“Viu” น้องใหม่วิดีโอออนไลน์ ขอแรงพันธมิตรเจ้าแรก “GMM25” ป้อนละคร-รายการวาไรตี้ไทยๆ เอ็กซ์คลูซีฟ ฉายก่อนใครเจ้าเดียว

เพราะการดูรายการโปรด ไม่จำเป็นต้องอยู่บน “จอแก้ว” เพียงอย่างเดียว แต่แพลตฟอร์ม “วิดีโอออนไลน์” เป็นอีกจอในการเสพหนัง ละคร ฟังเพลง และมาแรงมาก มีผู้เล่นเล็กใหญ่ระดับโลก ระดับภูมิภาค เข้ามาทำตลาด Youtube เป็นเจ้าตลาดและมีจุดแข็งจาก User Generate Content (UGC) ทำให้รายการหลาหลายมาก LINE TV ที่กำลังมาแรง แถมเดินหน้าหา “พันธมิตร” ทั้งช่อง 3 One หาคอนเทนต์มาป้อนคนดู รวมถึง Netflix พอเข้าไทย ก็จับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นหาคอนเทนต์เสริมเพื่อเอาใจ “คนไทย” โดยเฉพาะ

ล่าสุดน้องใหม่วัยกระเตาะ “Viu” (วิว) แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ของกลุ่ม PCCW Media ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อของฮ่องกง ที่ลุกขึ้นมาขยายตลาด Viu ไปทั่วเอเชียแล้ว 15 ประเทศในช่วง 1 ปีกว่า ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ตะวันออกกลาง ชูจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ความบันเทิงจากเกาหลีและอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งาน (User) แพลตฟอร์มดังกล่าวกว่า 16 ล้านคน และมีพฤติกรรมใช้ “เวลา” เสพคอนเทนต์ผ่าน Viu เฉลี่ย 1.2-1.8 ชั่วโมงต่อคนค่อวัน

อย่างไรก็ตาม ไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 15 ท้ายสุดบนแผนธุรกิจของ Viu ซึ่งมาช้าไม่พอ ยังมาทีหลัง “คู่แข่ง” เตาะแตะทำตลาดปีเศษ ทำให้ต้องเร่งฝีเท้าหา “คอนทนต์” ซึ่งเป็น “หัวใจ” สำคัญของแพลตฟอร์มที่ป้อนคนดู จากเดิมมีเพียง ซีรีส์เกาหลี “หมื่นชั่วโมง” เท่านั้น แม้คนไทยจะเห่อกระแส K-Pop แต่ดูทุกวี่ทุกวันอาจเบื่อ

การจับมือกับพันธิมตร Local “รายแรก” ในไทยอย่าง “ช่อง GMM25” เพื่อนำคอนเทนต์ละครน้ำเน่า น้ำดี คอมเมดี้ แอคชั่น จึงเป็นการเพิ่มความหลากหลายของรายการ ปูทางสู่การขยายฐานคนดูแล้ว ยังตอบโจทย์คนไทยที่ส่วนใหญ่ยังอินกับละคร คอนเทนต์ไทยๆ อีกจำนวนมากด้วย    

สำหรับความร่วมมือเบื้องต้น ทาง Viu จะได้คอนเทนต์ละครที่ออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์วันพุธ-พฤหัสบดี เช่น ซีรีส์วัยรุ่น ‘เลิฟ ซองส์ เลิฟ ซีรีส์’ ซีรีส์ ‘The Crime ทีมล่าทรชน’ รายการวาไรตี้ “Club Friday Show” รวม 200 ชั่วโมง ไปออกอากาศแบบ “Exsclusive” 30 วัน เรียกว่าหากพลาดดูรายการบน “จอแก้ว” จบปุ๊บ ผู้บริโภคสามารถไปดูรีรันทาง Viu ได้ทันที

การได้พันธมิตรอย่าง GMM25 ยังเป็น “จิ๊กซอว์” ที่มีส่วนเติมเต็มให้การเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ท่ามกลางวงล้อมยักษ์ใหญ่ให้บริการวิดีโอออนไลน์ด้วย

“เราได้รับความช่วยเหลือเยอะมากจากพันธมิตร ซึ่งถ้าไม่มีพาร์ตเนอร์เราจะประสบความสำเร็จยากมากในเวทีนี้” ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

