แบรนด์พี่หมื่น “โป๊ป” พลิกจากวิกฤติข่าวฉาวสู่ “สตรองแบรนด์” ด้วยความ Real 

เรตติ้งออเจ้าคืนนี้ แบรนด์พี่หมื่นมีผลต่อใจของพวกออเจ้าเยี่ยงไร

บังเอิญเหลือเกินที่พี่หมื่นโป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ ต้องตกเป็นข่าวลือใหญ่โตเรื่องสาว ๆ จนกลายเป็นประเด็นร้อนก่อนละครตอนใหม่จะฉาย ซึ่งก็บังเอิญอีกว่าเป็นตอนเรื่องการเมืองพลิกอารมณ์ไปคนละเรื่องกับสัปดาห์ก่อนโดยสิ้นเชิง

โดยโป๊ปสามารถเคลียร์ทุกประเด็นได้อย่างราบรื่นตัดจบข่าวไปได้อย่างรวดเร็วซึ่งถ้าลองเปรียบพี่หมื่นเป็นแบรนด์สินค้าแบรนด์ ๆ นี้สะท้อนการจัดการแบรนด์ในช่วงวิกฤติได้ถูกต้องตามตำรา เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคดิจิทัลได้ดีเสียอีกด้วย

มาว่ากันทีละข้อเลยว่า การตอบปัญหาของพี่หมื่นเรื่องภาพและแชตไลน์หลุด ตรงกับการบริหารแบรนด์ช่วงวิกฤติเช่นไรบ้าง

มนุษย์ไม่ใช่เอไอ ไม่มีใครเพอร์เฟกต์ ดังนั้นทุกคนมีสิทธิ์ทำผิดพลาดได้ แต่ต้องพร้อมยอมรับและขอโทษอย่างจริงจัง

ซึ่งพี่หมื่นก็แมนที่จะตอบรับตรง ๆ ว่าภาพเหตุการณ์เป็นไปตามที่ทุกคนคิด พร้อมขอโทษอย่างไปตรงมา ยิ้มสุภาพ ไม่ดราม่าทำสลด หรือพูดแบบหยิ่งยโส

ในทางตรงกันข้ามก็ไม่มาอ้ำอึ้งทำเป็นตอบอะไรไม่รู้ความหรือไม่เข้าประเด็นเฉไฉไปมาแบบเทคนิคเก่า ๆ ของดาราให้เป็นที่น่าสงสัยเพิ่มขึ้น

ยุคนี้เรามีสมองกลที่มีความสมบูรณ์แบบ แต่ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่มีความรู้สึก เป็นฮิวแมนทัชที่เข้าถึงได้ ผิดพลาดได้ หรือมีความ real” ดั่งใจถวิล อนันตชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไว้ในงานมาร์เก็ตติ้งเดย์ของสมาคมการตลาด เมื่อปลายปีที่แล้ว เกี่ยวกับแบรนด์ที่ผู้บริโภคชื่นชอบในยุคนี้

โดยครั้งนั้นได้ยกปรากฏการณ์ของตูน บอดี้สแลมที่วิ่งจากเบตงถึงแม่สายเพื่อหาเงินบริจาคให้โรงพยาบาลที่เกิดเป็นกระแส ซึ่งนอกจากตูนจะพูดจริงทำจริง สร้างแรงบันดาลใจสร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนทุกกลุ่มทั่วประเทศ อีกด้านหนึ่งก็ยังเหนื่อยจริงเจ็บจริงระหว่างวิ่ง และเจออุปสรรคบางอย่างที่ชีวิตคนทั่วไปต้องเจอ

สิ่งที่เห็นทั้งหมดนั้นทำให้เกิดภาพของแบรนด์ที่เป็นเหมือนคนจริง ๆ และทำให้คนเข้าใจเสียใหม่ว่าการเป็นฮีโร่ไม่ใช่ซูเปอร์แมน แต่หมายถึงการเป็นคนดี

ส่วนกรณีของโป๊ป เป็นความเรียลในมุมที่ว่า พระเอกในละครก็คนคนหนึ่งในโลกของความจริง ที่มีเรื่องราวในชีวิตหลาย ๆ ด้านเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่มีแต่ภาพฝันที่สมบูรณ์เหมือนที่ละครแสดงให้เห็น และทำให้คนตระหนักถึงความเป็นจริง

ดังนั้นแม้จะพูดว่าการสร้างแบรนด์คือการสร้างภาพแต่ตัวตนของแบรนด์ต้องไม่หลงไปกับภาพที่สร้าง และต้องมีสติแยกให้ออกระหว่างชีวิตจริงกับภาพมายาถ้าเป็นกระแสข่าวจิ้นสร้างกระแสละครก็เรื่องหนึ่ง แต่ข่าวจากเรื่องจริงต้องชี้แจ้งให้ชัดเจนดีที่สุด แล้วมิเช่นนั้นก็จะต้องเจอนักสืบคีย์บอร์ดขุดค้นไม่จบ

กรณีนี้โป๊ปไม่พยายามตอบแบบสร้างภาพเพื่อให้เป็นพระเอกในละคร เพราะถ้าไม่พูดความจริง ก็จะเป็นเหมือนแบรนด์ที่เอาแต่สร้างภาพเพื่อหลอกลูกค้า

แล้วการหลอกลูกค้านั้นจะยิ่งเกิดผลเสียต่อแบรนด์ ที่ร้ายที่สุดคือการสร้างภาพจำในระยะยาวในด้านลบ

สำหรับกรณีของโป๊ป ไม่เพียงแก้ข่าวแบบตัดจบได้รวดเร็ว แต่ยังเพิ่มความสตรองให้กับแบรนด์และลบข้อกังขาที่เคยมีกระแสสงสัยว่าเป็นแมน 100% หรือไม่ ให้หายสงสัยไปพร้อมกัน ซึ่งโป๊ปก็ฉลาดพูด ที่ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้ในการตอบคำถาม แต่เป็นวิเคราะห์เพิ่มเติมจากผู้บริโภคที่ติดตามมาเป็นคนช่วยวิเคราะห์วิจารณ์กันเอง

เสียงของผู้บริโภคต่อแบรนด์มีอิทธิพลและดังแค่ไหน ผู้บริโภคด้วยกันรู้ดีอยู่แล้ว งานนี้เลยถือเป็นผลบวกต่อแบรนด์โป๊ป เพราะเหมือนอยู่ดี ๆ ก็มีคนโยนโจทย์มาท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการแบรนด์ ที่กลับกลายเป็นเวทีโชว์ศักยภาพให้กับแบรนด์ในอีกมุมที่ทำให้แบรนด์เพิ่มความสตรอง และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น.