“ประวิทย์ มาลีนนท์” ทิ้งหุ้นช่อง 3 ขายหมดเกลี้ยงพอร์ต เหลือ 7 พี่น้อง

ตระกูลมาลีนนท์ ถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ในยุครุ่นที่ 2 รุ่นลูกทั้ง 8 คนของ วิชัย มาลีนนท์ ผู้สร้างบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ต่อมาขยับขยายมาเป็น บริษัท บีอีซี เวิลด์ ที่ดูเหมือนว่าจะแตกหักกันอย่างชัดเจนแล้ว

จากข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่บริษัท บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC ที่แจ้งไว้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23  มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ในบรรดาชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่มีรายชื่อของครอบครัว “ประวิทย์ มาลีนนท์” ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไปแล้ว

ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 กลุ่มครอบครัวประวิทย์ ถือหุ้นรวมทั้งหมด 5.88% ถือโดยลูกสาวและลูกชายทั้งหมด 4 คนได้แก่ อรอุมา , วัลลิภา , วรวรรธน์ และ ชฎิล ถือหุ้นคนละ 1.47% ในขณะนั้นประวิทย์ได้ลาออกจากตำแหน่งบริหารใน BEC และบริษัทในกลุ่มช่อง 3 ทั้งหมดตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2559 โดยส่งไม้ต่อให้น้องชายคนเล็ก “ประชุม มาลีนนท์” เข้ามาบริหารแทนตั้งแต่ 21 มีนาคม 2560

หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มครอบครัวประวิทย์ก็เริ่มขายหุ้นออก เริ่มจากนายวรวรรธน์ มาลีนนท์ ลูกชายประวิทย์ ขายออกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จำนวน 29.393 ล้านหุ้น โดยแจ้งผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ทำให้กลุ่มของประวิทย์ เหลือหุ้นอยู่ใน BEC ทั้งหมดในสัดส่วน 4.41 % เท่านั้น จากเดิมที่มีอยู่ 5.88%

จนข้อมูลล่าสุดที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ไม่ปรากฏชื่อทั้ง อรอุมา , วัลลิภา และ ชฎิล ลูกสาวและลูกชายของประวิทย์ ที่เคยถือหุ้นคนละ 1.47% อีกต่อไป ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ทั้ง 3 คนได้ขายหุ้นทั้งหมดออกไปอย่างเงียบๆ ไปได้พักใหญ่แล้ว โดยไม่มีรายงานว่าขายไปเมื่อไร และราคาเท่าไร แต่คาดว่าเป็นการขายในช่วงหลังจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จนถึง 23 มีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับราคาหุ้นของ BEC ปิดเมื่อปลายปี 2560 ในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ที่ราคา 13.10 บาท เมื่อเปิดตลาดปี 2561 วันที่ 3  มกราคม 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 13 บาท และยังลดลงเรื่อยๆ จากสถานการณ์เรตติ้งตก รายได้ลด จากการแข่งขันสูงในตลาดทีวีดิจิทัล โดยมีราคาต่ำสุดของปีนี้อยู่ที่ 10.10 บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และเริ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาอยู่สูงสุดที่ 13.80 บาท ในวันที่ 14 มีนาคม ในช่วงที่สถานการณ์ของช่อง 3 กำลังฟื้นกลับคืนมาจากกระแสความดังของละคร “บุพเพสันนิวาส” โดยในวันที่ 23 มีนาคม ราคาปิดตลาดหุ้น BEC ยังอยู่ที่ราคา 13.00 บาท

7 พี่น้อง ตระกูลมาลีนนท์ ถือหุ้นรวมเหลือ 40.25%

ข้อมูลที่ได้ตรวจสอบจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ล่าสุดวันที่ 10 เมษายน พบว่า จาก 8 พี่น้องตระกูลมาลีนนท์ เหลือเพียงกลุ่มผู้ถือหุ้นจาก 7 พี่น้องมาลีนนท์ ถือหุ้นรวมกันทั้งหมด 40.25% ลดลงจากเดิม 44.56%

