บัตรคนจน “โอกาส” ที่หลายองค์กรมองข้าม

บทความโดย : อิษณาติ วุฒิธนากุล

ไม่ทราบว่ามีผู้อ่านท่านไหนได้เห็น “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ของจริงกันบ้างหรือยังครับ? หลายท่านอาจคุ้นหูกับบัตรนี้เพราะเป็นบัตรที่รัฐบาลประมาณการลงทุนไว้ถึง 5.7 หมื่นล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ปัจจุบันโครงการนี้ได้ดำเนินการมาจนถึงเฟสที่สองแล้ว โดยโครงการมีเป้าหมายในการช่วยสนับสนุนเรื่องต่างๆ อาทิ การอบรมวิชาชีพ การส่งเสริมให้มีงานทำ การสนับสนุนให้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้นวงเงิน 200-300 บาทในบัตร ซึ่งเพิ่มเป็น 300-500 บาทในเฟสที่สอง จุดที่หลายท่านตั้งคำถามหรืออาจเกิดความสงสัยคือจำนวนเงินที่ไม่ถือว่ามากนักตรงนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้มากเพียงใด? มันสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่? นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าคิดว่าเมื่อเม็ดเงินตรงนี้เข้าสู่ตลาดแล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือห้างร้านต่างๆ จะเป็นเช่นไร?

ถ้าถามว่าโครงการนี้ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยดีขึ้นหรือไม่? ก่อนอื่นเราคงต้องเข้าใจก่อนว่าคนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิ์ได้รับบัตรนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่เนื่องจากรายได้ที่ค่อนข้างจำกัด ถึงแม้ว่าวงเงินนี้อาจไม่มากพอจนทำให้ชีวิตของผู้ถือบัตรสะดวกสบายขึ้น

แต่จำนวนเงินในบัตรนี้ได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้สมาชิกสามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเราพบว่ากลุ่มคนที่ถือบัตรนี้ในเขตชนบทมีการเลือกซื้อและใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในสินค้าที่อยู่ในหมวดหมู่ของการดำรงชีวิตเป็นหลัก เช่น ของใช้ส่วนตัวอย่างครีมทาหน้า สบู่ แปรงสีฟัน หรือของใช้ในครัวเรือนอย่างผงซักฝอก น้ำยาซักผ้า และน้ำยาล้างจาน

นอกเหนือจากกลุ่มของใช้แล้ว เรายังพบว่าผู้ถือบัตรยังซื้อสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มอย่างปลากระป๋องและซอสปรุงรสเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นโครงการถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง หากเป้าหมายคือการช่วยเหลือกลุ่มรากหญ้าให้สามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะอย่างน้อยๆ ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ก็สามารถอาบน้ำ ซักผ้า มีกินพออิ่มท้องได้ แต่หากเป้าหมายคือการช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เราคงยังต้องรอดูผลไปอีกระยะหนึ่ง

นอกเหนือจากผลที่กล่าวมาข้างต้น ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งของโครงการคือการที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ชุมชนนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น โดยการเกิดขึ้นของเงินหมุนเวียนตรงนี้ก็เนื่องมาจากการที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำเป็นต้องใช้ใน “ร้านธงฟ้าประชารัฐ” หรือร้านค้าที่ร่วมนโยบาย โดยรัฐจะมีเครื่องแสกนไว้ใช้กับบัตรเสมือนเป็นบัตรแทนเงินสด ซึ่งร้านแนวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นร้านโชห่วย ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อตามชุมชน (Local Supermarket/ Convenience store) จึงทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนเริ่มโครงการ และยังช่วยให้ร้านค้าชุมชนแนวนี้ที่สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับร้านค้าโมเดิร์นเทรดเจ้าใหญ่ๆ มาโดยตลอด ได้มีโอกาสอ้าปากหายใจอีกครั้ง จริงๆ แล้วหากมีการบริหารจัดการที่ดีเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ชุมชนจำนวนนี้ ก็ควรที่จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

ผลกระทบอีกอย่างที่เกิดขึ้นจากเม็ดเงินของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือผลกระทบต่อธุรกิจหรือตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค หากสังเกตจากกราฟเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า หากเทียบกับช่วงก่อนเริ่มโครงการ ครัวเรือนที่ถือบัตรนี้ในเขตชนบทมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 บาทต่อครั้ง เงินจำนวนสามบาทอาจฟังดูไม่มากแต่ถ้ารวมเงินสามบาทของ 12.9 ล้านครัวเรือนในเขตชนบทของประเทศไทยเข้าด้วยกันแล้ว สามบาทนี้จะกลายมาเป็นเม็ดเงินหลายร้อยล้านบาทที่ไหลเวียนเข้าสู่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในแต่ละเดือน ซึ่งแปลว่านอกจากเม็ดเงินตรงนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจชุมชมอย่างที่กล่าวมาเมื่อสักครู่แล้ว เม็ดเงินหรือกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังส่งผลต่อธุรกิจ หรือเศรษฐกิจในภาพที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน

โดยหากสังเกตจะเห็นได้ว่า กลุ่มสินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีการเลือกซื้อสูงนั้นมีอัตราการเติบโตที่เยอะกว่า 10% ซึ่งตัวเลขนี้สวนทางกับตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในช่วงขาลงในหลายปีนี้อย่างชัดเจน หลากหลายข้อมูลได้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคงไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้มีความสำคัญอย่างที่เข้าใจกันในเบื้องต้นอีกต่อไป

หากแต่เป็นกลุ่มที่อาจเป็นโอกาสสำหรับหลากหลายธุรกิจเลยทีเดียว ดังนั้นประเด็นที่ผู้ผลิตควรต้องตั้งคำถามคือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้ผู้ถือบัตรเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าของตน

ในขณะเดียวกันในมุมมองของห้างร้านทั่วไปที่เริ่มเสียส่วนแบ่งทางการตลาด และเม็ดเงินหลายร้อยล้านบาทให้กับร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือจะทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้กลับเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในร้านของตนได้ โดยปัจจุบันบางรายมีการถกเถียงว่าจะมีการนำบางร้านค้าของตนเข้าร่วมโครงการเพื่อให้สามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ บางรายเป็นการพูดคุยว่าจะปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับลูกค้ากลุ่มนี้อย่างไร

น่าสนใจนะครับว่ากลุ่มคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะสร้างความแปลกใหม่อะไรอีกกับตลาด ชุมชนและเศรษฐกิจของเรา ไม่น่าเชื่อนะครับว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่เคยถูกหลายๆ บริษัท หรือหลายๆ คนมองข้าม จะสร้างความแปลกใจและสร้างผลกระทบให้กับตลาดได้ถึงขนาดนี้ เรื่องนี้คงสอนให้รู้ว่า ที่เคยพูดๆ กันว่าไม่ควรมองข้ามแต่ควรให้ความสำคัญกับคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วนั่นเองครับ.