โดนัทกับรถแข่ง กลยุทธ์สร้างแบรนด์ 81 ปี Krispy Kreme

Krispy Kreme แบรนด์โดนัทชื่อดังเตรียมฉลองใหญ่แซยิด 81 ขวบด้วยการทำแคมเปญให้ชาวอเมริกันซื้อโดนัท 1 โหลแล้วรับอีกโหลในราคา 1 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 31 บาท ดีเดย์ศุกร์ 27 กรกฎาคมซึ่งจะเป็นวันที่ Krispy Kreme เตรียมออกรสใหม่เอาใจคอโดนัทด้วย 

การฉลองครั้งนี้ทำให้ Krispy Kreme ถูกจับตามองอีกครั้งเรื่องการเป็นแบรนด์อายุเก่าแก่ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1937 ถึงวันนี้ Krispy Kreme ผ่านมา 81 ร้อน 81 หนาวจนสามารถปักหลักในตลาดขนมหวานได้อย่างสง่างาม

ส่วนหนึ่งของเรื่องราวน่าสนใจใน 81 ปี Krispy Kreme คือความพยายามสร้างเรื่องราวให้โลกจดจำ ทั้งการพยายามทำลายสถิติโลกใน Guinness Book of World Records หรือการพยายามสนับสนุนรถแข่ง ซึ่งในอนาคตนับจากนี้ เชื่อว่า Krispy Kreme จะไม่พลาดโอกาสชิงพื้นที่การตลาดเพื่อสร้างยอดขายเพิ่มในตลาดโลก

Krispy Kreme ชอบแจกฟรี?

ในบทความเรื่อง 11 Things You Didn’t Know About Krispy Kreme หรือ 11 สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับ Krispy Kreme ระบุว่าเจ้าพ่อโดนัทนิยมใช้กลยุทธ์สร้างสรรค์รสโดนัทขึ้นใหม่ ขณะเดียวกันก็พยายามทำโปรโมชั่นแจกโดนัทฟรีหลายครั้งในแต่ละปี

จากประวัติของ Krispy Kreme พบว่า Vernon Rudolph ก่อตั้ง Krispy Kreme ขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1937 ที่ Winston-Salem รัฐนอร์ทแคโรไลนา บิดา Krispy Kreme เช่าอาคารใน Old Salem เพื่อทำโดนัทส่งขายให้ร้านขายของชำท้องถิ่น แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องขยับมาขายขนมหวานให้กับลูกค้าโดยตรงผ่านร้านเล็กๆ ข้างทาง

สินค้าที่ขายดีตลอดกาลของ Krispy Kreme ตลอด 81 ปีคือ Original Glazed ต้องยอมรับว่า Krispy Kreme ดึงลูกค้าเข้าร้านได้เพราะกลิ่นหอมหวานของโดนัทออริจินอลที่ไม่มีไส้ที่ว่านี้ จุดนี้รายงานชี้ว่าโดนัทต้นฉบับของ Krispy Kreme ใช้แป้งยีสต์ผ่านเครื่องอัดรีดแบบแรงดันอากาศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท และขึ้นรูปเป็นวงแหวนกลมสมบูรณ์ก่อนจะถูกพักไว้ประมาณ 30 นาที เมื่อทอดในน้ำมันพืชจึงผ่านใต้น้ำตกน้ำเชื่อมอุ่นซึ่งเป็นกระบวนการที่วิศวกรของ Rudolph คิดค้นไว้ในยุค 60 จากเดิมที่โดนัทเหล่านี้ต้องเคลือบด้วยมือในอ่างผสมขนม

หลายคนไม่รู้ว่า Krispy Kreme เป็นสูตรขนมจากทางใต้ของสหรัฐอเมริกา เพราะ Vernon Rudolph ยอมรับว่าได้ซื้อสูตรโดนัทจากพ่อครัวฝรั่งเศสรายหนึ่งใน New Orleans ซึ่งตอนนี้ถูกสงวนไว้ในโรงงานของบริษัท การไม่เปิดเผยสูตรทำให้มีหลายคนพากันวิเคราะห์ถึงส่วนผสม ว่าอาจประกอบด้วยครีมของไข่ขาวตีฟู่ มันฝรั่งบด น้ำตาล ไขมัน หางนม และแป้ง แน่นอนว่าวันนี้ยังมีน้อยคนนักที่รู้ว่ามีอะไรในโดนัทของ Krispy Kreme 

