“โอสถสภา” บริษัทร้อยปี เดินหน้าเข้าตลาดหุ้น หาเงินลุยลงทุน! ทั้งโรงงานเครื่องดื่ม-ขวดแก้ว-ซี-วิตเครื่องดื่มวิตามินซี

บทความโดย : สาวิตรี รินวงษ์

ปล่อยให้ลือกันมานานสำหรับ “ตระกูลโอสถานุเคราะห์” กับการตัดสินใจนำธุรกิจครอบครัวที่เป็นองค์กรร้อยปีอย่าง โอสถสภา” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งก่อนเข้าตลาด บริษัทมีการผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ ตั้งแต่ยกทัพทีมผู้บริหารใหม่จากยูนิลีเวอร์ไม่ว่าจะเป็นกรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์มาเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร หรือเป็น “กุนซือ” ให้ “เพชร โอสภานุเคราะห์

และยังมี วรรณิภา ภักดีบุตร มาเป็นแม่ทัพในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และมาพร้อมกับบรรดาลูกทีมจากยูนิลีเวอร์อีกกองทัพทั้งทีมการตลาดและขาย รวมถึงได้มือดีด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มาเป็นกรรมการบริหาร 

เมื่อโครงสร้างองค์กรนิ่ง ผลการดำเนินงานบริษัทมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี ตามเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้เวลายื่นแบบแสดงรายการข้อมูลหรือไฟล์ลิ่ง วันที่ 10 เม..ที่ผ่านมา

โดยการระดมทุนครั้งนี้โอสถสภาจะเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO จำนวนไม่เกิน 603,750,000 หุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 506,750,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Orizon Limited จำนวนไม่เกิน 67,000,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Y Investment Ltd จำนวนไม่เกิน 30,000,000 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.10% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทหลังการออกและเสนอขาย IPO 

ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นก่อนและหลังขายหุ้น IPO ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ยังถือครองหุ้นใหญ่ราว 80% โดยนิติ โอสถานุเคราะห์กรรมการบริหาร และ เซียนหุ้น จะถือหุ้นใหญ่สุด 20.78%

ส่วนเหตุผลของการนำ ระดมทุน เพราะบริษัทต้องการนำเงินที่ได้ไปขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้าในเครือที่มีมากมายหลายแบรนด์ รวมถึงการยกระดับการจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น 

++ 2 ปีลงทุนกว่า 5,200 ล้านบาท

แน่นอนว่าสินค้าคือหัวใจหลักในการทำตลาด หากไม่พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ให้ดี โดดเด่น อาจถูกคู่แข่งเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ แต่การลงทุนครั้งนี้บริษัทให้น้ำหนักปักหมุดในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งหลังได้รับอนุมัติการลงทุนจากคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดในปี 2561-2562 จะใช้เงินประมาณ 5,281 ล้านบาท แบ่งลงทุนในปี 2561 ประมาณ 2,668 ล้านบาท และปี 2562 ใช้งบลงทุนอีกราว 2,613 ล้านบาท ผ่านการลงทุนจะใช้ใน 4 โครงการ ดังนี้

โปรเจกต์แรก ก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในประเทศเมียนมา 2,000 ล้านบาท สะท้อนการโฟกัสธุรกิจหลักอย่างเครื่องดื่มในต่างแดนควบคู่กับทำตลาดในประเทศไทย โดยโรงงานดังกล่าว คาดว่าจะเปิดให้ดำเนินการไตรมาส 4 ปี 2562 หากผลตอบรับจากผู้บริโภคดี ยอดขายโต โอสถสภา จะขยายเฟสพัฒนาโรงงานด้วย 

โปรเจกต์ที่ 2ใช้งบราว 868 ล้านบาท เพื่อลงทุนเปลี่ยนเตาหลอมแก้วใหม่ ที่โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทจากปัจุบันมีโรงงานสยามกลาส ที่อยุธยา และสมุทปราการ

โปรเจกต์ที่ 3 ใช้งบราว 1,800 ล้านบาท เพื่อสร้างเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้วในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ หากโรงงานนี้เดินเครื่องการผลิต ก็จะปิดเตาหลอมที่โรงงานในสมุทรปราการ 2 เตา

