม่เพียงมีแค่ไทยแอร์เอเชียเท่านั้น ยังมีเวียตเจ็ท กาตาร์แอร์ ไทยสมายล์ นกแอร์ ซึ่งบางกอกแอร์เวย์สไม่ขอเล่นในน่านน้ำสีแดงที่แข่งกันดุเดือด จนเคยสร้างจุดยืนทางการตลาดเป็นสายการบินแนวบูติกแอร์ไลน์ แต่ก็ยังมีส่วนตลาดในประเทศปี 2560 เพียง 10.8% 

ล่าสุดบางกอกแอร์เวย์สประกาศเป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มที่แบบ Full Service เรียกได้ว่าถ้าขยับอีกนิดก็เทียบชั้นการบินไทย ที่เป็นทั้ง Full Service และ Premium Airline หาที่ยืนเป็นโกลบอลแบรด์ เพราะที่ผ่านมามีผู้โดยสารต่างชาติใช้บริการถึง 60% 

สำหรับเส้นทางบินนั้น ไม่ได้เน้นเพียงเส้นทางบินในประเทศเท่านั้น แต่จะไปในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยบางเส้นทางที่เปิดใหม่จะมีจุดเริ่มต้นที่หัวเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ตย่างกุ้ง, เชียงใหม่ฮานอย เป็นต้น.

อ่านต่อ : บางกอกแอร์เวย์ส ขอไปเป็น Global Brand