กลุ่มที่ถือหุ้นมากที่สุดคือกลุ่ม 4 พี่น้องฝ่ายหญิงทั้งหมด รัตนา มาลีนนท์ ถือหุ้นทั้งหมด 8.98% รองลงมาคือ อัมพร และนิภา ถือหุ้นคนละ 6.46% และครอบครัวของรัชนี (มาลีนนท์) นิพัทธกุศล ถือหุ้น 5.88% ที่รวมกันแล้ว ถือหุ้นทั้งหมด 27.78%

ในกลุ่มผู้ชาย ครอบครัวของประสาร (เสียชีวิตแล้ว) ถือหุ้นผ่านลูกๆ ทั้ง 5 คน คนละ 1.18% รวมเป็น 5.90%

รองลงมาคือ กลุ่มครอบครัวประชุม ที่ประชุมค่อยๆ ขยับสัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% และลูกอีก 3 คน คนละ 0.85% รวมทั้งหมด 4.05% สุดท้ายคือกลุ่มของครอบครัวประชา ที่ถือผ่านลูกสาว 3 คนรวม 2.52%

สองพี่น้อง ตระกูล “จุฬางกูร” ถือหุ้น 6.67% 

ท่ามกลางรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BEC ที่ถือในนามบุคคลนอกเหนือคนในตระกูลมาลีนนท์แล้ว ข้อมูลล่าสุด 27 มีนาคม 61 ก็ปรากฏชื่อสองพี่น้อง “ทวีฉัตร และ ณัฐพล จุฬางกูร” เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน BEC โดยทวีฉัตร ถือหุ้น 5.02% และณัฐพล 1.65% รวมเป็น 6.67%

ทั้งสองพี่น้องมีชื่อเสียงในกลุ่มนักเล่นหุ้น ที่ชอบเข้ามาลงทุนในบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน นกแอร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหุ้นของทั้งสองคน เป็นหุ้นใหญ่ที่สุดในนกแอร์ สัดส่วน 42.26%

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถือหุ้นใน BEC นี้ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นเพียงการเข้ามาถือหุ้นลงทุนของนักลงทุน ไม่ได้มีเจตนาเข้ามาบริหารงานแต่อย่างใด

ลือประวิทย์ ทิ้ง หลังแตกหักพี่น้อง 

เป็นที่รับรู้กันว่า ในตระกูลมาลีนนท์ ในบรรดาลูกชายลูกสาวทั้งหมด ได้รับการจัดสรรหุ้นจากวิชัย ผู้เป็นพ่อ ในสัดส่วนเท่าๆ กัน และทุกคนจะมีสิทธิมีเสียงโหวตได้เท่าๆ กัน ในช่วงแรกๆ ที่ประวิทย์รับหน้าที่บริหารธุรกิจทั้งหมดมาเป็นเวลายาวนาน ในฐานะคนที่เป็นนักประสานงาน นอบน้อม เพราะในช่วงต้น การบริหารงานช่องจะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐในเรื่องสัญญาสัมปทาน และติดต่อประสานงานหน่วยงานต่างๆ และด้วยเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะอ่อนน้อม ใจดี คนเข้าหาได้ตลอด ทำให้ผูกใจผู้คนได้มาก โดยเฉพาะบรรดาดารา ผู้จัด ให้ความเคารพนับถือมาก ถือเป็น “นาย” ตัวจริงของทุกคน  

ประวิทย์รับหน้าที่บริหาร ในขณะที่ “ประชา” น้องชายไปมุ่งมั่นกับการเล่นการเมือง แต่เมื่อต่อมาประวิทย์มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงส่งต่อการบริหารงานให้กับ “ประสาร” พี่ชายคนโต

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 “ประสาร” มารับตำแหน่งแทนประวิทย์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ แต่ประวิทย์ก็ยังคงมีอำนาจและบารมีอยู่เบื้องหลัง โดยประสารจะให้ประวิทย์ช่วยเหลืองานอยู่เบื้องหลังตลอด และประวิทย์ก็เป็นคนตัดสินใจงานหลักๆ โดยเฉพาะการประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาถึง 3 ช่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่สร้างภาระค่าใช้จ่าย และการลงทุนสูง ทำให้ช่องเริ่มประสบปัญหาการเงิน จากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่รายได้กลับไม่ได้เติบโตตามไปด้วย

