ใครจะเป็นคนต่อไป ! เมื่อค่ายมือถือต้องแห่ใช้พรีเซ็นเตอร์ สูตรการตลาดดั้งเดิม แต่ต้องเร็วและแรง

ต้องสวยหล่อแบบไหน ถึงจะขึ้นกล้องเป็นพรีเซ็นเตอร์มือถือ แต่เท่าที่ส่องดูพรีเซ็นเตอร์มือถือแต่ละรายที่มีในตลาดตอนนี้ เห็นทีต้องบอกว่า แค่สวยอย่างเดียวไม่พอ แต่พรีเซ็นเตอร์นั้นต้องมีตัวตนเฉพาะ มีบุคลิกภาพที่แตกต่าง และผสมบุคลิกภาพอันโดดเด่นและความสวยที่มีให้กลมกลืนกับแบรนด์อย่างลงตัวที่สุด ฉะนั้น ถ้าได้ระดับตัวแม่จะยิ่งดี เพราะจัดเป็นระดับที่มีแฟนคลับมหาศาล และได้รับการยอมรับว่าดังจริง เด่นจริง มีคาแรกเตอร์และพฤติกรรมที่สังคมตอนคอยเฝ้าติดตามดูความเคลื่อนไหวอยู่ไม่ให้คลาดสายตา

อย่างล่าสุด ที่สร้างกระแสฮือฮาไป ก็ต้องยกให้ค่ายโอปะเรเตอร์มือถือ เอไอเอส ที่เป็นเสือปืนไว ปิดดีลกับ บริษัท บรอดคาส ไทยเทเลวิชั่น  และช่อง 3 ดึง “เบลล่า ราณี” แคมเปน ออเจ้าการะเกด แห่งบุพเพสันนิวาส ละครพีเรียด สุดปังของช่อง 3 มาอยู่ในสังกัด

รายงานข่าว ระบุว่า ดีลเอไอเอส บุพเพสันนิวาส นี้ เป็นดีลพิเศษที่เอไอเอสเจรจาโดยตรงกับบรอดคาซท์ ไทยเทเลวิชั่น มีมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี เพื่อจะทำโฆษณาที่ต่อยอดจากละครลงช่องทางออนไลน์  โดยใช้ทีมงานของบอรดคาซท์ทั้งหมด รวมถึงผู้กำกับละคร “ใหม่ ภวัต พนังคศิริ, รอมแพงเจ้าของนิยายคนเขียนบท และทีมนักแสดงที่ประกอบด้วย “เบลล่า ราณี” ในบทการะเกด, หยา จรรยา, นุ่น รมิดา ในบทบ่าว ผิน และแย้ม และ โมสต์ วิศรุต ในบทจ้อย คิวท์บอยแห่งอโยธยา พร้อม “ไก่” ของจ้อย

โดยโฆษณาชุดแรกที่เปิดมาหลังจบตอนที่ 9 คือ ฉากกินหมูกระทะ ที่ทุกคนถามหาจากละคร ในชื่อตอน “ฟินเฟร่อ” และชุดที่ 2 หลังตอนที่ 10 คือ “จ้อยจะมีเมียแล้ว” โดยเรียกนักแสดงที่เกี่ยวข้องเข้ามาถ่ายทำกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ

นอกจากนี้ก็จะมีการซื้อโฆษณาลงในช่องทางออนไลน์ของช่อง 3 ทั้งทางเมลโล และเวปช่อง 3  ด้วย

ว่ากันว่าดีลที่ทำในครั้งนี้ เอไอเอสควักงบไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทให้กับบรอดคาสฯ เป็นทั้งค่าตัวพรีเซ็นเตอร์ ค่าผลิตหนังโฆษณา ที่ออนแอร์บนออนไลน์เท่านั้น รวมถึงโฆษณาที่ลงในเว็บและแอปฯ mello ของช่อง 3

เอไอเอส เองก็ทุ่มคว้าดาราชื่อดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ในสังกัดไว้มากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข, แต้ว-ณัฐพร เตมีรักษ์, มิว –นิษฐา จิรยั่งยืน. เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ, เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร, ทอม room39 , ก้อง ห้วยไร่ ล่าสุด เบลล่า ราณี ออเจ้าการะเกด จากละครบุพเพสันนิวาสมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในสังกัด

ยิ่งเอไอเอสมีฐานลูกค้าถึง 40 ล้านราย ก็ยิ่งต้องใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นตัวแทนในการเข้าถึงลูกค้า ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บอกว่าการใช้ Presenter ในฐานะตัวแทน Brand เป็นกลยุทธ์ที่เอไอเอสใช้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่า การสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและเข้าถึงได้นั้น จำเป็นต้องมีตัวแทนที่สามารถ Connect กับ Emotional ของผู้บริโภคได้อย่างตรงใจ

ข้อดีของการมีพรีเซนเตอร์ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบพรีเซ็นเตอร์ ได้รู้สึกดีกับแบรนด์ และช่วยดึงความสนใจให้มาดูโฆษณาด้วย

ส่วนจะได้ “พี่หมื่นโป๊ป ธนวรรธน์ มาร่วมสังกัดเป็นพรีเซ็นเตอร์คนต่อไปด้วยมั้ย ยังต้องรอลุ้นกันต่อไป

ฟากทรูมูฟเอช ล่าสุดเพิ่งคว้าเอา วง BNK48 เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์  นอกเหนือจากดาราคู่ขวัญ “ณเดชน์-ญาญ่า” , บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์,ติ๊ก เจษฎาพร ผลดี และแพนเค้ก เขมนิจ มาอยู่ในสังกัด รวมถึงดาราวันทีน อย่าง ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง และ เจเจกฤษณภูมิ พิบูลสงคราม

ค่ายดีแทคเอง ที่ครั้งหนึ่งเคยยืนยันไม่ใช้พรีเซ็นเตอร์ แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนนโยบาย หันมาดึงดาราดังตัวแม่ “อั้ม พัชราภา” มาสู้ศึกมือถือในช่วงสงคราม 4 จี เริ่มขึ้นใหม่ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น  จากนั้น ก็ดึง นาย ณภัทร และคนล่าสุด “ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ “มาเข้าสังกัด

ส่วนค่ายผู้ผลิตมือถือเอง เริ่มต้นแนะนำตัวก่อน มือถือแบรนด์และรุ่นไหน ใช้ใครเป็นพรีเซ็นเตอร์กันบ้าง

  • OPPO F5 ญาญ่า ณเดชณ์
  • Vivo อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ
  • Huawei มิว นิษฐา
  • Samsung Galaxy A7 นาย ณภัทร เสียงสมบุญ
  • iMI เชียร์ ทิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์
  • Gionee แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์

เห็นรายชื่อแล้ว แต่ละคนถือเป็นตัวท็อป และมีความโดดเด่นในงานที่ทำทั้งสิ้น

อย่างเคสอั้มนี่ ร่ำลือกันเลยว่า ลีลาเซลฟี่ในการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับดีแทค คือความเป็นตัวอั้มที่ใคร ๆ ก็อยากเห็นจนทำให้ยอดคลิกเข้าชมโฆษณาพุ่งไปสูงกว่า 50 ล้านวิว และดู ๆ แล้ว บุคลิกในโฆษณาก็คือตัวตนของอั้ม มีความสวย ขี้เล่น มีเสน่ห์ เป็นธรรมชาติ ไม่ต่างจากโฆษณเน็ตลื่น ๆ ให้กับดีแทคมาก่อนหน้านั้น

การใช้พรีเซ็นเตอร์ดีอย่างไร

ตามตำราการตลาดทั่วไป การใช้พรีเซ็นเตอร์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ และเซเลบริตี้เอ็นดรอสเมนท์ จะส่งผลต่อแบรนด์ในหลายด้าน ตั้งแต่

  • สร้างความน่าเชื่อถือ
  • ดึงดูดความสนใจ
  • สร้างประโยชน์ร่วม
  • ใช้เป็นจิตวิทยาในการเชื่อมโยงแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย
  • ใช้เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่มีเพศ หรือวัยเดียวกันได้ดี
  • สร้างปรากฏการณ์ในวงกว้าง

