การกลับมาของ Nokia แบรนด์เก่าแก่แต่หวังเจาะมิลเลนเนียล

อีกบทพิสูจน์ว่าแบรนด์เก่าไม่จำเป็นต้องวางกลุ่มเป้าหมายเฉพาะคนมีอายุมาก เพราะวันนี้สมาร์ทโฟนแบรนด์ Nokia วางกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นมิลเลนเนียลคนรุ่นใหม่ที่ชอบการสื่อสารและสร้างคอนเทนต์บนโซเชียล มั่นใจแบรนด์ Nokia ยังโดดเด่นในสายตาวัยรุ่น เพราะสถิติล่าสุดชี้ว่า 76% ที่ซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นหลักที่จำหน่ายปีที่แล้วอย่าง Nokia 6 เป็นกลุ่มมิลเลนเนียลทั้งสิ้น

แบรนด์ Nokia บนสมาร์ทโฟนวันนี้ดูแลโดยบริษัท HMD โดย มร.ซานดีฟ กุพทา ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล เปิดเผยสถิติล่าสุดของแบรนด์ Nokia ระหว่างการเปิดตัวสมาร์ทโฟน Nokia จำนวน 3 รุ่นใหม่ที่จะเริ่มทำตลาดในเมษายนนี้ ว่าในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา Nokia สามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตลาดฟีเจอร์โฟนโลกในเชิงมูลค่า และเป็นแบรนด์ท็อป 5 ใน 15 ตลาดสมาร์ทโฟนได้สำเร็จ

ตัวเลขนี้เกิดขึ้นได้บนตัวเลขสำนักงาน 80 แห่งของ HMD หน้าร้านวางจำหน่าย 250,000 ร้านทั่วโลก ท่ามกลางพันธมิตรโอเปอเรเตอร์ 600 ราย ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่าการกลับมาของ Nokia ในวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบนจุดยืนแบรนด์เก่าแก่ที่เด็กยุคใหม่เคยเห็นแต่พ่อแม่ใช้งานเท่านั้น

ตรงกันข้าม ลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลให้ความสนใจ Nokia มากเพราะแบรนด์ทำให้คนตื่นเต้นได้ผู้บริหาร HMD ระบุที่เราวางเป้าหมายที่มิลเลนเนียล เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มใช้สินค้าใหม่ได้ง่ายก่อนใคร แบรนด์ Nokia ยังโดดเด่น ผมคิดว่าลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลจะสนใจเพราะยังทำให้คนตื่นเต้นได้ เห็นได้ชัดจาก 76% ที่ซื้อ Nokia 6 เป็นกลุ่มวัยรุ่น

ก่อนหน้านี้ HMD เคยให้สัมภาษณ์ว่า มิลเลนเนียลทั่วโลกให้ความสำคัญกับการอัปโหลดรูปภาพและวิดีโอขึ้นไปบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยมีสถิติว่า ปัจจุบันในทุก ๆ วินาที จะมีการอัปโหลดรูปเข้าไปบน Snapchat 9,000 รูป ขณะที่บน Instagram มีการอัปโหลดรูปและวิดีโอ กว่า 95 ล้านชิ้นในแต่ละวัน ไม่นับรวมกับอีกกว่า 300 ล้านชิ้นบน Facebook โดยในจำนวนนี้กว่า 75% เป็นคอนเทนต์วิดีโอที่ถูกอัปโหลดขึ้นสู่โซเชียลเน็ตเวิร์ก

ข้อมูลนี้ทำให้ Nokia จัดเต็มคุณสมบัติเรื่องกล้องลงในสมาร์ทโฟนของตัวเอง โดยเฉพาะในสินค้าใหม่ที่เตรียมเปิดจำหน่ายในไทยเมษายนนี้ บนจุดขายเรื่องโหมดโบธี (Bothie Mode) ให้ผู้ใช้ถ่ายภาพหน้าหลังไปพร้อมกัน และเลนส์ ZIESS ถ่ายภาพชัด