ประสาร เป็นพี่ชายคนโต ที่พี่น้องทุกคนรัก และให้ความเกรงใจ แม้ว่าจะเจอสถานการณ์การแข่งขันกันอย่างรุนแรงของวงการทีวีดิจิทัล

แต่เมื่อประสารเสียชีวิตไป เมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 จึงเริ่มมีข่าวลือเรื่องความขัดแย้งภายในครอบครัวเกิดขึ้น

ครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ ”ผลประโยชน์” ภายในเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามที่มีข่าวลือว่า ผู้บริหารบางคนเข้าไปมีส่วนได้เสียในบริษัทที่รับผลิตงานให้กับช่อง โดยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทของผู้ผลิต และผู้จัดละครหลักๆ ของช่อง เหมือนการมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีใครเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด ในขณะที่ประวิทย์โดนพุ่งเป้าถึงปัญหานั้น เคยให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่า ไม่เคยเข้าไปถือหุ้นบริษัทที่มารับงานช่องแต่อย่างใด

แม้แต่บริษัทผู้ผลิตใหญ่ที่รับงานช่อง 3 อย่างบริษัท Search Entertainment ของ วิบูลย์ ลีรัตนขจร บอสบริษัท Search ก็เคยยืนยันว่า ประวิทย์ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัท

ประวิทย์ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 มีการจัดทัพใหม่ของคนในตระกูลใหม่อีกครั้ง คราวนี้ ”ประชุม” น้องเล็กรับคุมบังเหียนธุรกิจแทน โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาพี่น้องผู้หญิงทั้งหมด พร้อมๆ กับการลาออกจากทุกตำแหน่งรวมถึงในบอร์ดของ ”ประวิทย์” โดยมีข่าวลือว่าพี่น้องแตกหักเป็น 2 ฝ่าย

หลังจากนั้น ประวิทย์ ซึ่งไม่ได้มีบทบาทอะไรในฝ่ายบริหาร ก็ยังคงมาร่วมงานกิจกรรมกับช่องตามปกติ ทั้งงานละคร งานพบปะผู้จัดละคร และผู้ผลิต และงานแถลงข่าวต่างๆ ประวิทย์ก็ไปนั่งฟัง “ประชุม”แถลงข่าวบ่อยครั้ง

“ประชุม” กับงานที่ต้องพิสูจน์กับทีมผู้บริหารมืออาชีพ

ประชุม น้องชายคนเล็ก ที่ได้โอกาสเข้ามาบริหารงานช่องโดยมีพี่น้องฝ่ายหญิงให้การสนับสนุน ในช่วงสถานกาณ์แข่งขันรุนแรง ในฐานะที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารมาก่อน จึงเลือกที่จะนำทีมผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาทำงาน นำทีมโดย “สมประสงค์ บุญยะชัย” อดีตผู้บริหารค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ เอไอเอส และสร้างทีมผู้บริหารแผงใหญ่กว่า 10 คนเต็มทีม

หลังปล่อยทีมผู้บริหารมืออาชีพบริหารงานมาได้ 1 ปี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมประสงค์ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดบริหาร คงเหลือตำแหน่งบอร์ด ท่ามกลางปัญหาขาลงของช่อง 3 ที่ผลประกอบการปี 2560 มีกำไรเพียง 61 ล้านบาทเท่านั้น

แต่สถานการณ์กำลังพลิกกลับเมื่อได้ความโด่งดังเป็นกระแสระดับประเทศของละคร “บุพเพสันนิวาส” ทำให้ดูเหมือนว่าช่อง 3 กำลังฟื้นกลับมายืนใหม่ได้อีกครั้ง เมื่อละครดัง เรตติ้งมา รายได้ก็เข้า

อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องรอพิสูจน์จากละครเรื่องอื่นๆ ว่าจะสร้างความนิยม และรายได้ต่อเนื่องได้อย่างไร บรรดาทีมผู้บริหารมืออาชีพ ก็ต้องพยายามพิสูจน์ฝืมืออีกครั้งเช่นกัน

เพราะหากทีมผู้บริหารมืออาชีพรับมือไม่ไหว ครานี้คงถึงทีที่คนในตระกูลฝ่ายหญิงที่คร่ำหวอดประสบการณ์สูงในวงการทีวี ต้องเข้ามาเทกแอคชั่นจริงๆ จังๆ เองเสียแล้ว.