ฉะนั้นถ้าแบรนด์ โดยเฉพาะแบรนด์ใหม่ ๆ ไม่อยากเสียงบประมาณทำเรื่องเหล่านี้ทีละเรื่อง การเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ดี ๆ สักคน ก็เหมือนได้ยาพาราเซตตามอลที่แก้ได้ทุกอาการปวดพร้อมกันเลยทีเดียว

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เฉพาะขายสินค้าไทยหรือเปล่า ที่ต้องมีดารา มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

คนไทยก็เหมือนผู้บริโภคทั่วโลก มีพฤติกรรม ความชอบ ความสนใจไม่ต่างกันเท่าไรนักหรอก จะต่างกันก็แค่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย แล้วกลยุทธ์การใช้พรีเซ็นเตอร์ก็ให้ผลเหมือน ๆ กันทั่วโลก เพียงแต่ดีกรีความเข้มข้นของผลลัพธ์อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะใช้พรีเซ็นเตอร์ให้ได้ประสิทธิภาพสูง ต้องมีกลยุทธ์การตลาดที่พร้อมจะเดินไปในทางเดียวกันได้อย่างลงตัวด้วย

พรีเซ็นเตอร์ไม่ใช่องค์ประกอบแรกของการตัดสินใจซื้อ แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้ผู้ซื้อหันมาสนใจ หรือเปลี่ยนใจมาซื้อแบรนด์นั้น ๆ ได้ จากผู้ชื่นชอบพรีเซ็นเตอร์ที่ถูกดึงดูดความสนใจเข้ามาหาแบรนด์

เพราะสิ่งที่พรีเซ็นเตอร์ให้ประโยชน์ต่อแบรนด์เหมือน ๆ กันในเบื้องต้น ก็คือ ดึงดูดผู้บริโภคจากการโฆษณาสินค้าหรือบริการ เพิ่มการรับรู้ สร้างความรู้ด้านบวกให้กับแบรนด์ และเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ามาหาแบรนด์

โดยพรีเซ็นเตอร์หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์ จะมีบทบาทต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในช่วงก่อนการตัดสินใจซื้อ คือ ช่วงที่ผู้บริโภคค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์  และจุดประกายให้แบรนด์เป็นตัวเลือกหนึ่ง จนพัฒนาไปเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ

แต่ทั้งนี้ จะให้ผลแบบนี้ได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความลงตัวระหว่างแบรนด์กับพรีเซ็นเตอร์ที่เลือกใช้ด้วย

โดยพรีเซ็นเตอร์ที่ดี จะไม่ใช่แค่นำเสนอบุคลิกภาพที่เข้ากับแบรนด์เท่านั้น แต่ต้องทำให้ลูกค้าของแบรนด์รู้สึกถึงว่า สินค้านั้นมีโซลูชั่นที่เหมาะกับความต้องการและเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงอย่างมือถือ

พรีเซ็นเตอร์บางคนอาจจะเหมาะแค่กับคนบางวัย ขายได้แค่สินค้าบางอย่าง น้อยรายนักที่จะมีคุณสมบัติครอบจักรวาล เช่น ขายได้ตั้งแต่สินค้าสำหรับเด็กไปจนถึงวัยชรา เป็น

ดังนั้น จุดเด่นที่สุดของการใช้พรีเซ็นเตอร์คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้พรีเซ็นเตอร์เป็นคนนำเสนอและจัดลำดับเบเนฟิตและการใช้สินค้านั้นได้อย่างดีที่สุด ที่จะผู้บริโภคเป้าหมายรู้สึกได้

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของพรีเซ็นเตอร์ คือการสร้างความแตกต่างอย่างยั่งยืน เพราะสินค้าอาจจะก็อปปี้และมีฟังก์ชั่นและให้เบเนฟิตเหมือน ๆ กัน แต่อย่างไรก็จะไม่สามารถก็อปปี้บุคลิกภาพที่ส่งผ่านคาแรคเตอร์ของพรีเซ็นเตอร์หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่เลือกมานั้น

