แบงก์ส่งสัญญาณหลังยุค No Fee ดันลูกค้าไปโลกออนไลน์

ธนาคารแต่ละแห่งก็แข่งขันกันเป็นปกติ ชิงไหวชิงพริบผ่านเกมการตลาดแบบไม่ยอมน้อยหน้า แต่บางขณะเพื่อที่จะผลักดันผู้บริโภคให้ไปตามเทรนด์ที่อุตสาหกรรมวางโรดแมปไว้ ก็ดูเหมือนแต่ละธนาคารจะพร้อมใจกันออกแรงช่วยกันอย่างเต็มที่ เพียงแต่ลูกเล่นและสีสันแตกต่างกันว่าใครจะไฮไลต์อะไร แต่ท้ายที่สุดก็คือการเล่นอยู่ในเกมเดียวกัน

ตอนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) และธนาคารกสิกรไทย (เคแบงก์) ออกมายกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม เติม จ่าย โอน ถอน ผ่านแอปพลิเคชั่นและระบบออนไลน์ ก็ออกมาประกาศในเวลาแทบจะพร้อม ๆ กัน ประหนึ่งนัดหมายกันมา จนแบงก์เล็กแบงก์ใหญ่ต้องตามมาโฆษณาฟรีค่าธรรมเนียม ตาม ๆ กันมา แม้ในรายละเอียดเงื่อนไขจะแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละธนาคาร

มารอบนี้เป็นปรากฏการณ์หลังยุค No Fee หรือไม่มี หรือฟรีค่าธรรมเนียม ที่ทุกแบงก์ต่างได้รับผลตอบรับดี เพราะลูกค้าธนาคารตอบรับทำให้ยอดการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์โตพรวดในเวลาอันรวดเร็ว

ทำให้แบงก์ออกมาเร่งกลยุทธ์ภาคต่อทันที เพื่อให้ผู้ใช้ที่เหลือมูฟไปสู่การทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งผู้บริโภคที่ใช้งานและตัวแบงก์เอง แม้จะต้องตัดใจเรื่องรายได้ที่หายไปบ้าง

SCB เคลียร์เคาน์เตอร์ เตรียมปิดรับชำระบิล 5 บาท 10 บาทครึ่งปีหลัง

แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็สร้างแรงสั่นกระเพื่อมด้านการให้บริการเป็นวงกว้างของธนาคารหลังยุคฟรีค่าธรรมเนียม

เมื่อเอสซีบีออกมาระบุว่า มีแผนจะยกเลิกรับชำระบิลของหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ที่ปัจจุบันคิดค่าธรรมเนียมบริการหน้าเคาน์เตอร์ธนาคารอยู่ที่ 5-10 บาทต่อรายการ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

โดยบอกเป้าหมายชัดเจนว่า เพื่อต้องการให้ลูกค้าหันไปใช้บริการจ่ายผ่านโบมายแบงกิ้งมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่น SCB Easy

ข้อดีต่อลูกค้าก็คือไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ไม่ต้องมาแบงก์ ส่วนแบงก์จะได้ผันพนักงานไปให้บริการลูกค้าที่สินทรัพย์กับธนาคารประเภทลูกค้ากลุ่ม Wealth มากขึ้นแทน รวมถึงการหันไปโฟกัสในการให้คำปรึกษาดูแลลูกค้าเอสเอ็มอีที่แต่ละแบงก์ก็แข่งขันกันหนักมากขึ้นแทน

ที่สำคัญ การได้ค่าบริการแค่ 5-10 บาท แม้จะนับเป็นรายได้ แต่ไม่คุ้มกับต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ ซึ่งการให้บริการรับชำระบิลหนึ่งรายการมีต้นทุนสูงถึง 60 บาทเลยทีเดียว