ที่น่าสนใจในการยกเครื่องโรงงานผลิตขวดแก้ว โอสสภาต้องการเพิ่มศักยภาพการผลิตขวดแก้วที่เบาสำหรับรรจุเครื่องดื่ม ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าด้วย เพราะสินค้าที่น้ำหนักมาก ย่อมทำให้มีภาระค่าขนส่งที่แพง ที่สำคัญนี่ยังเป็นการตอกย้ำการเป็นบิ๊กผู้ผลิตขวดแก้ว 1 ใน 3 รายใหญ่ของประเทศ รองจากกลุ่มสิงห์ และบีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี 

โปรเจกต์ที่ 4 ใช้งบลงทุน 80 ล้านบาท เพิ่มสายการผลิตเครื่องดื่มแบรนด์ ซีวิต ในสินค้าไฮไลต์ของบริษัท ที่ดูเหมือนยา แต่เป็นสินค้าขายดีไม่น้อย โดยการเพิ่มสายการผลิตจะทำให้ซีวิตมีกำลังการผลิตสินค้าเพิ่ม 44 ล้านขวดต่อปี ส่วนงบที่เหลืออีกร่วมร้อยล้านจะใช้ในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ

++ เครื่องดื่มหัวหอกทำเงิน

หากผ่าพอร์ตสินค้าโอสถสภา หลักๆ จะมี 4 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่มและลูกอม แบรนด์เรือธงที่รู้จักกันดีคือ เครื่องดื่มชูกำลัง เอ็ม-150”  ที่เป็นเบอร์ 1 มานานเกือบ 20 ปีแล้ว มีลูกอมโอเล่ ทำตลาดยาวนานมาก โดยปี 2560 กลุ่มเครื่องดื่มทำเงินในเชิงรายได้ให้โอสภามากถึง 72% เพิ่มจากปี 2558 มีสัดส่วน 58.7% 

กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล ทำรายได้ปี 2560 สัดส่วนกว่า 8.4% มีแบรนด์ดังเบบี้มายด์ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่เป็นผู้นำตลาดสินค้าความงามสำหรับผู้หญิงทเวลฟ์ พลัสซึ่งเป็นเบอร์ 3 ในตลาดโคโลญจน์ และเป็นเบอร์ 4 ในตลาดแป้งเย็น ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเอ็กซิท เป็นต้น 

กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่ดังๆ เช่น แบนเนอร์ ทัมใจ อุทัยทิพย์ และยากฤษณากลั่นตรากิเลน แบรนด์ระดับตำนาน

กลุ่มผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ ทั้งเอ็ม-150 ชาร์ค โสมอินซัม หลายแบรนด์ทำตลาดมานานทั้งในอินโดนีเซีย เมียนมา ลาว แต่ก็มีปังและแป้ก โดยในอินโดนีเซีย บริษัทก็ยกเลิกกิจการหลายตัว

หลายปีที่ผ่านมา แม้โอสถสภาจะไม่เคยออกมาให้ข่าวมากนัก แต่การทำตลาดสินค้าแต่ละรายการยังคงมีให้เห็นโดยเฉพาะเอ็ม-150 ลุยหนักทั้งสปอร์ตและมิวสิกมาร์เก็ตติ้งตลอดเวลา ขณะที่บางแบรนด์ก็แผ่วไปมาก ไม่ว่าจะเป็นทเวลฟ์ พลัสจากที่เคยเป็นแบรนด์ต้นตำรับดึงศิลปินเกาหลีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ก็เงียบหายไป อุทัยทิพย์ ที่เคยทำตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ก็ซาลงไปมาก ทำให้บางแบรนด์ถูกคู่แข่งแซงหน้า โดยเฉพาะทเวลฟ์พลัส” 

มีแบรนด์รุกและแบรนด์แผ่ว แต่ 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของโอสถสภายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยปี 2558 บริษัทมีรายได้ 32,044.2 ล้านบาท ทำกำไร 2,336.0 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้ 33,003.7 ล้านบาท กำไร 2,980.5 ล้านบาท และปี 2560 รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 26,210.7 ล้านบาท และมีกำไร 2,939.2 ล้านบาท   

การเข้าตลาดครั้งนี้ นอกจากจะเห็นการเดินหน้าลงทุนแล้ว เชื่อว่าจะได้เห็นหมัดเด็ดการตลาดของโอสถสภาออกมาอย่างแน่นอน เพราะนอกจากบริษัทจะต้องเคลื่อนทัพธุรกิจให้เติบโต ยังต้องดันยอดขายและกำไรให้โตเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้นด้วย.