เมื่อแชมป์หุ่นเจอแชมป์แผน

“ทีมเราได้รับการการันตีด้าน Mechanic แล้ว แต่ด้านการตลาดยังไม่ได้รับการพิสูจน์ วิธีการเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือ การแข่งขันแผนธุรกิจ”

นันทวิทย์ จันทร์วาววาม อดีตแชมป์แผนธุรกิจหลายเวที ให้เหตุผลแทนเพื่อนๆ ในทีม Evolution X ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ 4 หนุ่มไฟแรงที่ไปเจอกันในโครงการประกวดแผนธุรกิจ “นวัตกรรมวาณิชย์” ครั้งที่ 1 จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขาใช้เวลาร่วมกันกว่า 3 เดือนเพื่อปรึกษา เรียนรู้ และปรับปรุง จนกระทั่งแผนธุรกิจเป็นรูปเป็นร่าง และสามารถคว้าแชมป์มาครองได้เป็นผลสำเร็จ

ด้วยแบ็กกราวน์ของสมาชิกในทีมที่เป็นวิศวกรถึง 3 คน และบางคนมีดีกรีเป็นถึงแชมป์หุ่นยนต์เวิลโรโบคัพเรสคิวถึงสองสมัย จึงไม่น่าแปลกใจหากสิ่งประดิษฐ์ในแผนธุรกิจของพวกเขาจะเกี่ยวข้องกับ Commercial Robot ตั้งแต่แผนเริ่มตั้งไข่

“กระแส Out of Home Media กำลังมาแรง” นันทวิทย์ เล่าที่มาของแนวคิดในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้กลายเป็น New Media ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อโชว์ภาพลักษณ์ของผู้นำเทรนด์

หุ่นยนต์โฆษณา iMov ของพวกเขาสูงประมาณ 120 ซม. มีหน้าจอติดอยู่บริเวณใบหน้าของตัวหุ่น สามารถยิงสปอตโฆษณาได้นับสิบชิ้นต่อหุ่นยนต์หนึ่งตัว และสามารถสร้างลูกเล่นทางการตลาดต่างๆ เช่น เดินเข้าไปหาคนเพื่อพรีเซนต์สปอตโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เต้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์คนดูสปอตได้แบบ Real Time ฯลฯ

กลุ่มเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้ในระยะแรก คือ เจ้าของสินค้าและเอเยนซี่โฆษณาที่ต้องการ New Media ที่ดึงดูดและสามารถวัดผล Media Effectiveness ได้ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีภาพลักษณ์เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมต่างๆ

ระยะที่สอง ขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการอื่นๆ เช่น บริการหุ่นยนต์ทางไกลในงานอีเวนต์ งานประชุม หรืองานสัมมนาขนาดใหญ่ ที่สามารถออนไลน์เข้า Video Conference เพื่อรับชมงานในกรณีไม่สามารถมาร่วมงานได้ด้วยตัวเอง และยังสามารถบังคับหุ่นให้เดินสำรวจงานได้แบบข้ามทวีป

บริการหุ่นยนต์สำหรับงานแต่งงานที่ต้องการสีสัน เพื่อให้หุ่นเดินเก็บภาพบรรยากาศงาน ฉายวิดีโอพรีเซนเตชั่นของคู่บ่าวสาว หรือเป็นจอถ่ายทอดสดในช่วงพิธีการ

บริการหุ่นยนต์พรีเซ็นเตอร์ในงานมอเตอร์โชว์เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลร่วมกับพริตตี้ เต้นเรียกแขกในช่วงที่ลูกค้าบางตา หรือเดินไปมารอบรถพร้อมยิงสปอตโฆษณา เป็นต้น

ส่วนระยะที่สาม ขยายไปสู่การขายขาดแบบ Made to Order ที่ออกแบบโปรแกรมให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจห้องเสื้ออาจซื้อหุ่นยนต์ไปถ่ายรูปลูกค้าเพื่อแสดงภาพลูกค้าที่สวมใส่ชุดต่างๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือสนามบินอาจใช้หุ่นยนต์เพื่อแนะนำสถานที่ภายในแอร์พอร์ต ตลอดจนเดินนำผู้โดยสารที่หลงทางไปยังจุดหมายที่ต้องการ

สำหรับแผนการประชาสัมพันธ์ที่พวกเขาวางไว้ มีเพียงงาน Grand Opening เปิดตัว iMov ที่ลานทางเชื่อมระหว่างสยามดิสคัพเวอรี่และสยามพารากอน โดยเชิญชื่อมวลชนและกลุ่มเป้าหมายมาร่วมงานเท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อ Launch Product ไปแล้ว สินค้าจะสามารถขายได้ด้วยตัวเอง

แม้ว่าขณะนี้ทุกอย่างยังเป็นแค่ “แผนธุรกิจ” แต่นันทวิทย์ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า “ทุกคนตั้งใจให้เกิดเป็นธุรกิจจริงๆ” รอเพียงเวลาและโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้น

ซึ่งในอีก 2-3 ปี ข้างหน้านี้เราอาจได้เห็น iMov เดินว่อนอยู่เต็มห้างสรรพสินค้าทั่วกรุง ด้วยฝีมือของแชมป์หุ่นและแชมป์แผนแล้วก็เป็นได้

Positioning Map ภาพตำแหน่งของบริการในระยะแรก

Positioning Map

สมาชิกทีม Evolution_X
นายวินิจฉัย ศรียะราช Industrial Engineering บริษัท NXP Semiconductors จำกัด
นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว นักศึกษาปริญญาโท (Mechanical Engineering) ม.พระนครเหนือฯ
นายเนติ นามวงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรม (Software Engineering) ม.พระนครเหนือฯ
นายนันทวิทย์ จันทร์วาววาม Sale and Marketing บริษัท ช.เอราวัณ ออโตเซลล์ จำกัด