นอกจากเคลียร์บริการหน้าเคาน์เตอร์แล้ว ยังยกเลิกบริการบางส่วนที่ซ้ำซ้อน เช่น บริการโอนเงินไปยังบัญชีอื่นต่างธนาคารแบบเงินเข้าบัญชี 2 วันทำการถัดไปผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง SCB Easy Net ยกเลิกบริการ SCB เติมเงินทันใจ เพราะผู้บริโภคสามารถเติมเงินมือถือได้ทั้งทางแอปพลิเคชั่น อินเทอร์เน็ต เอทีเอ็ม และเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ (CDM) ได้ถึง 4 ช่องทาง

ตู้เอทีเอ็ม ของเคยฮิตแค่ไหนถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยน

สำหรับธนาคารกสิกรไทย เริ่มส่งสัญญาณผ่านภาพยนตร์โฆษณา จากคนเคยฮอต ที่เล่าเรื่องราวความนิยมของตู้เอทีเอ็ม และซีดีเอ็ม ในอดีต ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนธนาคารนอกสาขาที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

แต่วันนี้เมื่อธนาคารหันมาผลักดันการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่น K Plus ก็แทบจะไม่จำเป็นแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องพึ่งพาตู้เหล่านี้สักเท่าไร จากของที่เคยฮิต ก็เลยต้องการเป็น ของเคยฮิต ที่ถึงเวลาต้องค่อย ๆ ลดบทบาทและจากลาไปเรื่อย ๆ

โฆษณานี้น่าจะสื่อสารถึงผู้บริโภคได้ดีทีเดียว เพราะหลังจากลงในยูทูปได้แค่ 3 วัน (ลงโฆษณาวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา) ปรากฏว่ามีคนคลิกเข้าไปดูเฉลี่ยวันละ 2 ล้านกว่า ๆ ถึงวันนี้ (17 พฤษภาคม) มียอดผู้ชมแล้วเกือบ 7 ล้านครั้ง

หลายเสียงของผู้บริโภคบอกว่า เป็นโฆษณาที่สนใจจนต้องดูจนจบ ไม่ยอมกดข้าม ซึ่งเป็นสัญญาเตือนว่าต่อไปไม่ต้องคิดพึ่งพาตู้เอทีเอ็มแล้วนะ พร้อมกับทำให้ย้อมดูตัวเองด้วยว่า การใช้บริการตู้อัตโนมัติเหล่านี้จำเป็นแค่ไหน แล้วถ้าขาดไปจริง ๆ จะมีผลอย่างไร และควรจะเตรียมปรับตัวเองอย่างไรให้เข้ากับบริการของแบงก์

ในโฆษณาบอกเล่าเรื่องราวของการใช้งานของสังคมไร้เงินสด โดยเดินเรื่องผ่านแอปพลิเคชั่นเคพลัส ตั้งแต่เรื่องราวของพ่อค้าลอตเตอรี่ผู้พิการทางสายตา พ่อค้าแม่ค้าในตลาด และคุณป้านักช้อปตามตลาด ฯลฯ ที่สื่อว่า ไม่ว่าใครจะเคยพึ่งพาตู้อัตโนมัติเหล่านี้อย่างไร ถึงยุคนี้ก็ไม่มีความจำเป็นแล้วจริง ๆ เพราะมีบริการผ่านออนไลน์ในมือที่สะดวกยิ่งกว่า

ส่งท้ายด้วยสถิติการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการโมบายแบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ที่เก็บรวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีหลัง 2560 ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งการขับเคลื่อนของแบงก์และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้บริการของผู้บริโภคล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ตัวเลขการทำธุรกรรมเหล่านี้ผ่านโมบายแบงกิ้ง เติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า

ธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Mobile Banking และ Internet Banking 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ :
1 ครอบคลุมรายการโอนภายในธนาคารเดียวกัน ต่างธนาคาร ชำระค่าสินค้าและบริการ
2 จำนวนบัญชีสะสมทั้งหมดที่ทำสัญญาขอใช้บริการจนถึงงวดปัจจุบัน ภายใต้บริการประเภทต่างๆ ของธนาคาร