จุดขายของ Nokia ยังอยู่ที่ราคาดีกว่าคู่แข่งเมื่อเทียบคุณภาพ ทั้งซีพียูเลขมากกว่า เลนส์ที่มีชื่อเสียงกว่า การอัปเดตที่เร็วกว่า เนื่องจากสมาร์ทโฟนแบรนด์ระดับกลางปกติต้องใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะได้อัปเดตเฟิร์มแวร์ แต่ Nokia เปิดให้อัปเดตตรงเดือน และมือถือแอนดรอยด์รุ่นราคาต่ำสุดไม่ถึง 3,000 บาท ก็สามารถอัปเดตเวอร์ชั่นได้

3 สินค้า Nokia ที่ถูกเปิดตัวในครั้งนี้ได้แก่ Nokia 7 รุ่นท็อปสำหรับตลาดระดับกลางราคา 13,900 บาท, Nokia 6 ซึ่งเด่นเรื่องความกะทัดรัด ทนทาน แต่คุณสมบัติครบ 9,900 บาท และ Nokia 1 ที่เน้นความคุ้มค่าสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน 4G ครั้งแรก 2,740 บาท ทั้งหมดนี้แบรนด์จะเน้นสื่อสารที่สื่อออนไลน์เป็นหลัก แต่ยังคู่กับการสื่อสารออฟไลน์

ธนเดช ช่วงแก้ววิเศษ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล ระบุว่า ทิศทางทำตลาดแบรนด์ Nokia ในประเทศไทย จะเน้นขยายช่องทางจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์

เราจะเน้น 4 ประเด็นคือ 1.จะเข้าถึงมิลเลนเนียลให้ได้ 2.เราจะตอบโจทย์เรื่อง depend on ให้ Nokia เป็นโทรศัพท์ที่วางใจได้ แบตเตอรี่ใช้ได้ยาวนาน 3.เราจะมอบประสบการณ์การใช้ Android ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า และ 4.เราจะเป็นแบรนด์ที่มั่นคง

Nokia 7, Nokia 6 และ Nokia 1 ถือเป็นสมาร์ทโฟน 3 รุ่นใหม่ที่ HMD เปิดตัวสู่ตลาดไทย หลังจากทำตลาดมาแล้ว 5 รุ่น รวมแล้วปัจจุบัน Nokia กลับมาในประเทศไทยได้ 1 ปี 4 เดือน บน 8 รุ่นสินค้า

อีกจุดที่น่าสนใจจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ Nokia ครั้งนี้ คือ Nokia 1 ที่ทำให้สมาร์ทโฟนราคาต่ำสุดของ Nokia ขยับมาอยู่ที่หลักต่ำกว่า 3,000 บาท จากที่เคยมีราคาเกิน 3,000 ต้น ทั้งหมดนี้ Nokia มองว่าจะไม่มีผลกระทบกับแบรนด์ แต่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้หลายระดับ

“Nokia 1 จะเจาะกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์มือถือปุ่มกด ที่จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้ฟีเจอร์โฟน 4G รุ่นราคา 3 พันบาทเราก็ยังขายอยู่ แต่จะเจาะคนใช้งานแบบพื้นฐาน วันนี้มีผู้ใช้โทรศัพท์ปุ่มกด 1.3 ล้านคนทั่วโลก ในไทยเชื่อว่ายังใช้อยู่ไม่น้อย

สำหรับราคา Nokia 6 รุ่นใหม่ที่แพงขึ้น จากหลัก 7,000 บาทมาเป็น 9,000 บาท เชื่อว่าไม่มีผลกับฐานลูกค้า เนื่องจากจะตอบโจทย์ผู้ใช้ที่อยากอัปเกรดให้สมาร์ทโฟนมีคุณสมบัติดีขึ้น ขณะที่จุดยืนของรุ่น 7 Plus จะมองกลุ่มผู้ใช้ระดับกลางถึงบน ซึ่งเน้นเซลฟี่และเลนส์ SIESS รวมถึงระบบ AI ในซอฟต์แวร์กล้องถ่ายภาพ

สำหรับสถิติที่น่าสนใจในงานเปิดตัวนี้ คือสถิติล่าสุดที่ชี้ว่าไทยเป็นตลาดที่มีการซื้อขายโทรศัพท์เคลื่อนที่มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถือเป็นตลาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกไม่รวมจีน.