Krispy Kreme ยังได้ชื่อว่าเป็นโดนัทรสดีที่สุดในอุณหภูมิที่เฉพาะเจาะจง เพราะหลังจากทอดแล้ว โดนัท Krispy Kreme จะถูกอาบด้วยน้ำตกน้ำเชื่อมที่มีอุณหภูมิ 120 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่อน้ำเชื่อมเคลือบเย็นลง โดนัทจึงถูกลำเลียงลงกล่องเพื่อให้พนักงานจัดส่งถึงมือลูกค้าต่อไป จุดนี้มีการบันทึกว่า Krispy Kreme เริ่มชูประเด็นอุ่นร้อนในช่วงปี 1992 โดยใช้ไฟนีออนเขียนว่า “Hot Donuts Now” เป็นสัญญาณแจ้งเตือนให้ลูกค้าทราบว่ามีโดนัทสดให้ซื้อแล้ว ซึ่งขณะนี้ไฟนีออนถูกเปลี่ยนเป็นแอปพลิเคชั่น Hot Light App ให้ชาว Krispy Kreme ได้ดาวน์โหลดเพื่อรับการแจ้งเตือนโดนัทสดใหม่จาก Krispy Kreme

และทุกครั้งที่ Krispy Kreme เปิดร้านสาขาใหม่ ผู้คนจะพร้อมใจต่อคิวเพื่อเป็นลูกค้ารายแรกผู้ผ่านประตู โดยผู้เข้าร่วม 100 คนแรกที่สามารถลงทะเบียนมักจะได้รับรางวัลโดนัทฟรีตลอดทั้งปี ขณะเดียวกัน Krispy Kreme ยังเคยจัดการแข่งขัน Krispy Kreme Challenge ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา กลายเป็นการแข่งขันประจำปีที่ผู้แข่งต้องวิ่งระยะทาง 5 ไมล์ ผ่านเมือง Raleigh พร้อมกับต้องรับประทานโดนัท 12 ชิ้น (2,400 แคลอรี) ไปด้วยตลอดเส้นทางภายใน 1 ชั่วโมง การแข่งขันขำๆ นี้จะดำเนินการโดยนักเรียน เพื่อนำเงินไปทำประโยชน์ที่โรงพยาบาลเด็กนอร์ทแคโรไลนา

Krispy Kreme เคยลง Guinness Book of World Records

กล่องโดนัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ถูกบันทึกไว้คือกล่อง Krispy Kreme ขนาด 19 นิ้วคูณ 13 นิ้ว น้ำหนักกล่องโดนัทเบ็ดเสร็จคือ 297 ปอนด์ 10 ออนซ์ เวลานั้นคือปี 2009 บริษัท Kuwait Food Co. สร้างกล่องขนาดมหึมานี้โดยบรรจุโดนัท Krispy Kreme จำนวนกว่า 2,700 ชิ้น

Krispy Kreme ยังพยายามเชื่อมโยงตัวเองกับการขับขี่รถแข่ง ทำให้โลโก้ Krispy Kreme สามารถเห็นได้บนรถของนักแข่งมืออาชีพ โดย Krispy Kreme เป็นแบรนด์ผู้สนับสนุนหลักของ Gray Gaulding 

สำหรับวันเกิดปีนี้ Krispy Kreme มอบส่วนลดพิเศษให้ลูกค้าในสหรัฐฯ และแคนาดาช่วงวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคมนี้ โดยนอกจากจะซื้อโดนัทโหลที่ 2 ได้ด้วยราคา 1 เหรียญแล้ว Krispy Kreme ยังจัดทำรสใหม่ “Glazed Confetti Donut” เพื่อจำหน่ายพิเศษเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันที่ 2 สิงหาคมนี้.

ที่มา