ดังเช่นที่ อั้มก็คืออั้ม ญาญ่าก็คือญาญ่า

ยิ่งในวงการบันเทิง ถ้าดาราคนไหนคิดจะก็อปปี้ดาราดังสักคน รับรองได้ว่า ดับก่อนได้เกิด ใครที่โฆษณาได้ติดตราตรึงใจ สำหรับผู้บริโภคไทยก็จะเปลี่ยนการจดจำแบรนด์และรุ่นของมือถือ มาเป็นเรียกชื่อรุ่นด้วยชื่อพรีเซ็นเตอร์แทน ซึ่งไม่เสียเวลาทั้งคนซื้อคนขาย เพราะดูเหมือนจะสื่อสารเข้าใจกันได้ไวกว่าไล่บอกชื่อแบรนด์กับรุ่น ที่อาจจะต่างกันแค่เล็กน้อยอีกด้วย

แน่นอนว่า ถ้าอยากสร้างยอดขายแบบแมสทั้งประเทศ ก็ต้องเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ระดับตัวแม่เท่านั้น ถึงจะไปได้ไกลกว่า ครอบคลุมตลาดได้มากกว่า

ตัวอย่างเช่น อั้ม-พัชราภา ซึ่งถูกเลือกใช้จากหลายแบรนด์เมื่อต้องการผลลัพธ์ระดับแมสสำหรับตลาดแบบทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลื่นแบบดีแทค สเนลไวท์ ที่ใช้ร่วมกับดาราระดับหน้าเอกอีกหลายคน ซึ่งจากตัวนี้จะเห็นว่าถ้าจะลงเฉพาะระดับบน แบบสเนลไวท์โกลด์ ก็เลี่ยงไปใช้เซเลบริตี้นักธุรกิจไฮไซอย่าง มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ แทน

แล้วที่เห็นผลชัดเจนมากก็คือ มือถือ Vivo V5s ที่เลือกอั้มเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งอีกกลยุทธ์สำคัญต้องยอมรับด้วยว่า ตัวแบรนด์เองก็วางแผนโฆษณาได้ดี เพราะหลังจากโฆษณามีคนเข้าไปดูหลายสิบล้านอย่างรวดเร็วด้วยคาแรคเตอร์แบบอั้ม แบรนด์ก็ทำหน้าที่ปูพรมกระจายสินค้าออกไปทุกร้านค้าทุกช้อปไว้ล่วงหน้าแล้ว พร้อมทั้งเลือกวางสินค้าในตำแหน่งเด่นที่คนให้ได้ชัด เหมือนหน้านางเอกหัวแถวที่เด่นขึ้นมาก่อน เมื่อเดินเข้าร้านขายมือถือ

ด้วยเหตุผลที่เมื่อแบรนด์หนึ่งเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ระดับตัวแม่ แบรนด์อื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งระดับเดียวกันในตลาด ถ้าคิดจะช่วงชิงส่วนแบ่ง ศักดิ์ศรีของพรีเซ็นเตอร์ที่เลือกใช้ จะให้น้อยหน้าหรือเป็นคนละระดับกันมากเกินไป ก็จะทำให้ถูกตัดสินใจตั้งแต่ผู้บริโภคยังไม่มีประสบการณ์ได้สัมผัสสินค้าก็เป็นได้

พรีเซ็นเตอร์มือถือ ไม่ว่าจะในประเทศ หรือที่ไหน ๆ ในโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ทั้งจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่กว่าไทยหลายเท่า ถึงต้องแข่งกันเลือกคัดและดึงดาราแถวหน้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์เหมือน ๆ กันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันหาพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์มือถือ และส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการนำเสนอฟังก์ชั่นกล้องถ่ายรูปสุดละเอียด สุดล้ำ ถ่ายแล้วสวยสุด ๆ ประหนึ่งถ่ายนางก้นครัวออกมาเป็นนางเอกได้หมด แต่มือถือตัวเป้งอย่างไอโฟน กลับเลือกเดินไปคนละทางด้วยการนำเสนอภาพถ่ายที่สมจริง และเน้นถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวิถีชีวิตแบบคนธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปมาเป็นเรื่องเล่าหลักในโฆษณามากกว่า

เอาเป็นว่า ลางเนื้อชอบลางยา เป็นแฟนคลับใคร เชียร์ใคร แบรนด์เขาก็หวังแค่ช่วยปันงบไปใช้สินค้าเขาบางก็เท่านั้นเอง.