มีคอนเทนต์แล้ว คนดูที่จะรับชมรายการฮิตผ่าน Viu ได้ มี 2 แบบ คือ ฟรี แต่ต้องเสียเวลารับชมโฆษณา เพราะนั่นคือช่องทางทำเงินของทั้ง Viu และ GMM25 หรืออีกทางคือ “จ่ายเงิน” ค่าบริการ 119 บาทต่อเดือน ซึ่งแพงบ้างถูกบ้างเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดที่ราคาบริการเฉลี่ยตั้งแต่ 100-200 บาท แต่นั่นจะทำให้คนดูไม่เสียอรรถรส เพราะไม่มีโฆษณามากวนใจ นอกจากนี้ ยังสามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์ที่ชอบไว้ดูเวลาเดินทางข้ามประเทศ กรณีมีข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์รับชมด้วย

การเข้ามาของ Viu กว่าปีเศษ แอปพลิเคชั่นมียอดดาวน์โหลดแล้ว 2.3 ล้านราย เพิ่มจากเดือนพฤศจิกายนปีก่อน มี 1.5 ล้านราย ส่วนใหญ่ฐานคนดูยังเป็นผู้หญิง 70% และผู้ชาย 30% เพราะลักษณะคอนเทนต์ซีรีส์เกาหลีสาวๆ ชอบดูมากกว่าผู้ชายนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การนำคอนเทนต์จาก GMM25 ไปรีรันบน Viu เป็นแค่ความร่วมมือเบื้องต้น เพราะสเต็ปต่อไป Viu จะยกระดับความร่วมมือไปผลิตรายการต่างๆ เป็น Viu Original Content ป้อนแพลตฟอร์มโดยเฉพาะ รวมถึงหาพันธมิตรใหม่ๆ เพิ่มเนื้อหารายการ “บันเทิง” เป็นหลักด้วย รับพฤติกรรมคนไทยที่ยังบ้าละคร!

กลยุทธ์การ “เติมคอนเทนต์” ของ Viu  เรียกว่าไม่ต่างจากผู้เล่นอื่นๆ ที่ล้วนสร้าง “จุดแข็ง” ด้านคอนเทนต์ ทั้งผลิต หาเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ที่ “ดูได้ที่นี่ที่เดียว” ดูก่อนใคร มาเป็นแม่เหล็กเรียก Traffic คอชอบละครนั่นเอง

เห็นแผนและกลยุทธ์การบุกตลาดแล้ว เกมนี้หิน! และมีความท้าทายรออยู่ ซึ่ง ธวัตวงศ์” บอกว่า ความท้าทายไม่ใช่เกมการแข่งขันขับเคี่ยวของบิ๊กเพลเยอร์ในตลาด แต่กลับเป็นเรื่องของ “เถื่อน” มากกว่า เพราะเมื่อแย่งฐานคนดูได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการหารายได้ตามมานั่นเอง

ด้าน “บุษบา ดาวเรือง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) การจับมือกับ Viu ถือเป็นการตอกย้ำการเป็นคอนเทนต์โปรวายเดอร์ และขยายฐานคนดูให้กว้างขึ้น

เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา Positioning ของช่อง GMM25 ยังเน้นจับคนดู Niche Market อายุ 18-24 ปี และโฟกัสไปที่วัยรุ่นเป็นหลัก ดังนั้น การนำคอนเทนต์ที่มีป้อนพันธมิตรที่หลากหลาย เช่น คอนเทนต์คลับฟรายเดย์ป้อนไลน์ การจับมือกับ Netflix และการเป็นพันธมิตรกับ Youtube facebook เพื่อสร้างรายได้แล้ว ยังต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง (Mass) มากขึ้น

แบบไหนคือแมส “บุษบา” บอกว่า คอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ออกมาต้องจับคนดูได้ทั้งครอบครัว เรียกว่า ทุกคนในบ้านลูกเล็กเด็กแดง วัยรุ่น ผู้ใหญ่ สามารถนั่งดูทีวี เสพคอนเทนต์ได้ทั้งหมด

“เรากำลัง Researc ว่า การทำธุรกิจทีวี คือต้อง แมส ดังนั้น เราจึงต้องปรับโครงสร้างช่อง GMM25 ใหม่ มุ่งขยายฐานคนดูให้กว้างมากขึ้น จับกลุ่มอายุ 24 ปีขึ้นไป และจะพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ๆ มาออกอากาศ ทั้งออนแอร์ และออนไลน์”

ดังนั้น การร่วมมือครั้งนี้ของหน้าใหม่ และเจ้าตลาดด้านคอนเทนต์ จึงเสริม “จุดแข็ง” ซึ่งกันและกันนั่นเอง.