ZTE บรรลุข้อตกลง “สหรัฐฯ” ได้แล้ว ยอมจ่ายค่าปรับ 1 พันล้านดอลลาร์ แลกยกเลิกคว่ำบาตร

เอเจนซีส์ – ล่าสุดบริษัทโทรคมนาคมของจีน ZTE สามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้ในวันพฤหัสบดี (7 มิ.ย.) ยอมจ่ายค่าปรับ 1 พันล้านดอลลาร์ พร้อมกับอนุญาตให้ผู้กำกับสหรัฐฯ เข้าจับตาความเคลื่อนไหวการทำธุรกิจของบริษัท แลกเปลี่ยนกับการได้รับอนุญาตยกเลิกการคว่ำบาตรห้ามไม่ให้ทำธุรกิจในอเมริกา พบข้อตกลงเกิดขึ้นหลังทรัมป์ทวีต กำลังทำงานร่วมกับ “ประธานาธิบดีสี” ในการรักษาตำแหน่งงานในจีน ส่วนหนึ่งของการเจรจาข้อตกลงการค้าที่ใหญ่กว่า 

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) ว่า ค่าปรับจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นหลังผู้นำสหรัฐฯ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือบริษัทโทรคมนาคมของจีน ZTE ที่ก่อนหน้าถูกหน่วยงานกำกับของสหรัฐฯ สั่งห้ามเข้ามาทำธุรกิจในอเมริกา การคว่ำบาตรกลายเป็นหายนะต่อธุรกิจของ ZTE

และนอกเหนือจากค่าปรับมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ พบว่าจะมีการจัดตั้งทีมจากสหรัฐฯ เข้ามาฝังตัวภายใน ZTE เพื่อที่จะสามารถเฝ้ามอนิเตอร์การทำธุรกิจ และอีกทั้งบริษัทคมนาคมของจีนต้องเปลี่ยนชุดบอร์ดบริหารและทีมบริหารใหม่ทั้งหมด

ซึ่งพบว่าข้อตกลงระหว่าง ZTE และสหรัฐฯ สามารถบรรลุได้เมื่อวานนี้ (7) แต่ทว่าข่าวการกลับเข้ามาสู่ตลาดในสหรัฐฯ อีกครั้งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายสภาคองเกรส โดย สว.มาร์ค วอร์นเนอร์ (Mark Warner) รองประธานประจำคณะกรรมาธิการไม่ถาวรข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐฯ (The Senate Select Committee on Intelligence) ที่ได้แสดงความเห็นว่า 

“มีการสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์จากชุมชนข่าวกรองของเราว่า ZTE แสดงความเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศของเรา ซึ่งความวิตกเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปี 2012 คณะกรรมาธิการถาวรข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (The House Permanent Select Committee on Intelligence) ได้ออกรายงานด้านงานต่อต้านการจารกรรมข่าวกรองและความลับต่อความกังวลขั้นร้ายแรงเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ของบริษัท ZTE”

ซึ่งพบว่า

“ไม่ใช่แค่การที่ ZTE ถูกกวาดล้างเป็นเพราะสาเหตุแอบหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือ และโกหกหลังจากนั้น แต่เป็นเพราะ ZTE เป็นบริษัทโทรคมนาคมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภัยการสอดแนมเกิดขึ้น ที่ดูเหมือนข้อตกลงนี้จะกล่าวถึงปัญหานี้น้อยมาก” 

ด้าน อแมนดา เดบัสค์ (Amanda DeBusk) ประธานด้านการค้าระหว่างประเทศและการกำกับของรัฐที่ เดเคิร์ต แอลแอลพี (Dechert LL) และอดีตเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯ กล่าวแสดงความเห็นว่า “ถือเป็นสิ่งไม่คาดหมายที่มีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เป็นผู้คอยกำกับ…ถือเป็นความเคลื่อนไหวในแง่บวกภายใต้สถานการณ์นี้ เป็นเพราะ ZTE เป็นผู้ต้องหาที่กระทำความผิดซ้ำซาก” 

และเธอได้กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของข้อตกลงในวันพฤหัสบดี (7) ถือเป็นเสมือนเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นก่อนความสำเร็จครั้งใหญ่จะตามมา ซึ่งในกรณีศึกษาของ ZTE ถือเป็นเสมือนหนามที่คอยทิ่มตำภายในจีน…สำหรับการที่สหรัฐฯ ได้ปิดหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของจีน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และแน่นอนได้เรียกความสนใจจากคนเหล่านั้น

สื่ออังกฤษชี้ว่า การเดินหน้าในข้อตกลงร่วมกับ ZTE อาจเป็นการถางทางสำหรับวอชิงตันในการเดินหน้าเจรจาทางการค้ากับยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจโลกเช่นจีน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศทั้งสองต่างแลกประกาศขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันมูลค่าสูงถึง 200 พันล้านดอลลาร์ ต่อการโต้เถียงในด้านกลยุทธ์ของปักกิ่งที่ต้องการแทนที่ความเป็นเจ้าโลกด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รวมไปถึงการเรียกร้องให้บริษัทสัญชาติอเมริกัน ยอมเปิดเผยความลับทางการค้า เพื่อแลกกับการได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดภายในจีน

Source